ข่าวในประเทศ
1. 'สุริยะ' ฟันธงราคาอ้อยฤดูหีบ 65/66 ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/ตัน (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565)
สุริยะ” ลั่นราคาอ้อย ฤดูหีบ 65/66 ไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท/ตัน ตามราคาโลก เดินหน้าแก้ปมอ้อยไฟไหม้ กางเป้าไม่เกิน 5% ของอ้อยเข้าหีบทั้งหมด ด้านประธาน กอน. เผยผลผลิตฤดูนี้ 106.96 ล้านตันอ้อย ลุ้นมติกอน.เปิดหีบ1 ธ.ค.65
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 ณ หอประชุมใหญ่สมาคมเพื่อเกษตรกรภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี ว่าสำหรับแนวโน้มราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2565/2566 คาดการณ์ว่า เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้ราคาอ้อยขั้นต้นในระดับที่ไม่ต่ำกว่าตันละ 1,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยราคาน้ำตาลตลาดโลกด้วย หากราคา (รวมพรีเมี่ยม) อยู่ที่ประมาณ 20.00 เซนต์/ปอนด์ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34 บาท/เหรียญสหรัฐ ทำให้มั่นใจได้ว่าราคาอ้อยขั้นต้นในปีนี้จะมีราคาสูงกว่าตันละ 1,000 บาท อย่างแน่นอน ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการโครงการเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 กรอบวงเงินช่วยเหลือ 8,159 ล้านบาท โดย ณ วันที่ 27 ต.ค. 2565ได้จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว จำนวน 125,194 ราย เป็นเงิน 8,103.74 ล้านบาท
สำหรับในฤดูการผลิตปี 2565/66 กำหนดปริมาณอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 5% ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เกษตรกรที่ร่วมมือรัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือเช่นเดียวกับปีนี้แน่นอน นอกจากนี้ กระทรวงฯยังได้ดำเนินโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับชาวไร่อ้อยบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย ปี 2565 – 67 วงเงินกู้ปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี วงเงิน 6,000 ล้านบาทด้วย “การช่วยเหลือเพื่อช่วยลดต้นทุนการตัดอ้อยสดในครั้งนี้ จะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น รวมทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 โดยจะพยายามผลักดันมาตรการขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐตามโครงการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เช่นเดียวกับฤดูการผลิตปีที่ผ่านมา”นายสุริยะ กล่าว
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า คาดการณ์ผลผลิตอ้อยปี 2565/66 ตามมติคณะกรรมการอ้อย 106.96 ล้านตันอ้อย พื้นที่ 10.25 ล้านไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 10.44 ตันต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากฤดูการผลิตปี 2564/65 ซึ่งอยู่ที่ 92.07 ล้านตันอ้อย สำหรับกำหนดวันเปิดหีบต้องรอขอความเห็นชอบจาก กอน.ก่อน รายงานข่าวจากกอน.แจ้งว่า ขณะนี้ กอน.ยังไม่กำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาวันเปิดหีบอ้อย เนื่องจากคณะกรรมการฝ่ายโรงงาน 7 คนลาออกจาก กอน.จากปัญหาขัดแย้งเรื่องการเพิ่ม ‘กากอ้อย’ ในคำนิยามผลพลอยได้ของ พ.ร.บ.อ้อยฉบับใหม่ หลังจากนี้ต้องติดตามผลเจรจาอีกครั้ง เบื้องต้นกำหนดเปิดหีบช่วง 1-7 ธ.ค. นี้ จากความพร้อมแต่ละพื้นที่ดังนี้ ภาคเหนือ 22-24 พฤศจิกายน ปริมาณอ้อย 24.58 ล้านตัน ภาคกลาง 25 พฤศจิกายน ปริมาณอ้อย 24.88 ล้านตัน ภาคตะวันออก 1 ธันวาคม ปริมาณอ้อย 6.51 ล้านตัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 25 พฤศจิกายน ปริมาณอ้อย 50.99 ล้านตัน รวมปริมาณอ้อย 106.96 ล้านตัน
2. วิกฤตพลังงาน ราคาก๊าซพุ่งขึ้น จ่อคุมเข้มใช้ไฟ (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565)
ไทยเตรียมรับวิกฤตพลังงานระลอกใหม่! กพช.จับตาก๊าซพุ่งแตะ 50 เหรียญสหรัฐฯ เหตุชนวนสงครามรัสเซีย-ยูเครนไร้ทางยุติ ขีดเส้น 2 สัปดาห์จ่อยกระดับมาตรการประหยัดไฟคุมเข้มทันที เล็งกำหนดเวลาปิดปั๊ม-ห้าง พร้อมเคาะแผนพยุงค่าไฟฟ้าปีหน้า
