ข่าวประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565

1. บีโอไอปิดดีลรถ EV อีก 4 ราย ยกเว้นภาษี 13 ปี กิจการยานยนต์ FCEV

(ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ, วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565)

บีโอไอ.เบียดเวียดนาม เตรียมชง พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามประกาศสิทธิยกเว้นภาษี 13 ปี ให้กิจการยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง Fuel Cell Electric Vehicles หรือ FCEV และกิจการลงทุนไฮเทคโนโลยี มีผล 3 มกราคม 2566 ลุ้นสร้างดีมานส์รถยนต์ไฟฟ้า ดึงโรงงานแบตเตอรี่ออกจากอินโดนีเซียเข้าไทย เผยมีค่ายรถอีวี 4 ราย เจรจาจบแล้ว ปีหน้าโรดโชว์ 200 ครั้ง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ ทำเนียบรัฐบาล ว่า เร็วๆ นี้ บอร์ดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบแผนการส่งเสิรมการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมไฮเทค รถยนต์อีวี เช่น กิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicles: FCEV) และกิจการผลิตอุปกรณ์สำหรับเซลล์เชื้อเพลิง กิจการสถานีบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping Station) กิจการผลิตไฮโดรเจนจากน้ำโดยใช้พลังงานหมุนเวียน รวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากไฮโดรเจน กิจการผลิตอาหารแห่งอนาคต กิจการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ

โดยมาตรการใหม่ดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จัดเป็นกลุ่ม A1+ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 10-13 ปี ในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง และกิจการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ประกอบด้วย ไบโอเทค นาโนเทค และเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูง ที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสถาบันการศึกษา

“เราให้ยกเว้นภาษีสูงสุด 13 ปี ไม่เคยมีการให้สิทธิประโยชน์สูงเท่านี้มาก่อน อุตสาหกรรมกลุ่มนี้ เวียดนามให้สิทธิประโยชน์ 15 ปี แต่ให้เป็นขั้นบันได สำนักงานบีโอไอ. มาตรการเราปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขณะนี้เตรียมแพ็กเกจ และเงื่อนไขการลงทุน เตรียมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานบอร์ดบีโอไอ ลงนามในประกาศ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ ให้นักลงทุนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ในการลงทุนได้ ในวันที่ 3 มกราคม 2566”

เลขาธิการ บีโอไอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของรัฐบาล คือ มาตรการกระตุ้นดีมานด์เพื่อสร้างตลาด โดยมีเป้าหมาย 30/30 คือ ในปี 2030 จะมีการผลิตอีวี 30 % ของยอดผลิต หรือ 725,000 คัน ต้องการแบตเตอรี่ 40 กิกกะวัตต์ เป็นที่มาของการดึงโรงงานแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ จากอินโดนีเซีย ให้มาลงทุนในประเทศไทย เพื่อตอบสนองดีมานด์ในอนาคต โดยคาดว่ายอดจดทะเบียนในปีนี้ถึงปีหน้า ประมาณ 2-3 หมื่นคัน โดยบรรดาค่ายรถยนต์อีวี จากจีนจะมาคุยกับบีโอไอเป็นด่านแรกทุกครั้ง เวลาจะตัดสินใจมาลงทุน ในระยะข้างหน้า ยังมีหลายบริษัทเตรียมเข้ามาเจรจา เพราะรถไฟฟ้าจีนมีประมาณ 100 แบรนด์

.....................................................

 

2. เอกชนฟันธงส่งออกไทยปี 2566 ขยายตัวแค่ 2-3%

(ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ, วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565)

“เอกชนไทยฟันธงส่งออกปี 66 โต 2-3% ส่วนไตรมาส4ปี65คาดตัวเลขติดลบ 3% เป็นครั้งแรกจากสัญญาณชะลอตัวลงอย่างชัดเจนของศก.โลกที่ถดถอย ด้านสภาพัฒน์ฯ-ธสน. มองส่งออกไทยปี 66 โตแค่ 1-2% จาก IMF ปรับลดลงประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกเหลือ 2.7% อ่อนแอสุดในรอบ 21 ปี

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยว่าส่งออกไทยในปี2565 สรท.มั่นใจว่าจะขยายตัวที่ 7-8% ส่วนปี 2566 จะขยายตัวเพียง 2-3% หรือคิดเป็นมูลค่า 303,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีระดับความเสี่ยงเพิ่มเป็นเสี่ยงสูงจากปีนี้ที่อยู่ในระดับเสี่ยงปานกลาง ปัญหาเงินเฟ้อที่หลายประเทศยังคงเจอภาวะเงินเฟ้อที่สูงรวมถึงค่าเงินบาทที่มีความผัวผวนมากในขณะนี้ นอกจากนี้ราคาสินค้าและพลังงานที่ยังแพงต่อเนื่อง ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนชิปยังคงมีต่อเนื่อง รวมถึงความกังวลการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่กลับมา รวมทั้งปีหน้าประเทศต่างๆจะนำกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม และแรงงาน มาใช้ในการกีดกันทางการค้ามากขึ้นด้วย ดังนั้นการส่งออกไทยปี 2566แม้ว่าจะยังมีโอกาสขยายตัวจากการที่ค่าระวางเรือปีหน้าจะปรับลดลง 37% ตามราคาน้ำมันที่ลดตามความต้องการใช้ที่หดตัวจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ขณะที่ปัญหาขาดแคลนคอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลาย แต่ผู้ส่งออกยังคงต้องปรับปรุงสินค้ามีให้มีนวัตกรรมมากขึ้น เร่งเจาะตลาดเกิดใหม่ๆ และกลุ่ม BIMSTEC ใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้มากขึ้น รวมทั้งเร่งทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

