ข่าวประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

1. ครม. ปลื้มผลจัดเก็บรายได้ปีงบ 65 สูงกว่าเป้าหมาย 1.51 แสนล้าน

(ที่มา : ไทยโพสต์, วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

ครม. รับทราบผลการจัดเก็บรายได้ปีงบประมาณ 2565 สูงกว่าเป้าหมาย 1.51 แสนล้านบาท อานิสงส์รายได้จากการจัดเก็บภาษีพุ่งกระฉูด พร้อมเคาะกรอบจัดทำยุทธศาสตร์งบประมาณปี 2567 ปักธง พ.ค.-มี.ค. 2566 ดันเข้าสภาพิจารณาวาระแรก

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565เห็นชอบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2564 ถึง 30 ก.ย.2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. รายได้แผ่นดินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำเงินส่งคลัง อยู่ที่2,551,223 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 151,223 ล้านบาท เนื่องจากมีรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ และรัฐพาณิชย์เพิ่มขึ้น

2. รายรับจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 652,553 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,447 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับลดกรอบวงเงินกู้

3. รายจ่ายตามงบประมาณ อยู่ที่2,900,727 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,717 ล้านบาท (ยังไม่รวมเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 190,556 ล้านบาท) เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณช้า ไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด

4. รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จำนวน 33,655 ล้านบาท

5. ดุลการรับ-จ่ายเงิน ประกอบด้วย 1.รายรับทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นจริง 3,203,775 ล้านบาท (รวมรายได้แผ่นดินที่ได้รับจริง 2,551,223 ล้านบาท และเงินกู้ฯ ที่รับจริง 652,553 ล้านบาท) 2.รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามประมาณ 3,148,060 ล้านบาท (รวมรายจ่ายงบประมาณตามงบประมาณ 2,900,727 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่จ่ายจริง (ปี 2564) 213,678 ล้านบาท และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง 33,655 ล้านบาท)

ทั้งนี้ รายรับสูงกว่ารายจ่าย 55,715 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสินค้าเข้า-ออก

.....................................................

 

2. ส่งสัญญาณตรึงค่าไฟ ช่วยกลุ่มเปราะบาง สุพัฒนพงษ์ ชี้มาตรการชัดเจนต้น ธ.ค.

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

“สุพัฒนพงษ์” ส่งสัญญาณหามาตรการตรึงค่าไฟช่วยกลุ่มเปราะบาง รายได้น้อยในงวดค่าไฟเดือน ม.ค.- เม.ย.ชี้มาตรการชัดเจนเดือน ธ.ค.นี้ สำนักงบฯเตรียม 6.8 พันล้านจ่ายอุดหนุนค่า FT งวดปัจจุบัน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างหามาตรการในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (FT) ในงวดเดือน ม.ค. – เม.ย.2566 ที่ยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมี 3 แนวทางในการปรับขึ้นค่าไฟ ทั้งนี้ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นยังไม่ได้ข้อสรุป โดยรัฐบาลยังมีนโยบายที่จะดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็รับฟังจากกลุ่มประชาชน และผู้ประกอบการทุกฝ่ายซึ่งรวมทั้งสภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมด้วย

ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และให้ส่วนลดกับประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน โดยแนวทางนี้ต้องมาประเมินว่าจะยังให้การช่วยเหลือเช่นเดิมหรือไม่ หรือว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์

“เรื่องค่าไฟฟ้าถือว่าเป็นเรื่องที่น่าหนักใจมากที่สุดในเรื่องเศรษฐกิจ เพราะแนวโน้มยังมีการปรับเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้แม้จะมี 3 แนวทางที่ กกพ.ออกมา แต่เมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นแล้วจะมีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดูแลอย่างไร อาจจะมีแนวทางที่ 4 5 หรือ 6 ก็ได้ ขอให้รอความชัดเจนในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งก็พยายามจะดูแลประชาชน รวมทั้งผู้ประกอบการให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

..................................................

