ข่าวประจำวันที่ 29 มิ.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. หวังช่วยลดนำเข้าแก้ปุ๋ยแพง อนุมัติเหมืองโพแทช 3.6 หมื่นล้าน (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี โดยขั้นตอนจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จะเร่งออกประทานบัตรเพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป ซึ่งภาคเอกชน ก็อยากทำให้เร็ว คาดว่าอย่างเร็วที่สุดภายใน 6 เดือน หรือ 1 ปี จะเริ่มดำเนินการได้ โดยเหมืองแร่แห่งนี้มีปริมาณการผลิตอยู่ที่ 2 ล้านตันต่อปี คาดว่า จะมีปริมาณการผลิตตลอดอายุโครงการ 25 ปี อยู่ที่ 33.67 ล้านตัน เบื้องต้นมีมูลค่าลงทุนของโครงการ 3.6 หมื่นล้านบาท โดยที่ผ่านมาได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และส่วนราชการตามกฎหมาย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแล้วพบว่าเป็นไปตามข้อกำหนด จึงได้เสนอเข้า ครม.พิจารณา

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านน.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พื้นที่เหมืองแร่โพแทช ของบริษัทเอเชีย แปซิฟิคฯ ได้มีการสำรวจแล้ว 4 แปลง อยู่ในพื้นที่ อำเภอเมือง และ อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี หากเหมืองแร่โพแทชเปิดดำเนินการได้ คาดว่าจะสกัดโพแทชเซียมคลอไรด์ได้ 2 ล้านตันต่อปี จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าแร่โพแทชเพื่อใช้ผลิตปุ๋ยจากต่างประเทศได้ ปัจจุบันไทยนำเข้าแร่โพแทชปีละ 800,000 ตัน มีมูลค่านำเข้าสูงถึง 7,600-10,000 ล้านบาท ทั้งนี้ มีอีก 2 บริษัทที่ได้รับประทานบัตรทำเหมืองแล้ว คือ บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) จังหวัดชัยภูมิ และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จังหวัดนครราชสีมา แต่ยังไม่ได้เปิดการทำเหมือง

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2. 'จุรินทร์' สั่งพาณิชย์ทั่วประเทศ ตรวจสอบราคาสินค้าขายส่ง-ขายปลีก   ชี้ไม่ปฏิบัติตาม ดำเนินคดี (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2565)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ติดตามนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนเกี่ยวกับราคาสินค้าอย่าใกล้ชิด โดยสั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์กำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามราคาสินค้าทั้งราคาหน้าโรงงาน ราคาขายส่ง ขายปลีก และให้พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดติดตามราคาและภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดอย่างใกล้ชิดทุกวัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือให้ร้านค้าปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาเข้าข่ายค้ากำไรเกินควร รวมถึงไม่ให้มีการกักตุนสินค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลราคาสินค้าและบริการระดับจังหวัด กับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และให้รายงานผลการปฏิบัติการให้ทราบทุกวันต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ขอเรียนว่าจากข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น เพื่อให้การดำเนินการในการติดตามราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด การกำกับดูแลการปิดป้ายแสดงสินค้าให้ชัดเจนและห้ามจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินสมควรตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเกิดประสิทธิภาพจึงบันทึกสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1. จัดชุดเจ้าหน้าที่ตรวจติดตามสถานการณ์ราคา ภาวะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิดเป็นประจำทุกวัน 2.รายงานผลการดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ หรือผลการดำเนินคดี (ถ้ามี) และ 3. ขอให้รายงานผลการติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นประจำทุกวัน

 

นายธนกร วังบุญคงชนะ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

3. ผลักดันประเทศไทยฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2565)

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายยัง หลิว ประธานกรรมการ บริษัท ฟอกคอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยบริษัท ฟอกคอนน์ ได้มีข้อตกลงความร่วมมือโครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำไปสู่การจัดตั้งบริษัทร่วมทุน ฮอริซอน พลัส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณที่เลือกไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่จะมีส่วนช่วยนำการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยได้อย่างดี ขณะที่ประธานฟอกคอนน์ระบุว่า มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจร่วมกับ ปตท. มองว่าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่จะเป็นโอกาสสำคัญของไทย ในการสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจประเทศ โดยพร้อมร่วมมือกับไทยอย่างครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิต ทั้งในแง่การผลิตและนวัตกรรมด้านซอฟต์แวร์ สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยียานยนต์ของโลก

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตแพลตฟอร์ม Mobility-In-Harmony ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้เติบโตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากล ช่วยการจ้างงาน และยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประธานฟอกคอนน์ได้ชื่นชมโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อีอีซีเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ 1 ในอุตสาหกรรมกลยุทธ์ จึงเชิญชวนบริษัท ซึ่งเป็นผู้ผลิตและออกแบบชิ้นส่วนอุปกรณ์อัจฉริยะและเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก พิจารณาไทยเป็นฐานการผลิต ซึ่งประธานฟอกคอนน์ยินดีร่วมมือกับไทย เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ในอาเซียน

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. “เยนอ่อน” กดดันธุรกิจญี่ปุ่น เปิดช่องต่างชาติเข้าซื้อกิจการ (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2565)

สำนักข่าวรอยเตอร์ส เปิดเผยรายงานว่า เงินเยน ของญี่ปุ่นยังคงแกว่งค่าอยู่ในระดับต่ำ หลังจากที่ร่วงลงต่ำสุดที่ 136.455 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (ultra-loose monetary policy) ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ยังคงมุ่งมั่นรักษาอัตราดอกเบี้ยใน ระดับต่ำที่ต้องการให้เกิดการขยายตัวของค่าแรงอย่างแข็งแกร่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ซึ่งเป็นแนวทางส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น แม้ว่าการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของเงินเยน อาจส่งผลให้บริษัทต่างๆ ของญี่ปุ่นประสบความยากลำบากในการวางแผนทางธุรกิจ แต่บีโอเจมองว่า นโยบายการเงินในปัจจุบันมีความเหมาะสม ต่อการกระตุ้นการเติบโตของค่าแรง ซึ่งจะช่วยให้การบริโภคภายในประเทศขยายตัว และเป็นปัจจัยที่หนุนการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม การสำรวจของ "โตเกียว โชโกะ รีเสิร์ช" ผู้ให้บริการ ข้อมูลธุรกิจญี่ปุ่น เปิดเผยว่า บริษัท ญี่ปุ่นถึง 46.7% จากบริษัทที่ร่วมให้ข้อมูลทั้งหมด 2,649 บริษัท ระบุว่า ค่าเงินเยนที่หดตัวลงส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท ขณะที่บริษัทราว 21.7% ระบุว่า มีผลกระทบทั้งลบ และบวก ส่วนที่ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ มีอยู่ประมาณ 28.5% และมีบริษัทญี่ปุ่นเพียง 3% เท่านั้นที่ระบุว่า ได้รับผลเชิงบวกจากสถานการณ์เงินเยนอ่อนค่า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เงินเยนอ่อนค่าอย่างมาก นอกจากจะต้องแบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นแล้ว การขึ้นราคาสินค้ายังส่งผลกระทบต่อยอดขายและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)