ข่าวประจำวันที่ 22 มิ.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

1. "จุรินทร์" จับมือ 4 รัฐมนตรี ประกาศเริ่มเจรจา FTA ไทย - EFTA (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2565)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังร่วมพิธีประกาศเริ่มการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) ร่วมกับผู้แทนของ 4 ประเทศสมาชิก EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์) ที่ร้านอาหาร "เอ็งแลนดิงกาวิก" (Englendingavk) เมืองบอร์การ์เนส สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ ว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ทางการค้าของประเทศไทย และเชื่อว่าของกลุ่มประเทศสมาชิก EFTA 4 ประเทศด้วย หลังจากใช้ความพยายามในการเจรจา FTA ระหว่างกันมาเกือบ 20 ปี เพิ่งมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ จึงถือเป็นการประกาศนับหนึ่งในการเริ่มการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับ EFTA  ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเจรจาให้จบภายใน 2 ปี หลังจากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการกฎหมายของแต่ละประเทศต่อไป ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับ EFTA ปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคาดว่าภายหลังจากที่ FTA ประสบความสำเร็จเริ่มบังคับใช้ จะทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว เพราะความร่วมมือจะมีทั้งเรื่องความร่วมมือการค้า สินค้า บริการ และการลดภาษีนำเข้า-ส่งออกระหว่างกัน รวมทั้งในเรื่องการลงทุน อีคอมเมิร์ซ และการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน และที่สำคัญจะจับมือกันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ซึ่งจะมี รายละเอียดในเรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ตามมา

อย่างไรก็ตาม สำหรับสิ่งที่เห็นชัดและเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด คือ หลังจากประกาศเริ่มการเจรจา FTA ไทย-EFTA ภายในหนึ่งสัปดาห์ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้บริหารระดับอาวุโสหรือที่เรียกว่า SOM ของ EFTA ทันทีที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 28-30 มิถุนายน 2565 ซึ่งทุกอย่างจะเดินไปเร็ว เพราะมีนโยบายชัดเจนว่าอะไรที่ทำได้เร็วควรเร่งทำ ยิ่ง FTA ไทย-EFTA บรรลุผลเร็วเท่าไร ประโยชน์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกันของไทย กับกลุ่มประเทศ EFTA ยิ่งเพิ่มมูลค่าระหว่างกันไปเร็วมากยิ่งขึ้น ประโยชน์ที่คนในประเทศทั้ง 5 ประเทศจะได้รับจะมีเพิ่มขึ้นในเวลาที่รวดเร็ว และฉบับนี้ยังถือเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศยุโรป

 

น.ส. กษิติธร ภูภราดัย

รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

2. เผยอุตฯ ด้อยใช้เทคโนโลยีชินใช้เครื่องจักรแมนนวล (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2565)

น.ส. กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า ได้ร่วมกับ องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูนิโด้) แถลงผลการศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ภาคอุตสาหกรรม ปี 2564 ใน 9 อุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญของประเทศ ซึ่งพบว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระจุกตัวอยู่ในระดับ 1.0- 2.0 ในทุกภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อซัพพลายเออร์ที่ยังคงสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์ อีเมล หรือตัวบุคคล กระบวนการผลิตที่ยังใช้เครื่องจักรระบบแมนนวล รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ยังคงเป็นการติดต่อผ่านโทรศัพท์ อีเมล หรือตัวบุคคล ทั้งนี้ ในบางขั้นตอนมีแนวโน้มบ่งชี้ถึงการปรับตัวที่ดีขึ้น อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในการออกแบบและผลิต หรือซอฟต์แวร์อื่นที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจด้วยระบบสารสนเทศแบบบูรณาการ หรือการใช้ระบบอีอาร์พี แต่กระบวนการดังกล่าวอาจต้องอาศัยระยะเวลาประมาณ 5-10 ปี ก่อนที่ภาคอุตสาหกรรมจะสามารถพัฒนาตัวสู่ระดับที่สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้การขาดแคลนกำลังคนดิจิทัลซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญในการสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทยก็ยังคงเป็นหนึ่งอุปสรรคในการยกระดับอุตสาหกรรมที่สะท้อนให้เห็นจากผลสำรวจในครั้งนี้ ซึ่งหลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

3. 'บิ๊กตู่' ปลื้มอุตสาหกรรมอาหารทะเลดูแลแรงงานมีมาตรฐาน (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2565)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีและพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการผลักดันส่งเสริมและคุ้มครองแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมง เดินหน้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ถือเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานของประเทศและของโลก โดยนายกฯ ชื่นชม ที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยได้รับเอาแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Seafood Good Labour Practices - GLP) มาใช้ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อพัฒนาแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ รวมถึงแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมประมง ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ และไม่มีการค้ามนุษย์ ซึ่งกระทรวงแรงงานยังได้พัฒนาและส่งเสริม GLP ร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใน 4 กิจการประเภท ได้แก่ กิจการทั่วไป กิจการสัตว์ปีก กิจการฟาร์มเพาะกุ้ง และอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดย GLP สำหรับอุตสาหกรรมในอาหารทะเลได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization: ILO) ซึ่งประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก ประเทศผู้ส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์อาหารทะเล โดยในปี พ.ศ. 2564 ภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปไทยส่งออกผลิตภัณฑ์มากกว่า 1.6 ล้านตัน มูลค่ากว่า 5.7 พันล้านดอลลาร์ และมีการจ้างงานแรงงานประมาณ 600,000 คนในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความคุ้มครองแรงงานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ไทยกำลังเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูภายหลังโควิด – 19 รัฐบาลไทยก็ได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมธุรกิจและคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะการคุ้มครองแรงงานในประเทศไทยทุกคน ทั้งแรงงานไทย และแรงงานต่างชาติ ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการทำงานจากโควิด – 19

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. สวิตเซอร์แลนด์นำเข้าทองคำรัสเซียครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงครามในยูเครน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 มิถุนายน 2565)

สำนักงานศุลกากรสวิตเซอร์แลนด์ เปิดเผยว่า สวิตเซอร์แลนด์นำเข้าทองคำจากรัสเซียในเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งนับเป็นการนำเข้าทองคำครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียส่งทหารเข้ารุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสวิตเซอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางการสกัดและขนส่งทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก และรัสเซียเป็นหนึ่งในผู้ผลิตทองคำแท่งรายใหญ่ที่สุดของโลกเช่นกัน ทั้งนี้ การที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซียนั้น ไม่ได้มีเป้าหมายที่การขนส่งทองคำเชิงพาณิชย์โดยตรงแต่ธนาคาร, ผู้ขนส่ง และผู้สกัดทองคำส่วนใหญ่หยุดดำเนินธุรกิจกับรัสเซียหลังจากรัสเซียส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงานศุลกากรฯ ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์นำเข้าทองคำจากรัสเซียในปริมาณ 3.1 ตันในเดือนพฤษภาคม 2565 มูลค่าประมาณ 200 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วน 2.3% ของการนำเข้าทองคำทั้งหมด ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าค่าเฉลี่ยการนำเข้าทองคำเดือนละ 2 ตันในช่วงเวลา 12 เดือนนับถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ ทางด้านการส่งออก สวิตเซอร์แลนด์ส่งออกทองคำไปยังประเทศจีนลดลงในเดือนพฤษภาคม แต่ส่งออกไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยจีนและอินเดียเป็นตลาดทองคำแท่งที่ใหญ่ที่สุดของโลก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)