ข่าวประจำวันที่ 21 มิ.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. เผยสินค้าเรือนจำแคน้อย ประเดิมมาตรฐาน 'มผช.' (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงยุติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาสินค้าที่ผลิตโดยฝีมือผู้ต้องขังกลุ่มวิชาชีพในเรือนจำให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคเพิ่มช่องทางและเพิ่มโอกาสจำหน่ายสินค้า รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษแล้ว นำทักษะความรู้ในการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานไปประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ในภาวะที่มีการแข่งขันทางธุรกิจสูง ล่าสุดมีเรือนจำเป็นรายแรกของไทย ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้การรับรองคุณภาพสินค้าที่ผลิตโดยกลุ่มวิชาชีพในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม หรือมาตรฐาน มผช. แล้ว คือ เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 4 รายการ ได้แก่ กระเป๋าผ้า ผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากเศษผ้า ผลิตภัณฑ์ประดิษฐ์จากไม้และผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา คาดว่าจะมีเรือนจำอื่นได้รับการรับรองตามมา

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่าการดำเนินการ ดังกล่าว สมอ. ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยลงพื้นที่ตรวจประเมินสถานที่ผลิตพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำแก่กลุ่มวิชาชีพผลิตภัณฑ์เรือนจำชั่วคราวแคน้อย สังกัดเรือนจำจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มวิชาชีพดังกล่าวได้เริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 ตั้งใจพัฒนาสินค้าในกลุ่มวิชาชีพผลิตภัณฑ์เรือนจำชั่วคราวแคน้อยให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้

 

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

2. ส่งออกมันสำปะหลังทำเงิน5.4หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2565)

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ฤดูกาลผลิต ปี 2564/65 ราคามันสำปะหลังพุ่งสูงต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณความต้องการจากผู้ซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ทั่วโลกเพิ่มปริมาณสำรองธัญพืชเพื่อการบริโภค โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้อุตสาหกรรมอาหารสัตว์และพลังงานมีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังทดแทนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตไม่เพียงพอและราคามันสำปะหลังสูงขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม 2565 หัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ราคาอยู่ที่ 3.03 บาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 20.79%ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งออกมันสำปะหลังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยในปี 2565 (มกราคม - เมษายน) ไทยส่งออกมันสำปะหลังในรูปของมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งดิบ แป้งแปรรูป และอื่นๆ (กากมัน และสาคู) ปริมาณรวม 4,602,475.21 ตัน มูลค่า 54,886.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.23% ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน (69%) ญี่ปุ่น (8%) อินโดนีเซีย (3%) เกาหลีใต้ (2%) และประเทศอื่นๆ (18%)

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มันสำปะหลังฯ ปี พ.ศ. 2564-2567 เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ไทยผงาดครองแชมป์ผู้ส่งออกมันสำปะหลังอันดับ 1 ของโลก โดยทุกภาคส่วนได้เร่งดำเนินงานเพื่อรองรับความต้องการของตลาดส่งออกที่สูงขึ้น อาทิ ด้านการตลาด ต่างประเทศ เร่งขยายตลาดในต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นตลาดใหม่เพื่อลดการพึ่งพาเพียงตลาดเดียว เช่น ตุรกี นิวซีแลนด์ จีนตอนใต้ และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น โดยเฉพาะการส่งออกมันเส้นไปจีนตอนใต้จนถึงปัจจุบัน สร้างมูลค่าส่งออกได้แล้วกว่า 9,900 ล้านบาท

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

3. ดันนิคมฯ อัจฉริยะยั่วต่างชาติ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2565)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าความร่วมมือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการจัดทำสิทธิประโยชน์กระตุ้นการลงทุน ว่า ได้ร่วมกันจัดทำสิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้บริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (สมาร์ท อินดัสเทรียล เอสเตท) และพื้นที่ประกอบการอัจฉริยะในนิคมอุตสาหกรรม (สมาร์ท อินดัสเทรียล โซน) ล่าสุด คณะกรรมการ (บอร์ด) บีโอไอได้ เห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนกิจการนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะ กำหนดจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะ 5 ด้าน ได้แก่ Smart Facilities , Smart IT, Smart Energy, Smart Economy และบริการระบบอัจฉริยะด้านอื่นๆ อย่างน้อยอีก 1 ใน 3 ด้าน คือ Smart Good Corporate Governance, Smart Living และ Smart Workforce พร้อมยกเลิกเงื่อนไข ห้ามตั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและสมุทรปราการ นอกจากนี้ โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม ทั้งที่ยังไม่สิ้นสุด หรือสิ้นสุดแล้ว และโครงการที่ไม่เคยได้รับการส่งเสริม เมื่อขอรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม หรือขอรับการส่งเสริมเพื่อยกระดับเป็นนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมอัจฉริยะจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี หากตั้งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 5 ปีเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านบีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่มีคุณค่า เพิ่มความสามารถการแข่งขัน ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ช่วยยกระดับเศรษฐกิจไทย ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ของประเทศขยายตัว 480,000 ล้านบาทต่อปี ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานจากค่าจ้างที่สูงขึ้น สร้างรายได้ให้กับประเทศจากการส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้วัตถุดิบในประเทศ เกิดการวิจัยและพัฒนา ยกระดับนวัตกรรมของประเทศ ล่าสุดปี 2564 บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุน 1,572 โครงการ มูลค่า 511,900 ล้านบาท ช่วยสร้างงานให้คนไทย 113,562 ตำแหน่ง

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. อินโดฯ คาดส่งออกไก่ไปสิงคโปร์ได้เร็วๆ นี้ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 21 มิถุนายน 2565)

ซี่วิโจโน โมกิอาร์โซ เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงความร่วมมือกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียได้หารือทางเทคนิคกับสิงคโปร์ และหวังว่าจะสามารถเริ่มส่งออกไก่ได้ในเดือนนี้ ในขณะเดียวกัน องค์การอาหารสิงคโปร์ (SFA) แถลงว่า กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่อินโดนีเซียเกี่ยวกับการตั้งให้อินโดนีเซียเป็นแหล่งนำเข้าไก่ โดยการเคลื่อนไหวนี้มีขึ้นหลังจากที่มาเลเซียได้ระงับการส่งออกไก่ในเดือนนี้จนกว่าการผลิตภายในประเทศและต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจะมีเสถียรภาพ ซึ่งการห้ามส่งออกของมาเลเซียมีผลกระทบโดยทันทีต่อสิงคโปร์ โดยภัตตาคารและร้านค้าตามท้องถนนได้ขึ้นราคาข้าวมันไก่ซึ่งเป็นเมนูของชาติ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านอัชมัด ดาวามี  นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงสัตว์ปีกอินโดนีเซีย กล่าวว่า ในขณะนี้อินโดนีเซียผลิตไก่ได้เกินความต้องการในประเทศ โดยสามารถผลิตได้ 55-60 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งมากกว่า การบริโภคภายในประเทศประมาณ 15-20% ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกไก่ของอินโดนีเซียไปยังสิงคโปร์ อาจช่วยลดช่องว่างได้ โดยประเมินว่าสิงคโปร์จะต้องการไก่ 3.6-4 ล้านตัวต่อเดือน โดยสิงคโปร์ต้องการนำเข้าไก่เป็นเพื่อให้โรงฆ่าสัตว์ภายในประเทศดำเนินงานต่อไปได้  ซึ่งผู้ผลิตในอินโดนีเซียอยากจะส่งออกเนื้อไก่ชำแหละแล้วมากกว่า เพราะไม่มีประสบการณ์ในการส่งออกสัตว์ปีกที่ยังมีชีวิต

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)