1. ลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 80% มีผลแล้ว หวังลดมลพิษ-ดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโตยั่งยืน
(ที่มา : ไทยรัฐ, วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565)
ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน ที่จดทะเบียนภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้พระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปี สำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า พ.ศ.2565 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญให้ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน ที่จดทะเบียนภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ โดยภาษีประจำปีจะลดลง 80% ของอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 และกำหนดให้ลดภาษีเป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รถนั้นจดทะเบียน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้ การลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เป็นไปเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายในเบื้องต้นที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ว่าจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2065 สอดคล้องกับที่ได้ประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 เมื่อวันที่ 31 ต.ค.-12 พ.ย.2564 พร้อมกับรักษาความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
...............................................
2. ธปท.เดินหน้าสังคมไร้เงินสด ลดใช้เช็ค! ตั้งเป้า 3 ปีดันพร้อมเพย์เอกชน
(ที่มา : ไทยรัฐ, วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565)
ธปท.เดินหน้าหนุนคนไทยสู่สังคมไร้เงินสด ตั้งเป้า 3 ปี สร้างระบบพร้อมเพย์เอกชนกับเอกชน เพิ่มปริมาณการโอนเงินชำระเงินของภาคประชาชนผ่านระบบดิจิทัลเป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปี ขยับสัดส่วนการชำระเงินดิจิทัล 42% ของระบบเศรษฐกิจประเทศ เพิ่มอัตราเร่งของการลดใช้เงินสด กดยอดใช้เช็คเหลือครึ่งเดียว
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแนวนโยบาย “ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อ เศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน” โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาสมดุลระหว่างการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุม และการส่งเสริมให้ภาคการเงินยืดหยุ่นมากขึ้น และยังได้กำหนดทิศทางการพัฒนาระบบการชําระเงิน หรือ Payment Strategic Directions ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2565-2567) ทําให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวของเห็นภาพที่ชัดเจน เพื่อต่อยอดและปรับปรุงการให้บริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่คนไทยนิยมใช้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้
โดยล่าสุด มีจำนวนบัญชีที่ใช้การชำระเงินโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ 72 ล้านเลขหมาย มีปริมาณเฉลี่ยต่อวัน 42 ล้านรายการ มูลค่าเฉลี่ยต่อวัน 121,000 ล้านบาท มีจุดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยคิวอาร์โค้ดกว่า 7 ล้านจุด หลังจากนี้ ธปท.ได้ต่อยอดการให้บริการพร้อมเพย์ โดยจะเพิ่มการชำระเงินให้ภาคธุรกิจมีทางเลือกใช้บริการ การชำระเงินดิจิทัล และมีกระบวนการธุรกิจแบบดิจิทัลที่ครบวงจร ผ่านระบบ PromptBiz โดยนอกจากการชำระเงิน ยังสามารถส่งเอกสารที่จำเป็นในการทำธุรกิจผ่านระบบดังกล่าวได้อีกด้วย โดยตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 3,000 แห่ง ในปี 2567ขณะเดียวกัน ธปท.ยังตั้งเป้าจะขยาย ระบบการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลในไทยในภาพรวมให้เป็นทางเลือกหลักของทุกกลุ่มคนทดแทนการใช้เงินสด และใช้เช็ค โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีคนไทยใช้การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล 312 ครั้งต่อคนต่อปี สูงกว่ามาเลเซียที่ใช้เพียง 170 ครั้งต่อคนต่อปี ขณะที่ปริมาณการใช้เช็คลดลง 5 ปีต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ปริมาณการใช้เช็คลดลง 16% มูลค่าเงินผ่านเช็คลดลง 12%
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ ธปท.เพิ่มปริมาณการใช้ ชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลของคนไทยเป็น 2.5 เท่า จาก 312 ครั้งในปี 2564 เป็น 800 ครั้งต่อคนต่อปี ภายใน 3 ปี หรือในปี 2567 เพิ่มสัดส่วนมูลค่าการใช้การชำระเงินดิจิทัลต่อการใช้เงินสดเพื่อการชําระเงินของประชาชน อีก 5% ภายใน 3 ปี จากเดิมที่มีสัดส่วน 37% ของระบบเศรษฐกิจ รวมในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 42% ในปี 2567โดยในส่วนของการลดการใช้เงินสด ในระบบ ธปท.ตั้งเป้าหมายจะทำให้อัตราเร่งของการลดการใช้เงินสดเพิ่มเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน ภายใน 3 ปี หรือในปี 2567 และตั้งเป้าลดการใช้เช็คกระดาษ ให้เหลือไม่ถึง 50% จากยอดของปี 2564 ภายใน 5 ปี ภายในปี 2569.
...........................................