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 7/2565 ว่า ในการประชุม กพช.มีหลายอย่างที่เป็นมาตรการที่เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ในวันนี้ ซึ่งสถานการณ์วันนี้วิกฤตกับทุกประเทศในโลก หลายๆ อย่างที่รัฐบาลใช้เวลาในช่วงที่ผ่านมา และเวลานี้เราต้องปรับตัวให้สามารถรับมือสถานการณ์วิกฤตต่างๆ เพราะเราเป็นห่วงโซ่เดียวกันในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน เศรษฐกิจต่างๆ รัฐบาลก็ขอใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวน และปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก โดยทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซล รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท นายกุลิศกล่าวว่า ทั้งนี้ที่ประชุมจึงได้เห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค.65 เพื่อดูแลลดผลกระทบค่าไฟฟ้าในปี 2566 พร้อมทั้งยังได้เห็นชอบมาตรการสมัครใจการขอความร่วมมือประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ สถานีบริการน้ำมัน ห้าง ร้านสะดวกซื้อ สถานประกอบการ ในการประหยัดพลังงาน ซึ่งระหว่างนี้มีความเป็นไปได้ว่าในช่วงฤดูหนาวของยุโรป หากราคาก๊าซ LNG เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูขึ้นไป หากเกิดกรณียาวนานต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 เหรียญต่อล้านบีทียู จะยกระดับมาตรการนี้เป็นมาตรการภาคบังคับทันที "ตอนนี้ราคาก๊าซอยู่ที่ 29 เหรียญต่อล้านบีทียู ก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่หากราคาก๊าซ LNG สูงขึ้นตั้งแต่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูขึ้นไปต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ เราได้วางมาตรการบังคับไว้ ซึ่งโดยขั้นตอนนายกรัฐมนตรีสามารถประกาศใช้ทันที เพราะประเทศต่างๆ ทั่วโลกหลายแห่งได้ดำเนินการแล้ว เพราะรัสเซีย-ยูเครนไม่มีท่าทีได้ข้อยุติ เราก็ยังคาดหวังว่าจะไม่ต้องใช้มาตรการบังคับ ซึ่งต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ระหว่างนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ร่วมกันหารือ" นายกุลิศกล่าว
ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า จากการที่รัสเซียตัดการส่งขายก๊าซธรรมชาติให้สหภาพยุโรป (EU) ทำให้อียูต้องหันมาแย่งซื้อ LNG ในตลาดเอเชียและดันราคาสูงขึ้น จนส่งผลให้ราคา LNG ตลาดจรซื้อขายล่วงหน้าช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 อยู่ที่ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ระหว่างนี้จึงต้องวางมาตรการรองรับไว้ให้พร้อม ในกรณีเลวร้ายก็ต้องยกระดับมาตรการประหยัดไฟภาคบังคับ ขณะที่การนำเข้าปัจจุบัน ปตท.ยังนำเข้า LNG ตามสัญญาระยะยาวที่ 5.2 ล้านตันต่อปี เช่นเดิม “สำหรับมาตรการขอความร่วมมือประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรม ที่อาจจะกลายเป็นมาตรการบังคับในอนาคต ได้แก่ การตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศในอาคารให้สูงขึ้นจากปกติ 2 องศาเซลเซียส (27 องศาเซลเซียส) และปิดระบบแสงสว่างในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น, การกำหนดเวลาเปิดปิดไฟป้ายโฆษณาขนาดใหญ่, การปิดสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงหลังเวลา 23.00 น. (เปิดเวลา 05.00-23.00 น.) รวมถึงการกำหนดเวลาเปิดปิดภาคธุรกิจบริการที่ใช้พลังงานสูง เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ สถานบันเทิง, การปิดระบบปรับอากาศก่อนห้างสรรพสินค้าปิด 30-60 นาที, การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงของโรงงานอุตสาหกรรม โดยภาครัฐสนับสนุนการให้ข้อมูล/คำแนะนำ และอาจสนับสนุนเงินลงทุนบางส่วนแก่โรงงานอุตสาหกรรม และมาตรการประหยัดพลังงานอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์” นายวัฒนพงษ์ ระบุ
ผอ.สนพ.ระบุด้วยว่า กพช.ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยประกอบด้วย 1.อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของโรงไฟฟ้าเดิม ที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการเพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป
