ข่าวประจำวันที่ 16 ก.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. 'สุริยะ' หนุนอุตฯ อ้อยน้ำตาลดึงเทคโนโลยีเพิ่มศักยภาพการผลิต (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้มีความเสถียรภาพ แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศและปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและลดต้นทุนการผลิตในไร่อ้อยของเกษตรกรแล้ว การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ตามนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การขับเคลื่อนระบบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยนำอ้อยไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และสร้างเสถียรภาพของราคาอ้อยให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งปรับโครงสร้างการผลิตโดยการส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างจริงจัง และการส่งเสริมให้นำน้ำตาลไปสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งจะลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำตาลทรายอีกทางหนึ่ง รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมยกระดับเป็นเกษตรปลอดการเผา

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปี 2565 ถือเป็นปีแห่งความท้าทายในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย อุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมไปถึงอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ให้มีเสถียรภาพสร้างความเป็นธรรม รักษาผลประโยชน์ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายมุ่งไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น และยังคงมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในฤดูการผลิตปี 2565/2566 จะหาแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการจูงใจที่คุ้มค่าเพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด โดยการแก้ไขฝุ่นละออง PM2.5 ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวไร่อ้อยถือเป็นกลุ่ม เกษตรกรกลุ่มแรกที่ได้ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหารวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันรณรงค์แก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจังมาโดยตลอด

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2. อุตฯ เครื่องสำอางความงามรุ่ง 7 เดือน ส่งออกทำเงิน 6.48 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2565)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน COSMOPROF CBE ASEAN Bangkok 2022 พร้อมด้วยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ที่ Hall 9-10 ศูนย์และการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 โดยเปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดูแลสุขภาพและความงาม ข้อมูลจาก Euromonitor ระบุว่า อุตสาหกรรมความงามโลกในปีที่แล้ว มีมูลค่าสูงถึง 18.5 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3% โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึง 36% สินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูงของโลกมี 2 ตัวหลัก คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกับเครื่องสำอาง ประเทศไทยเป็นตลาดอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและความงามที่สำคัญ ปีที่แล้วอุตสาหกรรมด้านนี้มีมูลค่าถึง 221,000 ล้านบาท เป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิว 88,766 ล้านบาท ประเทศไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางการอุตสาหกรรมความงามที่สำคัญ ผลิตภัณฑ์ที่ Made in Thailand ถือว่าได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน 7 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมด้านความงามบำรุงผิวแล้วถึง 64,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 22% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับตัวเลขการส่งออกส่วนนี้ ถือเป็นนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งของตน ที่ต้องการให้ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม เป็นตัวทำรายได้สำคัญให้กับประเทศต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องถือว่าผลิตภัณฑ์ด้านความงามเป็นส่วนหนึ่งของ Bio Economy ที่จะเป็นนโยบายสำคัญของประเทศต่อไปและทวีความสำคัญยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารยาและเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ความงาม นับวันจะยิ่งให้ความสำคัญกับ    การใช้สมุนไพร การใช้ Bio เป็นด้านหลักในส่วนผสม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านนี้

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับงาน COSMOPROF CBE ASEAN Bangkok 2022 กระทรวงพาณิชย์นำภาคธุรกิจเข้าร่วมงาน ทุกปีที่ฮ่องกง เริ่มงานมาแล้ว 21 ครั้ง โดยปี 2562 คือครั้งล่าสุดก่อนเกิดโควิด-19 เข้าร่วม 36 บริษัท สามารถทำมูลค่าให้กลับประเทศได้ไม่น้อย สำหรับงาน COSMOPROF CBE ASEAN Bangkok 2022 วันนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย เป็นงานที่มีความสำคัญและเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งให้กับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางความงามของประเทศไทย ถือว่าเป็นการนับหนึ่งให้กับอุตสาหกรรมนี้ของประเทศที่มีศักยภาพต่อไป ซึ่งในงานมีทั้งเป็นผู้ส่งออกผู้นำเข้าและผู้บริโภคจากทุกภูมิภาคเข้าร่วม แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมนี้มีศักยภาพ จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพต่อไป

