ข่าวประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565

1. กระทรวงอุตฯ คุมผู้ทำและผู้นำเข้า “คาร์ซีท” ต้องได้มาตรฐาน มอก.

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565)

กระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมประกาศให้ “คาร์ซีท” ทุกยี่ห้อเป็นสินค้าควบคุมตามมาตรฐาน มอก. เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กเล็กให้ได้ใช้คาร์ซีทที่ได้มาตรฐาน เร่ง สมอ. ทำประชาพิจารณ์ทั้งผู้ทำและผู้นำเข้า ให้มีผลบังคับใช้ภายในปี 2566

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า มติการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้คาร์ซีท หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมใช้สำหรับให้เด็กนั่งโดยสารบนรถยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัย เป็นสินค้าควบคุม เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งสอดคล้องตามภารกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมด้านการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน โดยเตรียมออกกฎหมายเพื่อควบคุมให้ผู้ทำและผู้นำเข้าคาร์ซีททุกราย ต้องทำและนำเข้าเฉพาะคาร์ซีทที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. เท่านั้น เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และเป็นตัวช่วยสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของประชาชนผู้บริโภค

นายสุรพล ชามาตย์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้ประกาศใช้มาตรฐานที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือ คาร์ซีท มอก.3418-2565 เป็นมาตรฐานทั่วไปตั้งแต่เดือนต.ค. ที่ผ่านมา โดยอ้างอิงมาจากมาตรฐานสากล UN R 44 ซึ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศด้านความปลอดภัยบนท้องถนนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ผู้ประกอบการจะสมัครใจขอการรับรองหรือไม่ก็ได้ และเพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนทุกระดับ

โดยในการประชุมบอร์ด กมอ. ที่ผ่านมา จึงได้เห็นชอบให้ สมอ. กำหนดให้คาร์ซีทเป็นสินค้าควบคุม พร้อมทั้งเร่งรัดดำเนินการบังคับใช้ให้ทันภายในปี 2566 เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กเล็ก ได้รับความปลอดภัยในการใช้งานคาร์ซีทที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยตามมาตรฐาน โดยให้ดำเนินการควบคู่ไปกับการแจ้งให้ผู้ประกอบการ ทั้งผู้ทำและผู้นำเข้าได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวในการขออนุญาตทำหรือนำเข้า เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานคาร์ซีทดังกล่าว ครอบคลุมคาร์ซีทที่ติดตั้งด้วยระบบ ISOFIX หรือ ระบบเข็ดขัดนิรภัยของรถยนต์ โดยแบ่งตามน้ำหนักของเด็กเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) น้ำหนักไม่เกิน 10 กิโลกรัม 2) น้ำหนักไม่เกิน 13 กิโลกรัม 3) น้ำหนัก 9-18 กิโลกรัม 4) น้ำหนัก 15-25 กิโลกรัม 5) น้ำหนัก 22-36 กิโลกรัม

ซึ่งต้องผ่านการทดสอบด้วยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ โดยการชนด้านหน้าด้วยความเร็ว 50 กม./ชม. และด้านหลังด้วยความเร็ว 30 กม./ชม. โดยติดเซ็นเซอร์ไว้ที่หุ่นเด็กจำลอง เพื่ออ่านค่าความรุนแรงจากการกระแทก โดยจะรายงานผลออกมาเป็นความเสียหายหรืออาการบาดเจ็บตามจุดต่างๆ ของร่างกาย ต้องไม่เกินเกณฑ์ที่มาตรฐานกำหนดไว้ ซึ่งผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าคาร์ซีทที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน มอก. 3418-2565 จะช่วยคุ้มครองลูกหลานของท่านให้ได้รับความปลอดภัยในการเดินทางอย่างแน่นอน

สำหรับการบังคับใช้มาตรฐาน สมอ. จะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากนี้ จะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมประกาศบังคับใช้ได้ภายในปี 2566

.....................................................

 

2. ‘จีดีพีไตรมาส 3 เกินคาด 4.5% บริโภคเอกชน-ท่องเที่ยวฟื้นคาดปี 66 โต 3.5%

(ที่มา : ไทยรัฐ, วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565)

สศช.มั่นใจปี 66 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกถดถอย หลังจีดีพีไตรมาส 3/65 พุ่งเกินคาดที่ 4.5% จากการบริโภคเอกชน ท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัว ชี้ทั้งปี 65 ขยายตัว ได้ 3.2% ขณะที่ปี 66 ปริมาณการค้าโลกลดลง ส่งออกส่อโตแค่ 1% หันเร่งท่องเที่ยวและลงทุน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 65 ขยายตัว 4.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจาก 2.3% และ 2.5% ในไตรมาสแรก และไตรมาส 2 ตามลำดับ ส่วนเมื่อรวม 9 เดือนแรก ขยายตัว 3.1% คาดการณ์ว่าทั้งปี 65 จะขยายตัว 3.2% เร่งขึ้นจาก 1.5% ในปี 64 ขณะที่เงินเฟ้อคาดอยู่ที่ 6.3% ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 3.6% ของจีดีพี ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 66 คาดขยายตัวในช่วง 3-4% โดยมีค่ากลางที่ 3.5%

