ข่าวในประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
1. ยืดเวลาขึ้นภาษีหวาน 6 เดือน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 21 กันยายน 2565)
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบขยายเวลาปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนในปัจจุบัน รวมถึงช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มมีระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อรองรับการปรับขึ้นอัตราภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลระยะที่ 3 ต่อไป ทั้งนี้ กรมสรรพสามิต ได้เริ่มจัดเก็บภาษีความหวานตามปริมาณน้ำตาลในสินค้าเครื่องดื่มตั้งแต่ ปี 2560 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมมีการปรับสูตรลดปริมาณน้ำตาลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนมาโดยตลอด โดยมีการกำหนดโครงสร้างภาษีในอัตราแบบขั้นบันได แต่ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน หากมีการปรับขึ้นภาษีตามกำหนดเวลาเดิม อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เนื่องจากผู้ประกอบการอาจดำเนินการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น กรมสรรพสามิตจึงเสนอขยายเวลาการขึ้นอัตราภาษีออกไป
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การดำเนินการจัดเก็บภาษี สรรพสามิตความหวาน เป็นแนวทางด้านสาธารณสุขตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ กรมยังมุ่งหวังจะเป็นกลไกสำคัญในการวางรากฐานสังคมและสนับสนุนให้ประชาชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสุขภาพ เพื่อเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับประชาชนและประเทศ
นายภาสกร ชัยรัตน์
รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม
2. จับศิษย์ดีพร้อมโชว์ของดี (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 21 กันยายน 2565)
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า ดีพร้อม ได้เดินหน้ากิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ โดยร่วมมือกับศิษย์เก่าเหล่าสตาร์ทอัพด้านลดการปลดปล่อยคาร์บอน 11 บริษัท เช่น โนวา กรีน เพาเวอร์ ซิสเต็ม, ทีไออี สมาร์ท โซลูชั่น ให้มีโอกาสสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจกับผู้ประกอบการด้วยกัน และกับหน่วยงานภายใต้ดีพร้อม โดยนำเสนอโซลูชั่นและทำการทดสอบเทคโนโลยี นวัตกรรมในสถานที่จริง เน้นด้านการประหยัดพลังงาน และการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดเป็นยูสเคส โดยนำร่องที่อาคารของดีพร้อมเป็นพื้นที่ต้นแบบ โดยสตาร์ทอัพที่ร่วมโครงการยังต่อยอดสร้างรายได้จากสินค้าและบริการที่ได้นำมาทดสอบกว่า 100 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ หลังดำเนินกิจกรรมมากว่า 2 เดือนได้ส่งเสริมให้สตาร์ทอัพด้านลดการปลดปล่อยคาร์บอนสร้างเครือข่ายความร่วมมือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกัน รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายกับหน่วยงานภายใต้ ดีพร้อม เพื่อตอบโจทย์ในการลดการปล่อยคาร์บอน ทำให้สตาร์ทอัพทั้ง 11 ทีม เข้าใจความต้องการและระบบการทำงานของอาคารขนาดใหญ่มากขึ้น โดยการทำงานภายใต้สนามทดสอบที่เป็นของจริงจะมีเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัดของอาคาร พนักงาน และอื่นๆ ซึ่งสตาร์ทอัพทุกทีมสามารถแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแก้ปัญหาและทำงานจริงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม การเปิดบ้านให้เป็นสถานที่นำร่องในการทดสอบในครั้งนี้ ถือเป็นอีกแนวทางในการช่วยส่งเสริมให้สตาร์ทอัพได้ทำงานจริงกับอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ รวมถึงเข้าใจถึงระบบการดำเนินงานกับภาครัฐ ซึ่งสตาร์ทอัพทุกทีมจะใช้โมเดลในการทดลองนี้ในการต่อยอดให้เป็นเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้ และสร้างการเติบโตต่อไป ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเต็มรูปแบบในเวลา 6 เดือน-1 ปี คาดว่าดีพร้อมจะลดการปล่อยคาร์บอนได้มากกว่า 20% ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยออกมาต่อปี และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้ 10% ต่อปี
นายอนุชา บูรพชัยศรี
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
3. รัฐบาลปลื้มส่งเสริมลงทุนปี 65 สร้างงานกว่า 4 หมื่นตำแหน่ง (ที่มา: สำนักข่าวไอ. เอ็น.เอ็น, ประจำวันที่ 21 กันยายน 2565)
