ข่าวประจำวันที่ 23 ก.ย. 2565

ข่าวในประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

1. ส.อ.ท.ชี้บาทอ่อนค่าส่งผลค่าครองชีพพุ่งเอกชนจี้คลัง-ธปท.ร่วมกันหาจุดสมดุล (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 กันยายน 2565)

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3-3.25% เป็นเรื่องปกติ เพราะไม่สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศได้ แม้ใช้ยาแรงด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องใช้ยาแรงสกัดเงินเฟ้ออีกรอบหนึ่งเป็นแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปแตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มอาจทะลุไปแตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หากรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีมาตรการรองรับที่เพียงพอ ทั้งนี้ เมื่อบาทอ่อนค่า สิ่งที่จะตามมาคือราคาการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามการอ่อนค่าของเงินบาท จากปัจจุบันไทยนำเข้าน้ำมัน 900,000 บาร์เรลต่อวัน รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่เน้นจำหน่ายในประเทศ จะต้องปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สุดท้ายก็ต้องมีการปรับราคาจำหน่ายหน้าโรงงานตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนจะปรับขึ้นเท่าใด อาทิ ปรับขึ้นอีก 10-30% หรืออาจปรับขึ้นไม่ถึงจำนวนนี้ หรืออาจตรึงราคาได้อีกระยะหนึ่ง เพราะกำลังซื้อในประเทศก็ซบเซา สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยพุ่งขึ้นตามไปด้วย สำหรับต้นทุนราคาพลังงานที่สูงขึ้นโดยเฉพาะ LNG ที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่ ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ก็อาจทำให้เราจะได้เห็นค่าไฟฟ้าที่อาจสูงเกิน 4.72 บาทต่อหน่วย จากในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี แม้บาทอ่อนค่าก็ยังส่งผลดีต่อการส่งออกของภาคอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก และธุรกิจ ท่องเที่ยว หากเป็นเช่นนี้เราอาจได้เห็นนักท่องเที่ยวเข้าในไทย 10 ล้านคน ในปี 2565 ตามเป้าที่วางไว้                     

อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนต้องการให้ธปท. และกระทรวงการคลัง ร่วมกันหาจุดสมดุลของค่าบาทที่เหมาะสม เพื่อดูแลคนที่ได้ประโยชน์และเสียผลประโยนชน์ โดยเฉพาะการที่ธนาคารพาณิชย์คงต้องทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย เพื่อเป็นตัวหน่วงให้ภาวะเศรษฐกิจเกิดความสมดุล ส่วนจะขึ้นดอกเบี้ยเท่าใดจะเหมาะสม ตนคงตอบไม่ได้ ส่วนกรณีที่มีคนต้องการเห็นค่าเงินที่ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เรื่องนี้ทุกคนก็มีสิทธิเสนอมุมมอง ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ยอดผลิตรถโต 10.53% ส.อ.ท.มั่นใจทั้งปีแตะ 1.75 ล้านคัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 กันยายน 2565)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การผลิตรถยนต์รวมทุกประเภทเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 171,731 คัน เพิ่มขึ้น 64.90% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานต่ำของปีที่แล้วเพราะการล็อกดาวน์จากโควิด-19 ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 และเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 20.13% เพราะมีการผลิตรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ขายในประเทศ ส่งผลให้ 8 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม 2565) การผลิตรถยนต์รวมอยู่ที่ 1,184,800 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.53% โดยมั่นใจว่าการผลิตรถยนต์ตลอดปี 2565 จะได้ 1,750,000 คัน แบ่งผลิตเพื่อส่งออก 900,000 คัน และผลิตขายในประเทศ 850,000 คัน ตามเป้าหมายที่วางไว้ สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนสิงหาคมมีทั้งสิ้น 68,208 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 61.7% จากฐานต่ำของปีที่แล้วจากการ ล็อกดาวน์และเพิ่มจากเดือนกรกฎาคม 2565 จำนวน 6.52% เพราะมีรถยนต์รุ่นใหม่และการได้รับชิ้นส่วนมากขึ้นในรถยนต์บางรุ่น รวมทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศสะดวกขึ้น และการส่งออกที่ยังเติบโต การจ้างงานเพิ่มขึ้น เกษตรกรและประชาชนมีรายได้ดีขึ้น และ 8 เดือนแรกปีนี้ รถยนต์มียอดขาย 559,537 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 19.61% ขณะที่การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 73,325 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 11.75% แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2564 คิดเป็น 23.09% เพราะฐานต่ำของปีที่แล้วส่งผลให้ 8 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้ 606,055 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.40% รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์ 8 เดือนแรกปีนี้ทั้งเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 551,483.90 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน 4.80%

อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายทั้งปีที่เราปรับใหม่ล่าสุดที่ลดการผลิตลง 50,000 คัน มาอยู่ที่ 1,750,000 คัน ดูแนวโน้มที่เหลือก็คิดว่าน่าจะเป็นไปได้อยู่โดยมีปัจจัยบวกจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 1 ตุลาคม ที่รัฐกำหนดให้โควิด-19 เป็นโรคที่แค่เฝ้าระวังจากเดิมเป็นโรคติดต่ออันตราย การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะช่วยกระตุ้นรายได้ประชาชน รวมถึงการประกันราคาพืชเศรษฐกิจของรัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ขณะที่แนวโน้มรถยึดเข้าสู่ลานประมูลเพิ่มขึ้นและตัวเลขเช่าซื้อรถค้างชำระแตะ 154,000 ล้านบาท คิดเป็น 13% ของสินเชื่อเช่าซื้อนั้นมองว่าเป็นผลกระทบตั้งแต่ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาและมีสัดส่วนที่ไม่ได้สูงมากนัก ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มหลายๆ อย่างเริ่มคลี่คลายแล้ว

