ข่าวในประเทศ
นายวันชัย พนมชัย
อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
1. 'กรอ.' ดีเดย์ 1 ม.ค. 67 ยกเลิกใช้สารเป่าโฟมทำลายโอโซน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2565)
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมประกาศห้ามใช้สารไดคลอโรฟลูออโรมีเทน (HCFC-141b) ในภาคอุตสาหกรรมผลิตโฟมแบบฉีดพ่น (Spray Foam) มีผลใช้บังคับวันที่ 1 มกราคม 2567 พร้อมเร่งผลักดัน ทุกภาคส่วนให้ใช้สารที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยร่วมมือกับธนาคารโลก ธนาคารออมสิน และกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยโพลียูรีเทน สภาอุตสาหกรรมแห่ง ประเทศไทย พร้อมให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการที่จะเลิกใช้ Spray Foam ทั้งนี้ กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลัก ภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ได้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนของไทยมาตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน โดยห้ามใช้สาร HCFC-141b ในกระบวนการผลิตโฟมทุกชนิด ตั้งแต่ปี 2560 ยกเว้น Spray Foam ทำให้แม้จะสามารถลดการใช้สาร HCFC-141b จำนวน 132 โอดีพีตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 870,000 ตันก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ยังเดินหน้าเพื่อให้การใช้สาร HCFC-141b ในภาคอุตสาหกรรม Spray Foam เป็นศูนย์ จึงได้เตรียมออกประกาศห้ามใช้สาร HCFC-141b ในภาคอุตสาหกรรม Spray Foam ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2567 และผลักดันให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม Spray Foam เปลี่ยนมาใช้สารไฮโดรฟลูออโรโอเลฟิน หรือสาร HFOs แทน ซึ่งเป็นสารที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ และเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ
ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
2. สศอ.ถก APEC ทำมาตรฐานฉลาก GHS (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2565)
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การประชุม APEC Chemical Dialogue ครั้งที่ 29 ณ จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สศอ.ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมร่วมกับสมาชิกจากเขตเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญในการใช้ระบบการจำแนกความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (GHS) และร่วมกันสร้างมาตรฐานบนฉลากสารเคมีให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อร่วมกันอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้าระหว่างประเทศ โดยมีการเสนอการนำ OECD Mutual Acceptance of Data หรือระบบ MAD ซึ่งเป็นข้อตกลงในระบบการยอมรับข้อมูลร่วมกันมาเป็นเครื่องมือเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการภาครัฐของ OECD โดยเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้นำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมความเปิดกว้างสอดคล้องกับแนวคิด OPEN ในส่วนของการสร้างความเชื่อมโยง ที่ประชุมได้มีการหารือแลกเปลี่ยนนโยบาย ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดี รวมถึงแผนการปรับปรุงฐานข้อมูลกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมี ตลอดจนกิจกรรมความร่วมมือโครงการต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เชื่อมโยงกันอย่างราบรื่น นอกจากนี้ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในสาขาอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อสร้างสมดุลการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก ตามแนวคิด BALANCE โดยไทยนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดีผ่านการ ขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ จากผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ Responsible Care ดูแลด้วยความรับผิดชอบกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี ตามนโยบาย BCG Economy เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการผลักดันการปรับปรุงทั้งกระบวนการผลิตและการจัดการอย่างต่อเนื่อง ในการจัดการเคมีที่ปลอดภัยทั้งกับสิ่งแวดล้อม สุขภาพ การทำงาน การป้องกันมลพิษจากกระบวนการผลิต การฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมเคมี ผ่านกิจกรรมความร่วมมือกับอาเซียน ให้เกิดความพร้อมในการจัดการเคมีที่ถูกต้อง เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือของเอเปก โดย สศอ.และหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องจะร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมความร่วมมือกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายสุชาติ จันทรานาคราช