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2565 (มกราคม – มิถุนายน 2565) ว่า มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) จำนวน 750 โครงการ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 375,670 ล้านบาท โดยเป็นการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 309 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งสิ้น โดยมีมูลค่ารวม 131,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35 ของมูลค่าการอนุมัติให้การส่งเสริมทั้งหมด ซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหารมีจำนวนโครงการมากที่สุด และอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีมูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 สามารถสร้างงานให้คนไทย 43,833 ตำแหน่ง โดยโครงการ ในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการจ้างงานมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 31 ของการจ้างแรงงานไทย ซึ่งมีการจ้างงานประมาณ 13,575 ตำแหน่ง ตามมาด้วยหมวดอุตสาหกรรมเบา คิดเป็นร้อยละ 19 หรือประมาณ 8,261 ตำแหน่ง และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง คิดเป็นร้อยละ 17 ของการจ้างแรงงานไทย หรือ ประมาณ 7,363 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริม ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ส่งผลสร้างงานให้คนไทยกว่า 4 หมื่นตำแหน่ง โดยโครงการฯ มีความต้องการแรงงานระดับปริญญาตรีมากที่สุด สะท้อนว่าแรงงานไทยระดับปริญญาตรี ยังมีความสำคัญกับตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการลงทุน ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 คาดว่า จะมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงาน ทุกระดับหลากหลายสาขา ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและผู้ที่กำลังจะจบการศึกษา ตลอดจนแรงงานระดับ ปวช. ปวส. ม.6 ซึ่งเป็นแรงงานที่เป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ได้ติดตามข่าวสารการจ้างงาน และเตรียมความพร้อมตนเองในการสมัครเข้าร่วมงานกับภาคอุตสาหกรรมต่อไป
ข่าวต่างประเทศ
4. พาณิชย์จีนลุยจัดงานแสดงเทคโนโลยีก่อสร้าง หวังเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศและอาเซียน (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 21 กันยายน 2565)
นายจาง เสี่ยวเหวิน รองอธิบดีกรมพัฒนาการค้า กระทรวงพาณิชย์ เจ้อเจียง ประเทศจีน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่การลงนาม RCEP ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ตัวเลข GDP ของประเทศไทยปี 2564 แซงหน้าสิงคโปร์ และเป็นอันดับสองในอาเซียน ด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ "ไทยแลนด์ 4.0" ที่เสนอโดยรัฐบาลไทยและการจัดวางระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พิสูจน์ได้ว่าเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเทคโนโลยีที่สูงขึ้น คือ การส่งเสริมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระดับสูงรวมไปถึงเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ และทำให้นวัตกรรมเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทั้งนี้ เจ้อเจียง ในฐานะที่เป็นจังหวัดที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน องค์กรที่มีชื่อเสียงหลายแห่งได้ปรากฎขึ้นในการสร้าง Digital Zhejiang ซึ่งเจ้อเจียงและไทย มีโอกาสในวงกว้างสำหรับความร่วมมือทางการค้าทวิภาคีสร้างเมืองอัจฉริยะในอนาคต จากความสำคัญดังกล่าว ทางกระทรวงพาณิชย์เจ้อเจียง จึงเตรียมจัดงาน Zhejiang International Trade (Thailand) Exhibition 2022 ในรูปแบบ พาวิลเลียน ซึ่งจะจัดแสดงเกี่ยวกับงานอาคาร แสงสว่าง และเมืองอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2565 ณ อาคาร 8 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจะเป็นการจัดงานในรูปแบบผสมผสานออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้ผู้ชมงานในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเจ้อเจียงได้อย่างครอบคลุมทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนมีความเข้าใจด้านอุตสาหกรรมก่อสร้าง แสงสว่าง และเมืองอัจฉริยะของเจ้อเจียง รวมถึงเพื่อขยายการค้าและการลงทุนทวิภาคี โดยการรวบรวม 73 ผู้ประกอบการส่งออกของมณฑลเจ้อเจียงเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าครั้งนี้ จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรม สินค้าและบริการบนพื้นที่กว่า 810 ตารางเมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นองค์กร แบรนด์และผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงจากมณฑลเจ้อเจียง มาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการแข่งขันของแบรนด์ส่งออกของเจ้อเจียงและสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ "Made in Zhejiang" ได้เป็นอย่างดี
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)