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธาน

ที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

3. ม.หอการค้าชี้ไทยเสี่ยงสูง เข้าภาวะเศรษฐกิจถดถอย (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2565)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้สำรวจความเห็นจากภาคธุรกิจถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกต่อธุรกิจไทยในปัจจุบัน จำนวน 850 ตัวอย่างทั่วประเทศ สำรวจระหว่างวันที่ 6-12 กันยายน 2565 พบว่า ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับผลกระทบทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและกำไร แต่ในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 ยังมีความเสี่ยงในระดับปานกลางถึงสูงที่ประเทศคู่ค้าหลักของไทย อาทิ จีน และสหรัฐ จะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อมายังเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ คือ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบด้านกำไร ยอดขายและจำนวนลูกค้าที่จับจ่ายน้อยลดลง ส่วนเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย มีนักธุรกิจ 77.1% มองว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุน และส่งผลต่อสภาพคล่อง ในขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่ม 5% ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นไป นักธุรกิจ 61.3% มองว่าส่งผลกระทบต่อต้นทุนของภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ค้าส่ง และ  ภาคการเกษตร แต่ไม่ใช่เป็นเหตุให้ภาคอุตสาหกรรมปรับลดแรงงานให้น้อยลง ในขณะที่นักธุรกิจ 80% เห็นว่าจะไม่มีการปรับลดคนงานออกจากงาน หลังค่าแรงขั้นต่ำขึ้นแต่อย่างใด ส่วนปัญหาน้ำท่วมในประเทศหลายพื้นที่โดยคาดว่ากระทบด้านความเสียหายประมาณ 5,000 ล้านบาท ถือว่ากระทบต่อจีดีพีของประเทศน้อยมาก โดยทางศูนย์ฯ มองว่า ไม่มีผลกับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มากนัก เนื่องจากพื้นที่ทางการเกษตรแม้จะได้รับผลกระทบแต่โดยรวมไม่ได้รับความเสียหายมากจนเกินไป โดยพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะน้ำท่วมและเร่งระบายน้ำออกเป็นส่วนมาก

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ได้ประเมินผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยและปัจจัยเสี่ยงอื่นต่อเศรษฐกิจไทยปี 2565 โดยเริ่มจากนิยามคำว่า “เศรษฐกิจถดถอย” เป็นสถานการณ์ที่เศรษฐกิจติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวเป็นบวกน้อยลง 2 ไตรมาส คือ เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ถ้าเศรษฐกิจขยายตัวติดลบ 3 ปี จะเรียกว่าเศรษฐกิจตกต่ำ สำหรับสาเหตุของเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยในปี 2565 คือ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นเร็ว และธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย   ซึ่งจะผลก็คือจะทำให้จีดีพีประเทศลดลง ต้นทุนสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนลดลง ซึ่งสิ่งที่ทั่วโลกกังวลขณะนี้ คือ เศรษฐกิจสหรัฐติดลบ 2 ไตรมาส เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยคาดว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งหน้า 1 % ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีโอกาสที่จะติดลบต่อเนื่อง

 

ข่าวต่างประเทศ

4. จีนเผยยอดค้าปลีก-การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวดีกว่าคาดในเดือนส.ค. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 16 กันยายน 2565)

สำนักงานสถิถิแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยรายงานว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นมาตรวัดภาวะเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ปรับตัวขึ้น 4.2% ในเดือนสิงหาคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าในเดือนกรกฎาคมที่เพิ่มขึ้น 3.8% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 3.8% ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ปรับตัวขึ้น 3.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้ รายงานของ NBS ยังระบุด้วยว่า ยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมพุ่งขึ้น 5.4% แข็งแกร่งกว่าในเดือนกรกฎาคมที่ปรับตัวขึ้น 2.4% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 5.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.5% และแข็งแกร่งกว่าในช่วง 7 เดือนแรก ที่ปรับตัวขึ้น 5.7%

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดังกล่าวส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์, การใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 รวมทั้งอุปสงค์ ที่อ่อนแอลงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ในภาพรวมนั้น เศรษฐกิจจีนสามารถต้านทานปัจจัยลบต่างๆ ที่เหนือความคาดหมาย และยังคงอยู่ในทิศทางการฟื้นตัวที่ยั่งยืน โดยดัชนีชี้วัดที่สำคัญแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)