3. เงินเฟ้อ ต.ค. ขยายตัว 5.98% ชะลอตัวลง 2 เดือนติดต่อกัน (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนตุลาคม 2565 เท่ากับ 108.06 เทียบกับเดือนกันยายน 2565 เพิ่มขึ้น 0.33% เทียบกับเดือนตุลาคม 2564 เพิ่มขึ้น 5.98% ลดลงจากเดือนกันยายน 2565 ที่สูงขึ้นถึง 6.41% และลดจากเดือนสิงหาคม 2565 ที่สูงขึ้น 7.86% เป็นการชะลอตัวลง 2 เดือน ติดต่อกัน ตามการลดลงของสินค้ากลุ่มพลังงาน และอาหาร จากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน การกำกับดูแลราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ที่ ดำเนินการมาต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาสินค้าชะลอตัวลงจากที่เคยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ และอัตราเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) อยู่ที่ 6.15% สำหรับเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2565 ที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้า ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 9.58% โดยกลุ่มอาหารสด ราคายังเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด ต้นหอม ผักบุ้ง ส้มเขียวหวาน แตงโม น้ำมันพืช ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น แป้งข้าวเจ้า ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยน้ำว้า มะพร้าวผลแห้งขูด และมะขามเปียก เป็นต้น สำหรับหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 3.56% ตามการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวของกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์ ยาสูบ และเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ที่ราคา ชะลอตัวลง ส่วนสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง เช่น ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ หน้ากากอนามัย แป้งผัดหน้า เครื่อง รับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ และ เครื่องซักผ้า เป็นต้น “เงินเฟ้อของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก ถ้าดูตามสถิติการเก็บเงินเฟ้อของโลกที่มีอยู่ 135 ประเทศ เงินเฟ้อไทยต่ำอยู่ในลำดับ 107 ซึ่งแสดงว่าเงินเฟ้อไทยไม่ได้สูงจนเกินไป” นายพูนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.05% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 และเพิ่มขึ้น 3.17% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2564 และเฉลี่ย 10 เดือน เพิ่ม 2.35%
ข่าวต่างประเทศ
4. น้ำมัน WTI ร่วง 0.9% ปิด 91.79 ดอลล์ กังวลแผนเปิดประเทศจีนไม่แน่นอน (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565)
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันจันทร์ (7 พ.ย.) ท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการเปิดประเทศของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 82 เซนต์ หรือ 0.9% ปิดที่ 91.79 ดอลลาร์/บาร์เรล สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค. ลดลง 65 เซนต์ หรือ 0.7% ปิดที่ 97.92 ดอลลาร์/บาร์เรล
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า บรรดาผู้นำจีนกำลังพิจารณาเรื่องการเปิดประเทศ หลังจากที่ใช้มาตรการเข้มงวดในการควบคุมโควิด-19 มาเป็นเวลานาน แต่กระบวนการเปิดประเทศจะเป็นไปอย่างช้า ๆ และไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน ทางด้านนายหู เซียง เจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (NHC) เปิดเผยเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (5 พ.ย.) ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วประเทศทำให้จีนยังคงต้องยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และระบุว่าการใช้นโยบายดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด ทั้งนี้ คำกล่าวของนายหูถือเป็นการดับความฝันของนักลงทุน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์เป็นวงกว้างว่า จีนจะผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ และอาจจะทำการเปิดประเทศในเดือนมี.ค. 2566
อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกจากการที่จีนเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบ และการคาดการณ์ที่ว่าตลาดน้ำมันจะเผชิญภาวะตึงตัวเมื่อสหภาพยุโรป (EU) บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันดิบรัสเซียในวันที่ 5 ธ.ค.นี้ สำนักงานศุลกากรของจีนเปิดเผยว่า จีนนำเข้าน้ำมันดิบ 10.16 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนต.ค. เพิ่มขึ้นจากระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย.