ข่าวประจำวันที่ 22 ก.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. 'ชาวไร่อ้อย'เฮ 'อุตฯ' ยันพ.ย.นี้ รับเงินตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 กันยายน 2565)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/65 โดยมีนโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น ในอัตรา 120 บาทต่อตัน เช่นเดียวกับฤดูการผลิตปี 2563/64 ซึ่งมีชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานเพื่อผลิตน้ำตาลทราย ผลิตเอทานอล และผลิตน้ำตาลทรายแดงได้ประโยชน์กว่า 2 แสนราย คาดว่าจะเริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 โครงการดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบายแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่น PM2.5 ของรัฐบาล ทั้งนี้ ทางด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ทำให้ชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดก่อนส่งโรงงานเพิ่มมากขึ้น และเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดจะได้รับราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/65 รวมกับเงินช่วยเหลือแล้วไม่ต่ำกว่าตันละ 1,100 บาท สำหรับนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ รวมถึงการดำรงชีพ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลชาวไร่อ้อยคู่สัญญาที่มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยจะสามารถส่งข้อมูลให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ภายในสิ้นเดือนกันยายน 2565 เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลบัญชีและอนุมัติการจ่ายเงินให้แก่ชาวไร่อ้อย คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อปัจจัยการผลิตได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้

 

น.ส.กษิติธร ภูภราดัย

รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า

 

2. อุตฯ ดิจิทัลทะลุ 6.2 หมื่นล้าน รับอานิสงส์ 'เกม-แอนิเมชั่น' (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 22 กันยายน 2565)

น.ส.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดีป้า ร่วมกับ สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ และบริษัท แอทไวส คอนซัลติ้ง สำรวจและประเมินมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ปี 2564 พบว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 42,065 ล้านบาท โตขึ้น 7% จากปี 2563 ได้รับอานิสงส์จากอุตสาหกรรมเกม ที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นที่ฟื้นตัวจากงานรับจ้างผลิตจากต่างประเทศ ทั้งนี้ จากความเปลี่ยนแปลงของตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ที่เกิดขึ้น ดีป้าคาดการณ์ว่า ตลาดจะโตต่อเนื่องอีก 3 ปี โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 46,961 และ 53,729 ล้านบาท ในปี 2565 และ 2566 และตลาดอาจพุ่งทะยานถึง 62,435 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจากอุตสาหกรรมเกมที่ประเมินว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้น ต่อเนื่องรวมถึงอุตสาหกรรมแอนิเมชั่น และอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ที่เริ่มปรับฟื้นตัวหลังโควิด-19 ระบาด ในปี 2562 ทั้งนี้ หากพิจารณาแยกเป็นรายอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมเกมมีสัดส่วนและการขยายตัวสูงสุด มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 37,063 ล้านบาท เติบโต 8% ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของผู้ให้บริการเกมบนโมบายแพลตฟอร์ม ทั้งไอโอเอส และแอนดรอยด์มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 22,237 ล้านบาท คิดเป็น 60% ของมูลค่าอุตสาหกรรมเกม ส่วนอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3,399 ล้านบาท โตขึ้น 11% จากการฟื้นตัวผ่านงานรับจ้างผลิต จากต่างประเทศ และจากสถานการณ์ค่าเงินบาทอ่อน ทำให้มูลค่าของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเริ่มฟื้นตัวในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การรับจ้างผลิตขยายตัว 16% มีมูลค่ารวม 2,864 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ขณะที่อุตสาหกรรมคาแรกเตอร์ มีมูลค่ารวมที่ 1,603 ล้านบาท หดตัวลง 18% จากเศรษฐกิจและโควิด-19 ทำให้กำลังซื้อของที่ระลึกและแฟชั่นลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อมูลค่าการเช่า/ซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของอุตสาหกรรมคาแรกเตอร์หดตัวเฉลี่ย 50% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 486 ล้านบาท

 

นายสมโภชน์ อาหุนัย

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส่งเอฟทิกซ์ซื้อขายคาร์บอน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 22 กันยายน 2565)

นายสมโภชน์ อาหุนัย รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้พัฒนาและบริหารจัดการแพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิต หรือ เอฟทิกซ์ เพื่อเป็นศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตให้สามารถเชื่อมโยงกับระบบขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. นอกจากนี้ ยังมีการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อตอบสนองความต้องการการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (รี 100) รวมถึงการซื้อขายใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรืออาร์อีซี อีกด้วย โดยแพลตฟอร์มเอฟทิกซ์นี้ เข้าร่วมในโครงการ อีอาร์ซี แซนด์บอกซ์ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือกกพ.เพื่อทดสอบระบบของตลาดการซื้อขายแลกเปลี่ยนให้มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ โดยที่อุตสาหกรรมทุกขนาดทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ จะเข้าถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นโอกาสดีจะได้ทำการเปิดตัวแพลตฟอร์มเอฟทิกซ์ พร้อมกับศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต

อย่างไรก็ตาม คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกการตลาดที่สำคัญในการสร้างแรงจูงใจ และเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการในการลดก๊าซเรือนกระจก โดย ส.อ.ท. ได้ดำเนินงานร่วมกับ อบก. และจากความร่วมมือที่มีมาอย่างต่อเนื่องในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส.อ.ท. และ อบก. จึงเห็นร่วมกันในการพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการซื้อขายคาร์บอนเครดิต

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจีนโต 44% ตั้งเป้าศูนย์กลางเทคโนโลยีหุ่นยนต์โลก (ที่มา: สำนักข่าว TNN, ประจำวันที่ 22 กันยายน 2565)

รายงานของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) เปิดเผยถึงข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับเติบโตของตลาดหุ่นยนต์อุตสาหกรรมในประเทศจีนที่มีการเติบโตต่อเนื่องนับจากปี 2011 โดยเฉพาะในปี 2021 ที่ผ่านมา มีการเติบโต 44% หรือคิดเป็นการติดตั้งหุ่นยนต์สำหรับใช้งานในภาคอุตสาหกรรมมากถึง 243,000 ครั้ง โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2020 ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีการใช้งานระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรมอยู่ในลำดับที่ 9 ขึ้นมาจากลำดับที่ 25 ในปี 2015 นับว่ามีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจีนมีสัดส่วนหุ่นยนต์อุตสาหกรรม 246 ตัว ต่อพนักงานที่เป็นมนุษย์ 10,000 คน สำหรับประเทศที่มีการใช้งานระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมากที่สุดในโลก คือ ประเทศเกาหลีใต้ ตามมาด้วยสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และประเทศเยอรมนี

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนกำลังเดินหน้าไปสู่เป้าหมายผลักดันให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ของจีนเป็นจุดศูนย์กลางของนวัตกรรมหุ่นยนต์ของโลก โดยรัฐบาลจีนยังคาดว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรายได้จากการดำเนินงานในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จะเกิน 20% ต่อปี ในประเทศจีนแม้จะมีจำนวนประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน แต่ปัจจุบันประชากรจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้าสู้ประชากรสูงอายุทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานและสาเหตุดังกล่าวทำให้มีการผลักดันเทคโนโลยีหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) ประเทศจีนได้ประกาศแผน 5 ปี เพื่อความต่อเนื่องสำหรับพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมนวัตกรรมและทำให้ประเทศจีนเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)