ข่าวประจำวันที่ 25 ส.ค. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. สมอ.จับมือ 21 เขต ศก. เอเปกชู BCG Model ขับเคลื่อนหลังโควิด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2565)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (APEC) หรือ เอเปก 2022 ใน วันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 พร้อมแสดงจุดยืนและบทบาทของไทยในเวทีการค้าโลก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคตามแนวคิด "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล" หรือ Open. Connect. Balance. ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะผู้แทนไทยในคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานและการรับรองของเอเปก (SCSC) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม SCSC ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 18-20 สิงหาคม 2565 โดย สมอ. ได้ผลักดันภารกิจสำคัญเพื่อให้สอดรับกับนโยบายรัฐบาล 4 ด้าน ได้แก่ 1. การพัฒนาและผลักดันกิจกรรมด้านมาตรฐานและการรับรองเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) 2. สนับสนุนและส่งเสริมแนวทางใหม่ เพื่อให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 และฟื้นฟูการค้าและการลงทุน 3. ส่งเสริมด้านนวัตกรรมและดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนตลาดและเชื่อมโยงสู่สากล และ 4. สนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการค้าให้ผู้ประกอบการ รายย่อย (MSMEs) โดยในการประชุมมีผู้แทนจาก 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปก ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน จีนฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย เวียดนาม เข้าร่วมประชุม

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้จะทำให้เกิดการปรับมาตรฐานให้สอดคล้องกันกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เน้นมาตรฐานเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีการจัดกิจกรรม/การประชุมเชิงปฏิบัติการ/การสัมมนาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และ BCG Model

 

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. นิคมฯ แนวดิ่งถูกใจนักลงทุน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2565)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตรและผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ถึงแนวทางการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต ว่าทั้ง กนอ. และภาคเอกชน เห็นตรงกันว่าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่ง ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในโครงสร้างอาคารหลายชั้นนั้น สามารถตอบโจทย์ปัญหาพื้นที่ในเขตเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัด ตอบสนองความต้องการใช้พื้นที่ของผู้ประกอบการที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ได้เป็นอย่างดี โดยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิต ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของ โลกที่ต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยที่ผ่านมา กนอ. ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนา นิคมอุตสาหกรรมแนวดิ่งต่อคณะกรรมการ กนอ. แล้ว ซึ่งคณะกรรมการฯต้องการให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ร่วมเสนอแนะเพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาด้วย และการรับฟังความคิดเห็นจากผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะปัญหาอุปสรรคที่ทางผู้พัฒนานิคมฯ ต้องการให้ กนอ. ช่วยสนับสนุน หรือประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทาง กนอ. ยินดีรับฟังและพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ เพื่อผลักดันการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลต่อไป"

อย่างไรก็ตาม สำหรับในปีงบประมาณ 2566 กนอ. เตรียมจัดการอบรมหลักสูตรผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมมืออาชีพ ซึ่งเป็นหลักสูตรสร้างความรู้ความเข้าใจการเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ กนอ.

 

นายสนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

3. สภาหอการค้าฯ ยกทัพนักธุรกิจไทย กรุยทางสร้างโอกาสการค้า-ลงทุน กัมพูชา (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2565)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำคณะนักธุรกิจไทยกว่า 60 ราย เยือนราชอาณาจักรกัมพูชา ระหว่างวันที่ 4 -5 สิงหาคม ที่ผ่านมาว่า ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือทางการค้าระหว่างภาคเอกชนไทยกับประเทศในกลุ่ม CLMV ซึ่งกัมพูชาเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง โดยจีดีพีเติบโตเฉลี่ย 7-8% อย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการปฏิรูปนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ให้กัมพูชาเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก นอกจากนี้ กัมพูชายังพยายามพัฒนาภาคการท่องเที่ยว และภาคการเกษตรอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร จึงเป็นโอกาสของภาคธุรกิจไทยในการเข้าไปร่วมลงทุนในกลุ่มธุรกิจอาหารแปรรูป ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เป็นจุดแข็งของผู้ประกอบการไทย โดยในปี 2564 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา มีมูลค่า 7,972.40 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นส่งออก 7,077.24 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้า 895.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งไทยยังเกินดุลอยู่ที่ 6,182.09 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการเยือนครั้งนี้ คณะได้เข้าพบ นายพิชิต บุญสุด อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ เพื่อรับฟังข้อมูล สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ร่วมกับ นายนิรวัชช์ รังสีกาญจน์ อัครราชทูต ที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) และนางจีรนันท์ วงษ์มงคล ประธานสมาคมธุรกิจไทยในกัมพูชา ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงพนมเปญ จากนั้นเข้าเยี่ยมคารวะ นายจอม ประสิทธิ์ (HE Mr. Cham Prasidh) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมกัมพูชา โดยนักธุรกิจไทยนำเสนอถึงความสำเร็จของการลงทุนในกัมพูชาว่า ช่วงที่ผ่านมาการลงทุนของไทยช่วยส่งเสริมการพัฒนาประเทศ สร้างรายได้ และพัฒนาแรงงานในกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทั้งในด้านกฎระเบียบ และความซ้ำซ้อนในการประสานงานระหว่างหน่วยงาน หากสามารถแก้ไขได้ จะอำนวยความสะดวกต่อธุรกิจของไทยทั้งที่ลงทุนอยู่แล้ว และที่กำลังจะเข้ามาลงทุนให้เพิ่มขึ้น ซึ่งฝ่ายกัมพูชายินดีสนับสนุนให้เกิดความสะดวกในการเข้าไปลงทุน ส่วนการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษี ที่กัมพูชามีข้อตกลงต่างๆ ได้ เช่น FTA จีน เกาหลี GSP และกรอบ RCEP โดยการหารือมีทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน เกษตร พลาสติก และอัญมณี รวมถึงข้อเสนอจากผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในกัมพูชา และขอให้รัฐบาลไทยเดินหน้ารื้อฟื้นโครงการเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ช่วงอรัญประเทศ-ปอยเปต ที่เชื่อมต่อจากสถานีอรัญประเทศ ถึงสถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก เนื่องจากได้มีการระงับการเดินรถไปจากสถานการณ์โควิด-19 และภายหลังการขนส่งจะต้องขออนุมัติเป็นครั้งๆ ไป เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. เฟดเผยแบบจำลอง GDPNow บ่งชี้เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ใน Q3/65 (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 25 สิงหาคม 2565)

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.4% ในไตรมาส 3 สำหรับตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 1.6% ที่มีการระบุก่อนหน้านี้ โดยเฟดสาขาแอตแลนตาจะรายงานตัวเลขคาดการณ์ GDPNow ครั้งใหม่ในวันที่ 26 สิหาคม 2565 ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% ในไตรมาส 2 หลังหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 โดยการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ถือเป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอย่างเป็นทางการ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)