ข่าวประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565

1. ต่างชาติแห่ลงทุน 10 เดือนหอบเงินเข้าแสนล้าน

(ที่มา : แนวหน้า, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565)

อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 480 ราย เพิ่มขึ้น 8% ธุรกิจที่อนุญาตเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่าช่วง 10 เดือนของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 480 ราย เพิ่มขึ้น 8% โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 181 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 299 ราย มีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 106,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% จ้างงานคนไทย 4,635 คน เพิ่มขึ้น 8% ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 125 ราย สัดส่วน 26% เงินลงทุน 37,738 ล้านบาท สิงคโปร์ 75 ราย สัดส่วน 16% เงินลงทุน 11,693 ล้านบาท สหรัฐฯ 64 ราย สัดส่วน 13% เงินลงทุน 3,327 ล้านบาท ฮ่องกง 35 ราย สัดส่วน 7% เงินลงทุน 8,375 ล้านบาท และจีน 22 ราย สัดส่วน 5% เงินลงทุน 20,841 ล้านบาท  เฉพาะเดือนตุลาคม 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย 44 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 17 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 27 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 7,059 ล้านบาท จ้างงานคนไทย594 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์

ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในช่วง 10 เดือน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ นโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา, บริการขุดเจาะหลุมปิโตรเลียมภายในบริเวณพื้นที่แปลงสำรวจที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย, บริการขุดลอก ถมทะเลและก่อสร้างม่านดักตะกอนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด, บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า,บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษา เชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น, บริการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมด้านไบโอรีไฟเนอรีในระดับขยายขนาดสำหรับกระบวนการทางชีวภาพ และบริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data, Data Analytics

.....................................................

 

2. ‘กกพ.’ แบกรับไว้ไม่ไหวเปิด 3 ทางเลือก ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวด ม.ค. - เม.ย. 66

(ที่มา : แนวหน้า, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565)

กกพ. มีมติและเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 โดยมีการนำค่า Ft ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้าง ที่ กฟผ. แบกรับไว้ส่งผลให้ค่า Ft ปรับเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กรณี พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งที่ 51/2565 (ครั้งที่ 818) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 กกพ.มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ประจำรอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่า Ft สำหรับงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 โดยมีการนำค่า Ft ประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้าง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับในกรณีต่างๆ ซึ่งส่งผลให้ค่า Ft ปรับเพิ่มขึ้น โดยแบ่งเป็น 3 กรณี เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนผ่านเว็บไซต์ กกพ.ระหว่างวันที่ 14-27 พฤศจิกายน ก่อนจะพิจารณาและประกาศผลอย่างเป็นทางการวันที่ 1 ธันวาคมเพื่อบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้กรณีที่ 1 ค่า Ft เรียกเก็บงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 224.98 สตางค์/หน่วย แบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์/หน่วยเพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับขึ้นเป็น 6.03 บาท/หน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เรียกเก็บงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 191.64 สตางค์/หน่วยแบ่งเป็น Ft ขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วย และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์/หน่วย เพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ.จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับขึ้นเป็น 5.70 บาท/หน่วย

กรณีที่ 3 ค่า Ft เรียกเก็บงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2566 จำนวน 158.31 สตางค์/หน่วยโดย กฟผ.จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเขึ้นเป็น 5.37 บาท/หน่วย

“ค่า Ft รอบเดือนกันยายน-ธันวาคม 2565 ปรับเพิ่ม 68.66 สตางค์/หน่วย มาอยู่ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย หากจะให้งวดนี้คงไว้ที่เดิมก็จะทำให้ กฟผ.ต้องแบกภาระที่เป็นตัวเลขจริงเพิ่มเป็น 1.7 แสนล้านบาท (สะสมตั้งแต่งวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2564 ถึงเดือนสิงหาคม 2565 ) หากรวมตัวเลขประมาณการที่ กฟผ.คาดว่าจะเกิดขึ้นงวดเดือนกันยายน-ธนวาคม 2565 อีก 3.4 หมื่นล้านบาท ก็จะเป็น 2 แสนล้านบาทแต่ด้วยข้อจำกัดด้านสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของ กฟผ. เป็นอีกสาเหตุที่อาจทำให้ไม่สามารถตอบสนองนโยบายในการตรึงค่า Ft ในระยะยาวได้ หากจะให้ค่าไฟลดก็อาจพอมีวิธี คือ การเปลี่ยนหลักการ เช่น ให้ประชาชนใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่มีราคาถูกก่อนแต่เมื่อเอกชนใช้ราคาแพงที่สุด สินค้าจะแพงอยู่ดี”นายคมกฤช กล่าว

ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าที่แพงมาจากปัจจัยด้านเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักที่สูงขึ้นกว่างวดก่อนถึง 82.66% รวมถึงถ่านหินนำเข้า นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าก็ส่งผลต่อต้นทุนรวมเพิ่มขึ้น แม้จะหันไปใช้น้ำมันเตาและดีเซล แต่ราคาก็ยังคงสูงขึ้น โดยสถานการณ์ไฟฟ้าไทยยังอ่อนไหวและยังผันผวนระดับสูง จากความไม่แน่นอนก๊าซในอ่าวไทยที่แหล่งเอราวัณจะเข้าสู่ภาวะปกติได้มากน้อยเพียงใด เพื่อลดพึ่งพิงนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาแพงมาทดแทน ขณะเดียวกัน ราคา LNG ตลาดโลก ยังแกว่งตัวระดับสูงจากอุปสงค์ที่เพิ่มจากการทยอยฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศหลังโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นรวมทั้งไทย

อย่างไรก็ตาม เพื่อลดผลกระทบค่าไฟในส่วนของค่าบริการรายเดือน กกพ.ยังได้ทบทวนปรับอัตราค่าบริการรายเดือนลดลงสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภทคือ 1.ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย จากเดิม 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน และบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU เดิม 38.22 บาท/เดือน เป็น 24.62 บาท/เดือน 2.กิจการขนาดเล็ก

แรงดันต่ำเดิม 46.16 บาท/เดือน เป็น 33.29 บาท/เดือน 3.กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU เดิม 228.17 บาท/เดือน เป็น 204.07 บาท/เดือน โดยจะประสานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายให้มีผลวันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็กอีกทางหนึ่ง

..................................................