 

3. ประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ปัดฝุ่นโครงการเสนอรัฐ สอดคล้อง BCG

(ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

‘ประชุมหอการค้าทั่วไทย “สนั่น อังอุบลกุล” นำผลประชุม APEC ผลักดันสู่แนวปฏิบัติ หอการค้า 5 ภาค รวบรวมผลสรุป “สมุดปกขาว” เสนอรองนายกรัฐมนตรี ปัดฝุ่นโครงการเก่า สอดคล้อง BCG หอภาคตะวันออกชงจัดงาน EEC Fair หอภาคกลางตั้งนิคม Food Valley หอใต้เสนอระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน หอภาคเหนือดันโครงการ NEC ประตูเชื่อมเพื่อนบ้าน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าฯได้จัดสัมมนา หอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 40 ในวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2565 ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยจะมีการรวบรวมและสรุปประเด็นแนวทางการผลักดันเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ “สมุดปกขาว” เพื่อยื่นให้กับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป

การจัดประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งนี้ ตนจะได้นำเสนอประเด็นว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Model) ที่เป็นผลจากการประชุม APEC ที่ผ่านมา เข้ามาหารือกับหอการค้าทั่วประเทศ โดยจะร่วมกันหาแนวทางการขับเคลื่อนตามความถนัดและความสามารถของแต่ละจังหวัด พร้อมทั้งเดินหน้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คนรุ่นใหม่ เพราะพิสูจน์แล้วว่าสามารถขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง

“พร้อมทั้งจะมีการหารือกันถึงการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ การดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ การผลักดันการขอใบอนุญาตให้เข้าสู่ระบบออนไลน์ การสร้างยุทธศาสตร์การค้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยมีเป้าหมายในปี 2566 ได้แก่ จีน, ซาอุดีอาระเบีย, ญี่ปุ่น, เวียดนาม และอินเดีย อย่างไรก็ดี แม้ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะยังมีความชะลอตัว แต่หอการค้ายังคงเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาส หลังจากการประชุม APEC ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เป้าหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะ ความตกลงเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific (FTAAP) ที่จะร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น

“นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องของการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน ไทยยังมีโอกาสขยายการค้า การส่งออก-ลงทุน พร้อมทั้งจะร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการขับเคลื่อนและดึงดูดการลงทุนต่อไป

........................................

 

4. “"ก๊าซกาตาร์" ที่พึ่งด้านพลังงานของจีน เซ็นสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว 27 ปี

(ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ, วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565)

บริษัทน้ำมัน ‘กาตาร์เอ็นเนอร์จี’ ได้เซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวแอลเอ็นจีกับ ‘ซิโนเปกคอร์ป’ บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของจีน ซึ่งเป็นสัญญาระยะยาวถึง 27 ปี เนื่องจากความผันผวนของพลังงานผลักดันให้บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่พยายามหาแหล่งซัพพลายระยะยาว

เป็นก้าวที่สำคัญของโครงการนอร์ทฟิลด์อีสของกาตาร์ (เอ็นเอฟอี) ที่ทำข้อตกลงซื้อขายพลังงานครั้งแรกกับบริษัทซิโนเปกของจีนถึง 4 ล้านตัน เป็นเวลา 27 ปี ถือเป็นการทำสัญญาระยะยาวและมีความสำคัญต่อของทั้งสองบริษัทมาก” ซาอัด อัลกาบี ประธานกาตาร์เอ็นเนอร์จี กล่าวในแถลงการณ์ ณ เมืองโดฮาและเสริมว่า สัญญานี้เป็นข้อตกลงซื้อขายที่ยาวที่สุดที่เคยมีมา และเป็นการส่งสัญญาณว่า บริษัทพลังงานเอเชียจำนวนมากกำลังเข้ามาหาเรา เพื่อทำข้อตกลงซื้อขายพลังงานในระยะยาว เนื่องจากปริมาณก๊าซในอนาคตกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ

“โครงการเอ็นเอฟอีเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งกาตาร์ดำเนินโครงการร่วมกับอิหร่าน และเรียกแหล่งพลังงานนี้ว่า ‘เซาท์ปาร์ส’ และเมื่อต้นปีนี้ โครงการเอ็นเอฟอีของกาตาร์เอ็นเนอร์จี ได้ทำข้อตกลงไป 5 สัญญาแล้ว

“ทั้งนี้ ในปี 2564 กาตาร์เป็นประเทศที่ผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจากสหรัฐ รัสเซีย อิหร่าน และจีน ตามลำดับ ทั้งยังเป็นเจ้าของแหล่งก๊าซธรรมชาติสำรองที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และยังเป็นผู้ส่งออกก๊าซอันดับ 3 ของโลกด้วย

............................................