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
3. ผวาขาดแรงงาน 4.5 แสนคน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2565)
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสายแรงงาน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการบางส่วนยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวโดยรวมอีกประมาณ 4.5 แสนราย เกรงว่าหากปล่อยปัญหานี้ไปนานๆ จะยิ่งฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวมีความสำคัญในการกระบวนการผลิตอย่างมาก หลายอุตสาหกรรมแรงงานคนไทยไม่นิยมทำงาน ทำให้ขาดแคลนแรงงาน และการนำเข้าแรงงานต่างด้าวในปัจจุบัน ยังติดปัญหาจากประเทศต้นทาง ซึ่งจะหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน ช่วยแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ แม้รัฐจะนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าว แต่แรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานที่อยู่ในไทยอยู่ก่อนแล้ว เพียงแต่ผิดกฎหมาย ดังนั้นการทำให้ถูกต้อง ไม่ได้ช่วยความต้องการเพิ่มขึ้น เป็นการแก้ปัญหาเท่านั้น รัฐบาลที่นำเข้าแรงงานภายใต้เอ็มโอยู มีคำขอไปแล้ว 320,000 กว่าราย สอดคล้องกับแรงงานต่างด้าวที่ ส.อ.ท.สำรวจที่ยังขาดแคลน 450,000 ราย แต่ปัญหาการนำเข้าภายใต้เอ็มโอยูติดขัดไม่ราบรื่น เพราะประเทศต้นทางยังไม่มีความพร้อม โดยคำร้องขอนำเข้าไปมีความชัดเจนที่จะมีการนำเข้าได้เพียง 108,000 รายเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่สามารถอำนวยความสะดวกในการกรอกพาสปอร์ตได้ ไม่มีวีซ่าจะอยู่ในไทยแม้จะได้รับการให้อยู่ได้ชั่วคราวถึงปี 2566 ได้ ทำให้นายจ้างไม่สามารถเปิดบัญชีเพื่อจ่ายค่าจ้างได้ ทำให้ต้องจ่ายเป็นเงินสดแทน ถือเป็นความยากลำบาก และยังมีปัญหาอื่นๆ เช่น ความสามารถการรับแรงงานต่างด้าวแต่ละวัน 1,000 ราย ซึ่งจะรอให้ครบ 300,000 ราย ตามที่ยื่นคำร้องน่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือน ส่วนมติ ครม. ที่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย 8-22 บาทต่อวัน มีผลบังคับวันที่ 1 ตุลาคม 2565 นั้น ถือเป็นอัตราที่สะท้อนจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งอัตราค่าแรงดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่แต่มีความเป็นห่วงผู้ประกอบการเอส เอ็มอี ที่อาจไม่สามารถแบกรับภาระดังกล่าวได้มากท่ามกลางต้นทุนต่าง ๆ ได้ปรับสูงขึ้นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนโควิดเรามีแรงงานต่างด้าว 2.9 ล้านคน หลังโควิด-19 เหลือแค่ 2.3 ล้านคน เนื่องจากหลังโควิดแพร่ระบาดใหม่ๆ แรงงานเหล่านี้กลับไปแล้วกลับมาไม่ได้จากมาตรการควบคุมโควิด ประกอบกับสถานประกอบกิจการบางแห่งปิดตัวแรงงานจึงกลับภูมิลำเนาไปแล้วไม่กลับมา ต่อมามีการลักลอบเข้าประเทศเพิ่ม รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานจึงมีการนิรโทษกรรมแรงงานต่างด้าว
ข่าวต่างประเทศ
4. สื่อเผยเกาหลีใต้สั่งแบงก์รายงานสถานะ FX ทุกชั่วโมง หลังวอนร่วงหนัก (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควส์, ประจำวันที่ 19 กันยายน 2565)
หนังสือพิมพ์โคเรีย อิโคโนมิก เปิดเผยรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากแหล่งข่าวในวันนี้ ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้ได้กำชับให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศรายงานสถานะการทำธุรกรรมดอลลาร์สหรัฐและสถานะที่เกี่ยวข้องกับปริวรรตเงินตราทุกชั่วโมง อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการยกระดับการเฝ้าระวังตลาดเงินตรา โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รายงานสถานะเกี่ยวกับปริวรรตเงินตราวันละ 3 ครั้ง ได้แก่ ช่วงเช้า พักกลางวัน และหลังปิดตลาด ก่อนสั่งให้เปลี่ยนมารายงานทุกชั่วโมงในวันศุกร์ที่ 16 กันยายน 2565 ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ยกระดับการกำกับดูแลตลาด หลังจากที่เงินวอนร่วงสู่ระดับ 1,399.95 วอนต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 แม้ทางการได้เข้าแทรกแซงโดยวาจาหลายต่อหลายครั้ง เพื่อสกัดการอ่อนค่าของเงินวอน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สกุลเงินต่างๆ ของตลาดเกิดใหม่เอเชียตกอยู่ภายใต้แรงกดดัน เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เดินหน้าคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงและวิกฤตพลังงานของยุโรปได้กระตุ้นความวิตกกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)