3. "โควิด19" ผู้ติดเชื้อสูงขึ้น เตือน ประชาชนรับ วัคซีนโควิด ลดป่วยรุนแรง
(ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์, วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565)
สถานการณ์ "โควิด19" พบ ผู้ติดเชื้อ สูงขึ้น เตือน ประชาชนกลุ่ม 608 เด็กเล็กที่มีโรคประจำตัว เร่งรับการฉีด วัคซีนโควิด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรค "โควิด19" ประเทศไทย สัปดาห์ที่ 45 มีแนวโน้มพบ ผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 12.8 เปรียบเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตยังมีแนวโน้มคงตัว ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ ในช่วงเริ่มต้นกา ระบาด ครั้งใหม่ที่มีลักษณะเป็น Small wave หลังจากการปรับให้โรค "โควิด19" เป็น โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 กรมควบคุมโรค ได้ติดตามข้อมูลเฝ้าระวังโรคจากทั้งผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล รวมทั้งผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อที่ดูแลอาการตนเองที่บ้านผ่านทางระบบการรายงานโดยสปสช. และดำเนินการเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยงใน 8 จังหวัด เริ่มพบผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาล เพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดท่องเที่ยว โดยเฉพาะในภาคตะวันออก และภาคใต้ ซึ่งจังหวัดส่วนใหญ่รับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และต่างชาติเพิ่มขึ้น และมีการจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวกันจำนวนมากขึ้นด้วย แม้ว่าผู้ป่วยอาการหนักใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตในรอบสัปดาห์ที่ 45 (วันที่ 6 - 12 พฤศจิกายน 2565) มากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นผู้ที่ไม่รับ วัคซีนโควิด และไม่ได้รับ วัคซีนเข็มกระตุ้น ทำให้ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค หากติดเชื้อ "โควิด19" มีโอกาสป่วยหนักได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงวัย และผู้ที่มีโรคประจำตัว
ทางด้านนายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่านอกจากนี้แล้ว เน้นมาตรการตรวจรักษากลุ่ม 608 ที่เริ่มมีอาการป่วย ทั้งมีไข้ ไอ และ ATK พบเชื้อ ให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโรคโดยเร็ว ทั้งนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ LAAB (ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป)โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับ วัคซีน หรือผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวที่อาจจะสร้างภูมิคุ้มกันจาก วัคซีน ได้น้อย
สำหรับคำแนะนำ ในช่วงนี้ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้รับวัคซีนงดออกจากบ้าน และสมาชิกในครอบครัวที่เป็นกลุ่มวัยทำงาน มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้าน เช่น ไปสถานบันเทิง ให้งดใกล้ชิดผู้สูงอายุ และพาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอาในบ้าน รวมทั้งเด็กเล็ก เด็กนักเรียน เข้ารับการฉีด วัคซีนโควิด ทั้งเข็มแรกหรือ เข็มกระตุ้น หากได้รับเข็มสุดท้ายมานานเกิน 4 เดือน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนัก และ ลดระยะเวลาการรักษาโรค ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือญาติต้องลางานเพื่อดูแลรักษาด้วย
.....................................................
4. โควิด-19 จีน ติดเชื้อรายใหม่พุ่ง ทางการย้ำคุมเข้มต่อเนื่อง
(ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565)
จีนมีรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมของเมืองอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ ขณะที่ทั่วโลก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ติดท็อปทรี จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันสูงสุด
รอยเตอร์ส รายงานว่า ยอดผู้ป่วยโควิดในจีนเพิ่มขึ้น ตามรายงานการบันทึกตัวเลขรายวันในกรุงปักกิ่งและเมืองอื่นๆ โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา จีนรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 14,878 ราย ซึ่งรวมจำนวนผู้ป่วยรายใหม่รายวันในปักกิ่ง กวางโจวและเจิ้งโจว ด้วย จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมในกวางโจวและเจิ้งโจวถูกขัดขวาง โดยข้อจำกัดที่มุ่งเป้าหมายควบคุมการแพร่ระบาด
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (NHC) จีน ระบุว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในประเทศจีนเพิ่มขึ้นจาก 11,950 ราย เมื่อวันที่ 11 พ.ย. มาเป็น 14,878 ราย ในวันที่ 12 พ.ย. และหากไม่นับการติดเชื้อจากเข้าประเทศ จีนรายงานว่า พบผู้ป่วยในท้องถิ่นรายใหม่ 14,761 ราย เพิ่มขึ้นจาก 11,803 รายในวันก่อนหน้า
ข้อมูลของรัฐบาลท้องถิ่นเผยว่า ที่ปักกิ่งมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด 235 รายต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 116 วันก่อนหน้า
เมืองกวางโจวซึ่งมีประชากรเกือบ 19 ล้านคน รายงานผู้ป่วยโรคติดต่อในท้องถิ่นรายใหม่ 3,653 ราย ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นจาก 3,180 รายในวันก่อนหน้า
เมืองเจิ้งโจวในมณฑลเหอหนาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานของบริษัท ฟ็อกซ์คอนน์ ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแอปเปิ้ล รายงานผู้ป่วยรายใหม่ 2,642 รายต่อวัน Foxconn ระบุว่า มีเป้าหมายที่จะกลับมาดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายนหลังจากการดำเนินการหยุดชะงัก เนื่องจากมาตรการป้องกันโควิด-19
ขณะที่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ออกแถลงการณ์วันนี้ (13 พ.ย.) ว่า สถานการณ์การป้องกันและควบคุมโควิดยังคง “จริงจังและซับซ้อน” และ “จำเป็นต้องรักษากลยุทธ์หลัก พร้อมกับการทำงานเพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และความแม่นยำ” อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจีน ได้ประกาศปรับเปลี่ยนมาตรการควบุคมโควิด ผ่านการลดวันกักตัวสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ รวมถึงผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ธุรกิจต่างๆ
........................................