จีดีพีไตรมาส 3 ที่ขยายตัว 4.5% สูงเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะการบริโภค ภาคเอกชนขยายตัว 9% สูงสุดรอบ 39 ไตรมาส การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 11% แต่การบริโภคภาครัฐ ติดลบ 0.6% ลดลงครั้งแรกรอบ 10 ไตรมาส เป็น ผลจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับโควิด-19 และการลงทุนภาครัฐ ติดลบ 7.3% มูลค่าส่งออกสินค้า ขยายตัว 6.7% ประมาณส่งออกบริการ ประกอบด้วย สาขาท่องเที่ยวและขนส่ง ขยายตัว 87% สาขา ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 53.6% สาขาขนส่ง 9.9% สาขาอุตสาหกรรม 6.3% สาขาการค้า 3.5% ส่วนสาขาก่อสร้าง ติดลบ 2.8% สาขาเกษตร ติดลบ 2.3% จากอุทกภัย

เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า เมื่อเทียบจีดีพีไตรมาส 3 ของไทยกับประเทศอุตสาหกรรมหลักต่างๆ พบว่าประเทศพัฒนาแล้ว สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และกำลังพัฒนาบางส่วนขยายตัว โดยเฉพาะมาเลเซีย เวียดนาม ขยายตัวเร่งขึ้น 14.2% และ 13.7% ส่วนหนึ่งมาจากฐานของปีที่แล้วหดตัวจากการระบาดของโควิด-19 ส่วนเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง ดอกเบี้ยนโยบายในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง มีเพียงญี่ปุ่นไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย สำหรับความเสี่ยงในช่วงถัดไป ยังเป็นเรื่องเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย และ ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ที่กระทบราคาพลังงาน ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวช้ากว่าคาด

สำหรับเศรษฐกิจปี 65 คาดขยายตัว 3.2% ปี 66 อยู่ที่ 3-4% โดยมีค่ากลางที่ 3.5% การบริโภคภาคเอกชน ปีนี้ 5.4% และปี 66 ที่ 3% การอุปโภค ภาครัฐบาล หดตัว 0.2% ในปีนี้ และหดตัว 0.1% ในปี 66 การลงทุนภาคเอกชนปีนี้ ขยายตัว 3.9% และปีหน้า 2.6% การลงทุนภาครัฐปีนี้หดตัว 0.7% และปีหน้าขยายตัว 2.4% มูลค่าส่งออก ปีนี้ขยายตัว 7.5% และปี 66 ขยายตัว 1% เงินเฟ้อ ปีนี้ 6.3% และปีหน้า 2.5-3.5% ดุลบัญชีเดินสะพัด ปีนี้ขาดดุล 3.6% และกลับมาขยายตัวปีหน้า 1.1% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของเศรษฐกิจไทยจากนี้คือ การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว การเดินทาง ระหว่างประเทศของนักท่องเที่ยวทั่วโลก การขยายตัวการลงทุนของเอกชนและภาครัฐ ซึ่งปี 63-64 อนุมัติส่งเสริมการลงทุนค่อนข้างสูง หากเร่งให้เกิดการลงทุนปี 66 จะเป็นปัจจัยสำคัญให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ภาครัฐก็ต้องเร่งเบิกจ่ายตามเป้าหมาย

..................................................

 

3. ไทยเสียแชมป์ข้าวหอมโลกให้กัมพูชา “ผกาลำดวน” เฉือนชนะ “หอมมะลิ”

(ที่มา : เดลินิวส์, วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565)

‘ผลการประกวดข้าวที่ดีที่สุดของโลกประจำปี 2022 ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดที่จังหวัดภูเก็ต ผลตัดสินปรากฏว่า ข้าวหอมมะลิของกัมพูชาชื่อ ผกาลำดวน ได้รับรางวัลชนะเลิศข้าวที่ดีที่สุดในโลก เฉือนเอาชนะข้าวหอมมะลิ 105 แชมป์เก่าจากไทยไปหวุดหวิด ซึ่งถือเป็นการเสียแชมป์คาบ้าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ข้าวหอมมะลิ 105 เคยคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดข้าวโลกถึง 2 ปีติดต่อกัน ระหว่างปี 63-64

