ข่าวประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565

1. IMF มองเศรษฐกิจไทยปีหน้า โตสวนทางเศรษฐกิจโลก

(ที่มา : ไทยโพสต์, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565)

IMF มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าโตสวนทางเศรษฐกิจโลก อัตราว่างงานต่ำสุด ชี้ความชัดเจนนโยบายรัฐบาลส่งผลสำคัญต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงรายงานที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ในปี 2566 จากร้อยละ 2.8 ในปีนี้ พร้อมกับคาดว่าการว่างงานของไทยจะอยู่ในอัตราต่ำที่สุดในเอเชียแปซิฟิกที่ 1.0% โดยไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่ IMF มองว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวได้ท่ามกลางการชะลอตัวของทั่วโลกที่เผชิญกับความท้าทายจากภาวะเงินเฟ้อ และต้นทุนการครองชีพที่สูงขึ้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในภาคการท่องเที่ยวรัฐบาล ได้เตรียมตัวมาตั้งแต่กลางปี 2564 ด้วยการนำร่องภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แล้วทยอยเปิดประเทศอย่างระมัดระวัง จนถึงขณะนี้สามารถเปิดประเทศได้เต็มที่ นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากจีนที่เป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญของไทยผ่อนคลายนโยบายจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งความชัดเจนของนโยบายนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของทั้งนักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่ทำการประเมินประเทศไทย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจโดย IMF ดังกล่าว ได้มีการเปิดเผยระหว่างที่นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ IMF เยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมเวทีการประชุมผู้นำเอเปก เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง IMF เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอเปกส่วนใหญ่กำลังชะลอตัวลง และอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้จีดีพีทั่วโลกในปี 2566 จะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 ชะลอลงจากร้อยละ 3.2 ในปี 2565

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในบางพื้นที่ยังคงมีความสดใส โดยอาเซียนเป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งรายงานของ IMF แสดงให้เห็นว่าไทยและจีนเป็นเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ปีก่อนหน้า ไม่นับรวมฮ่องกงและมาเก๊า

.....................................................

 

2. ‘ไทย-เวียดนาม พัฒนาความร่วมมือ ด้านลงทุน-ส่งออก สินค้าเกษตร-อุตฯ

(ที่มา : แนวหน้า, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565)

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้หารือเต็มคณะกับนายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ในโอกาสเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทยโดยได้มีการหารือในเรื่องเกี่ยวกับความร่วมมือกันในทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เนื่องจากไทยและเวียดนามนับว่าเป็นคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกันในกลุ่มอาเซียน

โดยนายกรัฐมนตรีเสนอให้ทั้ง 2 ฝ่ายเร่งอนุญาตการนำเข้า-ส่งออกสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผัก ผลไม้ ข้าวสินค้าปศุสัตว์ พร้อมเร่งสานความสัมพันธ์โดยการทำความตกลงและกลไกเจรจาด้านการเกษตรระหว่างกัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายยินดีที่จะอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านเวียดนามไปประเทศที่ 3

นอกจากนี้ยังเห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่นๆ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ ขณะเดียวกันในด้านการลงทุน ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมสนับสนุนนักลงทุนให้เข้ามาทำธุรกิจ โดยที่ผ่านมาได้ให้ไทยจัดตั้งหอการค้าไทยในเวียดนาม(ThaiCham) เมื่อปี 2564 ซึ่งช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้จำนวนมาก

นายสุริยะกล่าวว่า นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีเวียดนาม ยังเห็นว่าทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ซึ่งกันและกัน โดยมีมูลค่ากว่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีความยินดีที่จะขยายธุรกิจด้านพลังงานสีเขียว รวมทั้งด้านโลจิสติกส์ด้วยกัน

..................................................

