ข่าวประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565

1. กรอ. ร่วมกับสมาคมเครื่องทำความเย็น ยกระดับการผลิต ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

(ที่มา : แนวหน้า, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565)

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีโรงงานที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นกว่า 3,000 โรงทั่วประเทศ สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ โรงงานผลิตน้ำแข็งหลอด โรงงานผลิตน้ำแข็งซอง โรงงานห้องเย็นและโรงงานแปรรูปอาหาร

จากการสอบสวนอุบัติเหตุการรั่วไหลของแอมโมเนียของโรงงานเหล่านี้ พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการขาดองค์ความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน และดูแลบำรุงรักษาระบบทำความเย็นอย่างถูกต้อง กรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมมือกับสมาคมเครื่องทำความเย็นไทย จัดงาน “THAI AMMONIA REFRIGERATION 2022” เพื่อยกระดับด้านความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้แก่อุตสาหกรรมที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น

โดยภายในงานมีหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจัดสัมมนาวิชาการนำเสนอเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ในระบบทำความเย็น เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการโรงงานนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดความปลอดภัย มีประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบ SMART REFRIGERATION เป็นต้น นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีล่าสุดจากบริษัทชั้นนำในระบบทำความเย็น อาทิ การนำเทคโนโลยี Low Charge Ammonia (NH3/CO2) ที่ใช้แอมโมเนียเพียง 21 กิโลกรัม ระบบการติดตามและสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เนต (Internet of Things : IoT) และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เทคโนโลยี Ammonia Heat Pump ซึ่งจะช่วยให้โรงงานใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสม ช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 10% และยังมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้ อีกทั้งแนะนำมาตรฐาน มอก.3023-2563 ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นแนวทางในการประกอบกิจการปฏิบัติงานได้อย่างสอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

.....................................................

 

2. บีโอไอยกทีมบุกญี่ปุ่น ดึงลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

(ที่มา : แนวหน้า, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565)

“นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 28-30 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ ประเทศญี่ปุ่น โดยจะเข้าร่วมหารือกับองค์กรสำคัญของรัฐและเอกชนหลายแห่ง เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศและการลงทุนของญี่ปุ่น(JETRO) หน่วยงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและนวัตกรรม (SMRJ) สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น(KEIDANREN) สมาพันธ์ธุรกิจคันไซ(KANKEIREN) หอการค้าและอุตสาหกรรมโอซาก้า (OCCI) และธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของญี่ปุ่น เพื่อหารือความร่วมมือในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย

พร้อมกันนี้เตรียมจัดสัมมนาใหญ่ 2 ครั้ง ณ กรุงโตเกียว และกรุงโอซากาในหัวข้อ “Thailand Investment Promotion Policy : NEW Economy, NEW Opportunities” โดยจะนำเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการอีอีซีและความพร้อมของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในการรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่น

“การเดินทางครั้งนี้จะเป็นการผนึกกำลังหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการสนับสนุนการลงทุนของประเทศไม่ว่าจะเป็นบีโอไอ อีอีซี และ กนอ. โดยเลือกญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก เนื่องจากเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ซึ่งญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งการส่งเสริมให้บริษัทญี่ปุ่นมาตั้งฐานด้านการวิจัยและพัฒนา และสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย นอกจากนี้ จะถือโอกาสแนะนำมาตรการส่งเสริมการลงทุนชุดใหม่ของบีโอไอ ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570)รวมถึงการแสดงศักยภาของพื้นที่อีอีซีและนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ที่พร้อมรองรับการลงทุนจากญี่ปุ่นด้วย” นายนฤตม์กล่าว

“ทั้งนี้ จากสถิติของบีโอไอในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560-กันยายน 2565) ญี่ปุ่นมีโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด จำนวน 1,371 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 474,790 ล้านบาทส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์เคมี โดยประเทศไทยถือเป็นแกนหลักในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

..................................................

 

3. S&P คงอันดับประเทศไทย BBB+ ความน่าเชื่อถือที่ระดับมีเสถียรภาพ

(ที่มา : ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565)

‘นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 บริษัท S&P Global Ratings (S&P) ได้คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) ที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1) การคลี่คลายของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตลอดจนการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของ COVID-19 และอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย และการที่ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างทั่วถึง เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการฟื้นตัวของภาค การท่องเที่ยวและการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดย S&P คาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 428,000 คนในปี 2564 เป็นประมาณ 10 ล้านคนในปี 2565 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ และเศรษฐกิจไทย (Real GDP) จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 2.9 ในปี 2565 เป็นเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 3.2 ในช่วงปี 2565 – 2568

2) ภาคการคลังมีเสถียรภาพ จากการลดการใช้จ่ายภาคการคลังตามสถานการณ์การระบาดที่คลี่คลาย รวมทั้งการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งหนี้ภาครัฐบาลสุทธิและต้นทุนการกู้เงินมีเสถียรภาพ จึงทำให้เศรษฐกิจแข็งแกร่งขึ้น ขาดดุลงบประมาณลดลง และหนี้ภาครัฐบาลจะทยอยลดลงในระยะ 3 ปีข้างหน้า

“3) ภาคการเงินต่างประเทศ พบว่าแม้ประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์การระบาดที่คลี่คลายส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเป็นปกติ ภาคการท่องเที่ยวของประเทศฟื้นตัว อีกทั้งทุนสำรองระหว่างประเทศและสภาพคล่องของไทยยังอยู่ในระดับสูงและแข็งแกร่ง S&P คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลเฉลี่ยร้อยละ 2.1 ของ GDP ในปี 2566 – 2568

“4) ปัจจัยสำคัญที่ S&P จะติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางสถานการณ์การเงินโลกและเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

........................................

 

4. “"จีน ติดโควิดพุ่งเกิน 31,000 คน สูงเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ล็อกดาวน์

(ที่มา : ข่าวสด, วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565)

โรคโควิด-19 หวนระบาดหนักใน ประเทศจีน อีกระลอก หลังจากคณะกรรมการด้านสุขภาพแห่งชาติแถลงว่าในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบผู้ป่วยใหม่รวม 31,454 คน ในจำนวนนี้ 27,517 คนมีผลตรวจหาเชื้อเป็นบวกแต่ไม่แสดงอาการ

ถือเป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศนับตั้งแต่พบการแพร่ระบาดของไวรัสมรณะเมื่อปี 2562 และสูงเกินสถิติผู้ป่วยใหม่สูงสุดก่อนหน้านี้ที่ 29,390 คน เมื่อช่วงกลางเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ป่วยสะสมเพิ่มเป็น 297,516 คน และเสียชีวิตอย่างน้อย 5,232 ราย

“ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการประท้วงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เนื่องจากทางการใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่คุมเข้มเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในหลายเมืองใหญ่

“รวมถึงการประท้วงดุเดือดที่โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ โรงงานสัญชาติไต้หวันผู้ผลิตสินค้าของแอปเปิ้ล บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ตอนกลางของจีน เมื่อวันพุธที่ 23 พ.ย. ต่อมาทางการท้องถิ่นเมืองเจิ้งโจวสั่งล็อกดาวน์หลายเขตเสี่ยง ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน และห้ามเดินทางข้ามพื้นที่ยกเว้นผู้มีผลตรวจเป็นลบ

............................................