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เท่าที่ได้มีการพูดคุยกับกรรมการผู้ตัดสินที่เป็นเชฟชาวสหรัฐ ระบุว่า ข้าวหอมมะลิไทยแพ้ข้าวกัมพูชาเพียงนิดเดียว ตรงที่กลิ่นหอมน้อยกว่า โดยตัวคุณภาพข้าว และรสชาติมีคุณภาพดีเหมือนกัน แต่จะแพ้ตอนที่กำลังหุง ข้าวหอมมะลิของกัมพูชาจะมีกลิ่นมากกว่า ขณะที่กลิ่นของข้าวหอมไทยออกมาน้อย โดยปีนี้ไทยได้คัดเลือกข้าวที่ดีที่สุด ในนามสมาคมส่งไปประกวดแค่ 1 ตัวอย่าง จากข้าวที่ส่งประกวดทั้งหมด 20 ตัวอย่าง มีทั้งไทย เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว อินเดีย ปากีสถาน สหรัฐ จีน โดยข้าวไทยแพ้กัมพูชาไปแค่ 1 คะแนน ส่วนอันดับสามเป็นข้าวจากเวียดนาม และอันดับสี่ข้าวหอมมะลิจากลาว

การเสียแชมป์ข้าวโลกครั้งนี้ เป็นสัญญาเตือนว่า ไทยจะต้องกลับมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างจริงจัง เช่น จะทำอย่างไรให้มีกลิ่นหอม มีรสชาติดีกว่าเดิม เพราะเข้าใจว่า ข้าวของกัมพูชาจะเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาก แต่ข้าวไทยใช้ปุ๋ยเคมีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว ขณะเดียวกันก็อยากให้รัฐบาลหันมาพัฒนาพันธุ์ข้าวไทยอย่างมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลทุกชุด จะเน้นดูแลแค่เรื่องราคา เช่น โครงการประกันรายได้ โครงการจำนำข้าว ใช้เงินไปนับแสนล้านบาท แต่ไม่ส่งผลดีต่อระยะยาวต่อสายพันธุ์ข้าวเลย

“คงต้องจับตามองว่า ไทยจะพัฒนาอย่างไร เพราะตอนนี้ข้าวหอมกัมพูชาถูกกว่าไทยมาก ทำให้การแข่งขันตลาดข้าวหอมน่าจะรุนแรง ไทยอาจต้องลดราคาลงแข่ง เพราะปัจจุบันข้าวผกาลำดวน 720 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ผลผลิตไม่น่าเกิน 1.5 ล้านตัน ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 750 ดอลลาร์

“ส่วนในอนาคตข้าวหอมมะลิของเพื่อนบ้าน จะพัฒนามาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยได้ทั้งหมด อย่างลาวปีนี้ ส่งแข่งและได้ถึงที่สี่ ซึ่งเตือนว่า ไทยต้องพัฒนาตัวเองอย่างจริงจัง ให้มีพันธุ์ข้าวที่ดีขึ้น รวมถึงดูแลต้นทุนผลิตให้ลดลง และผลผลิตต่อไร่ต้องมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความหลากหลาย เช่น สายพันธุ์ข้าวพื้นนุ่ม ที่เวียดนามกำลังครองตลาดเอเชียอยู่ เพราะตอนนี้ชาวเอเชียชอบข้าวขาวพื้นนุ่มมาก ทั้งในจีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สมาคมพยายามผลักดันให้รัฐมาสนใจ แต่รัฐบาลจะสนใจแต่เรื่องราคาเป็นหลัก

........................................

 

4. “ซาอุฯ ยันไม่มีการหารือโอเปก เพิ่มการผลิตน้ำมัน

(ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ, วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565)

รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย ออกมาปฏิเสธข่าวของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล โดยยืนยันว่า ซาอุดีอาระเบียและสมาชิกของกลุ่มโอเปก ไม่ได้หารือกันเกี่ยวกับการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน

สำนักข่าว SPA ของซาอุดีอาระเบียรายงานว่า เจ้าชายอับดูลาซิซ บิน ซัลมาน รัฐมนตรีพลังงานซาอุดีอาระเบีย กล่าวปฏิเสธรายงานข่าวของ หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ที่เผยแพร่วานนี้ (21 พ.ย.) โดยยืนยันว่า ซาอุดีอาระเบีย และสมาชิกของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ไม่ได้หารือกันเกี่ยวกับการปรับเพิ่มกำลังการผลิตแต่อย่างใด

“ทั้งนี้ เจ้าชายบิน ซัลมาน กล่าวยืนยันว่า

  • โอเปกพลัสจะไม่มีการหารือการตัดสินใจใดๆก่อนการประชุม
  • การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 2 ล้านบาร์เรล/วันในขณะนี้ จะยังคงดำเนินไปจนถึงสิ้นปี 2566
  • หากมีความจำเป็นในการปรับลดกำลังการผลิตต่อไปเพื่อสร้างสมดุลต่ออุปสงค์และอุปทาน โอเปกก็พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงได้ตลอดเวลา

............................................