 

3. ไทยผนึกกำลังซาอุฯ ผลักดันพลังงาน ทั้งปิโตรเลียม-เชื้อเพลิงไฮโดรเจน

(ที่มา : ไทยโพสต์, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565)

‘สุพัฒนพงษ์’ ลุยลงนาม ร่วมกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย หนุนความร่วมมือพลังงาน ด้านปิโตรเลียม เชื้อเพลิงไฮโดรเจน หรือเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังให้การต้อนรับ Prince Abdulaziz Al-Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ณ บ้านปาร์คนายเลิศ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ว่าที่ประชุมทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือทวิภาคีเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตและเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสองประเทศให้มีความใกล้ชิดและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการแสวงหาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียด้านพลังงานในมิติต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือด้านปิโตรเลียม เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน เป็นต้น

“นอกจากนี้ ในโอกาสดังกล่าวยังได้มีการร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยงานภาคเอกชนของไทยกับซาอุดีอาระเบีย เพื่อขยายความร่วมมือในธุรกิจด้านพลังงานระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ ได้แก่ Memorandum Of Understanding in Relation to the Development of Renewable Power to Green Hydrogen/Ammonia Project in Thailand ซึ่งเป็นการลงนามระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับบริษัท ACWA Power ของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการพัฒนาธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในประเทศไทย และ Memorandum of Understanding between the Ministry of Investment of the Kingdom of Saudi Arabia and EGAT GROUP (EGCO RATCH EGATi and INNOPOWER) in the fields of various types of clean energy and energy transition ซึ่งเป็นการลงนามร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใต้กลุ่ม กฟผ. กับกระทรวงการลงทุนซาอุดีอาระเบีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานสะอาดและการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

........................................

 

4. “ญี่ปุ่น” เร่งลงทุนอุตฯชิป ยักษ์ใหญ่พาเหรดสร้างฐานผลิตใหม่

(ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565)

ท่ามกลางการชะลอตัวของตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีทั่วโลกในเวลานี้ที่ส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ลดลง แต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือสำหรับการผลิตชิปของ “ญี่ปุ่น” มองข้ามชอตไปในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำให้หลายบริษัทต่างเร่งลงทุนขยายโรงงานการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะขยายตัว

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “วีเทคโนโลยี” บริษัทออกแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น ได้เริ่มเปิดดำเนินการโรงงานแห่งใหม่ในเมืองโยะโกะซุกะ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังใช้งบประมาณก่อสร้างไปราว 2,000 ล้านเยน ถือเป็นโรงงานแห่งแรกของวีเทคโนโลยี เนื่องจากก่อนหน้านี้ บริษัทใช้วิธีการจ้างผลิต การตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานของตนเอง ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่เป้าหมายใหญ่คือรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

“ชิเกโตะ ซูกิโมโต” ประธานวีเทคโนโลยี ระบุว่า แม้ขณะนี้ความต้องการคอมพิวเตอร์ (พีซี) และอุปกรณ์อื่น ๆ อาจจะลดลง แต่ในระยะยาวด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีที่มากขึ้นและความแพร่หลายของรถอีวีจะช่วยผลักดันให้ความต้องการชิปพุ่งสูงขึ้น

ข้อมูลของ “สถิติการค้าเซมิคอนดักเตอร์โลก” (World Semiconductor Trade Statistics) แสดงให้เห็นว่า ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเริ่มลดลงใน ก.ค.ที่ผ่านมา ราว 2% จากปีก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องมาใน ส.ค.-ก.ย. 2022 ขณะที่เครื่องมือผลิตชิปก็คาดว่าจะหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2023 แต่ในระยะยาว กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น คาดว่า ความต้องการอุปกรณ์สื่อสาร 5จี และรถอีวีจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ตลาดเซมิคอนดักเตอร์พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านเยนภายในปี 2030

ขณะที่ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า มาตรการปิดกั้นจีนจากการเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตชิปขั้นสูงของสหรัฐ ยังส่งผลให้บริษัท “หยางจื่อ เมมโมรี เทคโนโลยีส์” (YMTC) ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่สุดของจีน เริ่มมองหาการจัดซื้อเครื่องมือการผลิตชิปจากญี่ปุ่น ทดแทนเทคโนโลยีจากสหรัฐ

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งราว 30% ในตลาดเครื่องมือผลิตชิปทั่วโลก โดยคาดว่ามูลค่าของตลาดนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 ล้านล้านเยนภายในปี 2030 ถือเป็นภาคส่วนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น แม้ว่าการผลิตชิปของญี่ปุ่นเองยังคงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอย่างไต้หวันและเกาหลีใต้ได้

............................................