ข่าวประจำวันที่ 20 ก.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

1. หัวเว่ยดันเงินสะพัดพันล. (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 20 กันยายน 2565)

 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยในงานหัวเว่ย คอนเน็ค 2022 : กรุงเทพ ว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 แล้วหลังรัฐบาลมีการพัฒนาด้านดิจิทัลโดยปี 2564 อัตราการเติบโตรายปี ของเทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ สูงถึง 44% และอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ขยายตัว 26% ส่วนการใช้โมบาย เพย์เมนต์ อีคอมเมิร์ซ ขยายตัวมากกว่า 120% รวมถึงบิ๊กดาต้าขยายตัวได้ 4% ซึ่งแนวโน้มการเติบโตนี้ทำให้รัฐบาลตั้งเป้าหมายผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลมีสัดส่วน 30% ของจีดีพีของประเทศในปี 2570 โดยต่อจากนี้จะเป็นยุคของเว็บ 3.0 ธุรกรรมต่างๆ จะเกิดขึ้นในแพลตฟอร์มเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น เมตาเวิร์ส ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับการจัดงานหัวเว่ย คอนเน็ค 2022 ที่ประเทศไทย ถือเป็นการจัดงานครั้งแรกนอกประเทศจีน โดยไทยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่ง ในสถานที่    จัดงานเป็นงานประชุมใหญ่ประจำปี ของหัวเว่ยที่จัดขึ้นเพื่ออุตสาหกรรมไอซีทีทั่วโลกมี 192 ประเทศ เข้าร่วม 4,000 คน ระหว่างวันที่ 19-21 กันยายน 2565 นี้ คาดว่า จะมีเงินเข้าประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 1,100 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเคน หู ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย กล่าวว่า ช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาการเติบโตของจีดีพีทั่วโลกไม่คงที่มีเพียงเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้นที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องหรือมากกว่า 15% ในปี 2564 ทางหัวเว่ยจะเร่งพัฒนาอีโคซิสเต็มด้านไอซีทีเพื่อช่วยขจัดอุปสรรคระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในภูมิภาคนี้ ทั้งการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพ การส่งเสริมการใช้ระบบคลาวด์พื้นฐานด้วยการบริการด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงการสร้างอีโคซิสเต็ม ด้านดิจิทัลในท้องถิ่น การเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่มบุคลากรด้านดิจิทัล

 

ดร.ณัฐพล รังสิตพล

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม)

 

2. เอสเอ็มอีรอเลย! ดีพร้อม-เซเว่นฯ ผนึกกำลังดันเข้าโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ เฟส 2 (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 20 กันยายน 2565)

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายดีพร้อมเตรียมจัดกิจกรรมพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมขยายสู่ช่องทางธุรกิจการค้าสมัยใหม่ (Gifted DIPROM - Modern Trade) ระยะ 2 หลังจากประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สามารถนำธุรกิจเข้าสู่ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ หรือ โมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โดยระยะ 1 ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ดำเนินการจัดกิจกรรม DIPROM MOVE TO MODERN TRADE เพื่อให้ความรู้ พร้อมส่งเสริม สนับสนุน และต่อยอดให้กับผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงที่มีศักยภาพให้สามารถนำธุรกิจเข้าสู่โมเดิร์นเทรด โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 มีผู้ประกอบการกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 22 ธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจภาพรวมได้กว่า 36 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่ายอดขายหน้าร้าน และการส่งออกเพิ่มขึ้นรวมกันกว่า 34 ล้านบาท มูลค่ายอดขายในอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านบาท และการลงทุนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มเติม 1.2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ DIPROM MOVE TO MODERN TRADE ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ของศูนย์ 7 สนับสนุนเอสเอ็มอีในการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ในการเตรียมความพร้อมเอสเอ็มอีเข้าสู่ช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยเป็นการถ่ายทอดเคล็ดลับความสำเร็จของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ค้าขายกับเซเว่น อีเลฟเว่น โดยโครงการนี้สอดคล้องกับความตั้งใจของบริษัทในการสนับสนุนเอสเอ็มอีทั้ง 3 เรื่องคือ คือ 1. ให้ช่องทางขาย เพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบการ SME นำเสนอสินค้าเพื่อจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และผ่านช่องทางออนไลน์ 2. ให้ความรู้ จัดอบรมสัมมนาแก่ผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง และ 3. ให้การเชื่อมโยงเครือข่ายแก่ SME ทั้งภายในบริษัทและองค์กรความร่วมมือจากภายนอก เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการ SME