 

3. ชง ครม. ของบ 8.7 พันล้าน กระตุ้นท่องเที่ยว ดัน "เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5" คิกออฟ

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565)

กระทรวงท่องเที่ยวฯ ชง ครม. ของบ 8.7 พันล้าน เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน เดินหน้า “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” วงเงิน 7.2 พันล้าน 2 ล้านสิทธิใหม่ และ “มาตรการ TSP” วงเงิน 1.5 ล้าน ดันรายได้ปีหน้าแตะ 2.4 ล้านล้าน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.จะเสนอของบประมาณโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5” ตามมาตรการของขวัญปีใหม่ จำนวน 2 ล้านสิทธิ วงเงิน 7,200 ล้านบาท ซึ่งพิจารณาจากต้นทุนค่าใช้จ่าย 3,600 บาทต่อคน ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาวันที่ 22 พ.ย.นี้ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 พ.ย.

สำหรับเงื่อนไขการใช้สิทธิเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 ใช้ได้เฉพาะค่าที่พักและคูปองใช้จ่าย โดยมอบส่วนลดที่พัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท/ห้อง/คืน ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 10 ห้องหรือคืนต่อคน และคูปองอิเล็กทรอนิกส์สำหรับจ่ายค่าอาหารและท่องเที่ยว มอบส่วนลด 40% สูงสุดไม่เกิน 600 บาท/ห้อง/วัน ส่วนสิทธิขอคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินที่เคยให้ในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1-4 ส่วนขยายนั้น จะถูกตัดออกไป ไม่มีในเฟส 5 แล้ว

“ระยะเวลาดำเนินโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 อยู่ที่ 6 เดือน จะเริ่มเมื่อไรนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ครม. หากเริ่ม ม.ค. จะสิ้นสุด มิ.ย.2566 ให้ครอบคลุมวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นพีคซีซั่นที่นักท่องเที่ยวไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศจำนวนมาก จึงต้องมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ตรึงคนไทยให้เที่ยวในประเทศ” ททท. คาดว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 จะทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านบาท สนับสนุนการฟื้นตัวของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศด้วย

 

นอกจากนี้ ททท.จะเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (Tourism Stimulus Package: TSP) แบ่งเป็นสำหรับส่งเสริมตลาดต่างประเทศ 1,000 ล้านบาท อีก 500 ล้านบาท ใช้ส่งเสริมตลาดในประเทศ เพื่อสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวปี 2566 ไม่น้อยกว่า 2.4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 และสนับสนุนปีท่องเที่ยวไทย 2565-2566 ท่ามกลางความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่สูงขึ้น กำลังกลายเป็นวิกฤติค่าครองชีพ รวมถึงค่าเงินที่ผันผวน โดย “TSP ถือเป็นมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวชุดใหม่ ทดแทนมาตรการบูสเตอร์ช็อตเดิม ที่เคยเสนอของบประมาณไปก่อนหน้านี้ 1,000 ล้านบาท” วางระยะดำเนินมาตรการ TSP ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย.2566  สนับสนุนการฟื้นตัวและฟื้นฟูประเทศด้วยการท่องเที่ยว  เน้นขับเคลื่อนยอดขาย กระตุ้นดีมานด์ ลดต้นทุนการเดินทางของนักท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มความถี่ในการเดินทาง เพิ่มวันพักค้าง กระตุ้นการใช้จ่าย ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อสร้างประสบการณ์เดินทางใหม่ที่มีความหมาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ ผ่านสินค้าเชิงประสบการณ์ที่มีทรงคุณค่าและยั่งยืน

ภายใต้ 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1. Local to Global จากซอฟต์พาวเวอร์ สู่ประสบการณ์เดินทางที่มีความหมาย 2. Go Local New Chapters ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและสร้างสินค้าเชิงประสบการณ์ท้องถิ่นใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและความยั่งยืน และ 3. New Demand Booster กิจกรรมส่งเสริมการขาย กระตุ้นตลาดทั้งในและต่างประเทศ ลดต้นทุนการเดินทาง เพิ่มโอกาสในการท่องเที่ยวในประเทศ สนับสนุนปีท่องเที่ยวไทย 2565-2566 อย่างเป็นรูปธรรม “ทั้งมาตรการของขวัญปีใหม่ เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว TSP  รวมเป็นวงเงินขอรับการสนับสนุนทั้งสิ้น 8,700 ล้านบาท”

........................................

 

4. อินโดนีเซียเสียชีวิตจากโควิด-19 กว่า 159,000 ราย สูงสุดในอาเซียน

(ที่มา : อินโฟเควสท์, วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565)

กระทรวงสาธารณสุขอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีจำนวน 4,408 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 6,565,912 ราย ซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รองจากเวียดนาม ขณะนี้ การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ลุกลามไปทั้ง 34 จังหวัดของอินโดนีเซีย

ส่วนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่มีจำนวน 54 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้เสียชีวิตรวม 159,158 ราย ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในอาเซียน

............................................