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย

อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

 

3. ม.หอการค้าเผยของแพง-ศก.ไม่ดี กระทบทำให้คนไทยกินเจน้อยลง (ที่มา: บางกอกทูเดย์, ประจำวันที่ 23 กันยายน 2565)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งตรงกับวัน ที่ 25 กันยายน-4 ตุลาคม 2565 โดยสำรวจประชาชน 1,250 คน ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 12-17 กันยายน 2564 พบว่า 66.0% ระบุไม่กินเจ เพิ่มขึ้นจาก 60.9% ของปี 2564 โดยสาเหตุที่ไม่กินเจ คือ อาหารเจแพง 28.8% เศรษฐกิจไม่ดี 15.4% รสชาติไม่อร่อย 13.5% ที่บ้านไม่มีใครกิน 12.5% และรายได้ลดลง 10.6% ทำให้มีการกินเจเหลือเพียง 34.0% สำหรับเหตุผลในการกินเจเพราะตั้งใจทำบุญ 17.4% ชอบ อาหารเจ 14.8% กินตามคนที่บ้าน หรือคนรอบข้าง 14.8% มี คุณค่าทางอาหาร 14.0% และกินเฉพาะเทศกาล 11.9% โดยคาดว่าราคาอาหารหรือวัตถุดิบในการปรุงอาหารเจของปี 2565 แพงขึ้น 62.2% เทียบกับปี 2564 ทั้งนี้ ความคึกคักของเทศกาลกินเจปี 2565 ลดลง 26.2% เทียบกับปี 2564 เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น 26.7% เศรษฐกิจไม่ดี 25.3% รายได้ลดลง 17.3% ของแพง 16.0% ทำให้อาหารเจแพง 14.7% โดยประเมินมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยในช่วงเทศกาลกินเจ อยู่ที่ 4,185.88 บาทต่อคน ทำให้เทศกาลกินเจปี 2565 มีมูลค่าการใช้จ่าย 42,235 ล้านบาท บวกขึ้น 5.2% เทียบกับปี 2564 ที่มีการใช้จ่ายอยู่ที่ 40,147 ล้านบาท ติดลบกว่า 14.5% สำหรับช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจไปซื้อด้วยตัวเอง 91.8% เพราะมีโครงการช่วยเหลือของภาครัฐ อาทิ คนละครึ่ง และร้านสะดวกซื้อมีการจัดโปรโมชั่นลดราคา ส่วนที่ไม่ ได้ไปซื้อด้วยตัวเอง 8.2% พบว่ามีการซื้อผ่านตัวกลางขนส่ง อาทิ ไลน์แมน วินจักรยานยนต์ เพิ่มขึ้น 52.0% เทียบกับปี 2564 อยู่ ที่ 47.5% แต่มีการซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ลดลงเหลือ 48.0% เทียบกับปี 2564 อยู่ที่ 52.5% โดยปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการเลือกซื้ออาหารเจเปลี่ยนแปลงไป จะเน้นปลอดภัยต่อสุขภาพ ร้านที่มีชื่อเสียง มีรสชาติดี เก็บรักษาได้นาน และราคาสมเหตุสมผล

อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันและอนาคตว่ายังคงต้องระมัดระวัง จึงได้เน้นการใช้จ่ายที่ลดลง ทั้งเรื่องของการท่องเที่ยวซื้อรถคันใหม่ สินค้าคงทน สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือเพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ คือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ต้องการให้มีการเมืองที่มีเสถียรภาพ ต้องการเงินช่วยเหลือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกระตุ้นการลงทุนของนักลงทุน ต้องการให้ช่วยหางานสำหรับผู้ที่ตกงานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. รมว.คลังสหรัฐเชื่อมั่นเฟดคุมเงินเฟ้อได้โดยไม่กระทบตลาดแรงงาน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 23 กันยายน 2565)

นางเจเนต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สามารถควบคุมเงินเฟ้อได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานสหรัฐ โดยตลาดแรงงานจะยังคงแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานจะอยู่ใกล้ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อไป แม้มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นว่า เฟดจะทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะถดถอยจากการเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะนี้ การเปิดรับสมัครงานในสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 2 ตำแหน่งต่อชาวอเมริกันว่างงาน 1 คน โดยกรณีดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่เรายังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่งโดยไม่สร้างแรงกดดันต่อค่าจ้างมากนัก ทั้งนี้ นางเยลเลนแสดงความเห็นดังกล่าวหลังจากเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเมื่อวันพุธ (21 กันยายน 2565) เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อที่ร้อนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี

อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนางเยลเลนนั้นแตกต่างจากนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด โดยดูเหมือนว่าในวันพุธที่ผ่านมา นายพาวเวลจะละทิ้งคำสัญญาที่จะนำพาเศรษฐกิจสหรัฐก้าวพ้นภาวะยากลำบากด้วยความราบรื่น ซึ่งได้แก่การที่เฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะถดถอย และการก้าวผ่านช่วงเวลาอันยากลำบากดังกล่าวไปอย่างราบรื่นนั้นเป็นเรื่องที่ "ท้าทายอย่างยิ่ง" แม้เขาเตือนว่า ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า การเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินนั้นจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจริงหรือไม่ และไม่ทราบว่า หากเศรษฐกิจถดถอยจริง จะถดถอยมากเพียงใด

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)