 

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง

ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า

 

3. เหล็กเส้นขึ้นราคาผู้ผลิตอ้างต้นทุนสูงแบกต่อไม่ไหว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 กันยายน 2565)

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์คไฟฟ้า เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ต้นทุนการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งราคาวัตถุดิบ พลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าขนส่ง ค่าแรง รวมทั้งได้รับผลจากการทุ่มตลาดของสินค้านำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กนั้นอยู่ในอัตราที่ต่ำเพียง 30% เป็นเหตุให้ผู้ผลิตเหล็กจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ทั้งนี้ สินค้าเหล็กในการก่อสร้าง ได้แก่ สินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กรูปพรรณ เป็นสินค้าภายใต้การกำกับดูแลของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดังนั้น ผู้บริโภคสามารถมั่นใจในระดับหนึ่งว่าการปรับราคานั้นสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง สำหรับราคาเศษเหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเหล็กเส้นในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 658 เหรียญสหรัฐต่อตัน ปรับเพิ่มขึ้น 42% จากปี 2564 ที่มีราคาอยู่ที่ 464 เหรียญสหรัฐต่อตัน ประกอบกับค่าไฟฟ้า ซึ่งพลังงานหลักในการหลอมเศษเหล็กได้ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 700-800 บาทต่อตัน โดยต้นทุนด้านพลังงานนั้นส่งผลกระทบทั่วทุกธุรกิจ แม้กระทั่งผู้ผลิตเหล็กหลักของโลกอย่างประเทศตุรเคีย ก็ได้ประกาศขึ้นราคาเหล็กแล้วตันละ 20-40 เหรียญสหรัฐ รวมทั้งการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การปรับราคาเพิ่มขึ้น อาจมีผลกระทบไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างได้ โดยผู้รับเหมาสามารถทำสัญญาระยะยาวกับผู้ผลิต หรือยี่ปั๊ว ในการซื้อสินค้าสำหรับงานนั้นๆ รวมถึงพิจารณาถึงการบริหารจัดการเพื่อลดต้นทุนให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อและเลือกใช้เหล็กคุณภาพสูง เช่น การเลือกใช้เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตชั้นคุณภาพ SD50 แทนชั้นคุณภาพ SD40 ที่สามารถลดปริมาณการใช้เหล็ก เป็นอีกทางเหลือหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนของผู้รับเหมาฯ ลดลง โดยเหล็กชั้นคุณภาพ SD50 รับแรงได้ดีกว่า SD40 หากใช้เหล็กทั้ง 2 ชนิดในโครงการเดียวกันการใช้ SD50 จะประหยัดการใช้ปริมาณเหล็กมากกว่า รวมถึงการใช้เหล็กตัดและดัดสำเร็จรูปที่สามารถลดการ สูญเสียหางเหล็ก และลดการใช้แรงงานในการตัดและดัด อีกทั้งทำให้โครงการสามารถแล้วเสร็จ ได้อย่างรวดเร็วขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. 'โกลด์แมน แซคส์' หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐโตเพียง 1.1% ปี 66 (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 20 กันยายน 2565)

โกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัวเพียง 1.1% ในปี 2566 ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 1.5% นอกจากนี้ โกลด์แมน แซคส์คาดว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.1% ในช่วงสิ้นปี 2566 จากปัจจุบันที่ระดับ 3.7% และสู่ระดับ 4.2% ในช่วงสิ้นปี 2567 ขณะเดียวกัน คาดว่าภาวะการเงินที่ตึงตัวจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้ม 35% เข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ทางด้านธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา กล่าวว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 0.5% ในไตรมาส 3 โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวต่ำกว่าระดับ 1.3% ที่มีการระบุก่อนหน้านี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่าเศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 0.9% ในไตรมาส 2 หลังหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 ซึ่งการที่เศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค

 

อย่างไรก็ตาม นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยืนยันว่า เขาไม่คิดว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากหลายภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งรวมถึงตลาดแรงงาน โดยที่ผ่านมา สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐ (NBER) ถือเป็นหน่วยงานในการตัดสินเกี่ยวกับการขยายตัวหรือการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยจะมีการพิจารณาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การจ้างงาน การบริโภค การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และรายได้ส่วนบุคคล ก่อนที่จะทำการประกาศอ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)