“ด้านนางสาว อานันท์ชนก สกนธวัฒน์ผู้เชี่ยวชาญด้านแบบจำลองเศรษฐกิจ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% จากการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคและลงทุนเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นมาก ส่วนเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงเพราะประเทศพัฒนาแล้วมีเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เงินเฟ้อโลกยังสูง โดยในเดือน ต.ค. ประเทศยูโรโซนอยู่ที่10.6% สหรัฐฯอยู่ที่ 7.8% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่าสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอีก 1-2 ครั้ง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 รวมทั้งอาจเกิดปัญหาวิกฤติพลังงานในอียูจากความขัดแย้งสงคราม ขณะที่จีนอาจจะฟื้นตัวช้าจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งปัญหาหนี้สินในภาคอสังหาฯของจีน ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันปีหน้าคาดว่าจะปรับลดลงเหลือ 85-95 ดอลลาร์สหรัฐ/บาเรลจากเศรษฐกิจโลกหดส่วนอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลง 35.5-36.5บาท/ดอลลาร์สหรัฐ” นายนฤตม์กล่าว

““ปีหน้าเศรษฐกิจโลกชะลอ สภาพัฒฯ มองว่าการส่งออกปี 2566 จะเติบโตได้ 1% ลดลงจากปีนี้ที่คาดว่าจะโต 7.5% ภายใต้จีดีพีที่ 3-4% อัตราเงินเฟ้อ 2.5-3.5% แต่มั่นใจว่าปีหน้าการลงทุนภาครัฐจะปรับตัวดีขึ้น” ขณะที่นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรีรองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) กล่าวว่าส่งออกไทยปี 2566 จะชะลอลงเหลือ 2% เนื่องจากไอเอ็มเอฟปรับลดลงประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกเหลือ2.7% ถือว่าอ่อนแอที่สุดในรอบ 21 ปี แต่แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอแต่การส่งออกไทยยังโตได้เพราะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอ เป็นผลมาจากการใช้มาตรการบริหารนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางของแต่ละประเทศเศรษฐกิจโลกไม่ได้ชะลอตัวจากปัญหาวิกฤติ นอกจากนี้ เศรษฐกิจของเอเชีย โดยเฉพาะ อินเดียและอาเซียน เช่น กัมพูชา เวียดนาม ยังเติบโตแบบโดดเด่น ซึ่งยังเป็นโอกาสส่งออกของไทย

..................................................

 

3. ยอดผลิตรถยนต์เพิ่ม รวม 10 เดือน ผลิต 1.53 ล้านคัน ยังกังวลปัญหาชิพขาดแคลน

(ที่มา : แนวหน้า, วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565)

‘ขณะนี้ยอดผลิตรถยนต์ 10 เดือน มีจำนวนกว่า 1.53 ล้านคันแล้ว ส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์ปี 2565 น่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 1.75 ล้านคัน โดยเป็นยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 8.5 แสนคัน เป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 9 แสนคัน และหากผู้ผลิตได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์(ชิพ) มากขึ้นต่อเนื่องถึงสิ้นปีก็มีโอกาสที่จะผลิตได้สูงถึงเป้าหมายเดิมที่เคยวางไว้เมื่อตอนต้นปี 1.8 ล้านคันหรืออาจจะมากกว่าต้องมาลุ้นอีกครั้ง เนื่องจากยังมีความกังวลหลังจากจีนเริ่มประกาศล็อกดาวน์อีกครั้งกลัวทำให้เกิดการขาดแคลนชิพอีกครั้ง จึงทำให้ยังไม่มีการปรับเป้ายอดผลิตใหม่ในครั้งนี้

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ได้เดือนต.ค. 2565มีทั้งสิ้น 170,717 คัน เพิ่มขึ้น 10.83% จากเดือนต.ค. 2564 เนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 9.75% เพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นในรถยนต์นั่งบางรุ่น ทำให้ ผลิตเพื่อส่งออกมีสัดส่วนถึง 57.13% ของยอดผลิตทั้งหมด และผลิตเพื่อขายในประเทศเพิ่มขึ้น 12.31% จากเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว แต่ลดลง 4.75% จากเดือน ก.ย. 2565 ส่งผลให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.2565) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,534,754 คันเพิ่มขึ้น 12.36% จากช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้เป็นการผลิตเพื่อส่งออกเดือน ต.ค.2565 ได้ 97,832 คัน มีสัดส่วน 57.31% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก ต.ค. 2564 ที่ 9.75% ส่งผลให้ 10 เดือนผลิตเพื่อส่งออกได้ 844,206 คัน เท่ากับ 55.01% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 7.02 % จากช่วงเดียวกันปี 2564 ขณะที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ต.ค. 2565 ผลิตได้ 72,885 คัน มีสัดส่วน 42.69% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 12.31% จากต.ค. 2564 ทำให้ 10 เดือนผลิตได้ 690,548 คัน เท่ากับ 44.99% ของยอดการผลิตทั้งหมดเพิ่มขึ้น 19.65% จากช่วงเดียวกันปี 2564

สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศ ต.ค. 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 64,618 คันเพิ่มขึ้น 0.24% จาก ต.ค. 2564 ที่ 0.24% โดยเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติเข้าประเทศสะดวกขึ้น ทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ คนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเช่นคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การส่งออกยังคงเติบโต การประกันรายได้เกษตรกร การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการออกรถยนต์รุ่นใหม่ แต่ลดลง 12.86% จากเดือนก.ย. 2565 โดย 10 เดือนรถยนต์มียอดขาย 698,305 คัน เพิ่มขึ้น 17.09% จากช่วงเดียวกันปี 2564

นายสุรพงษ์กล่าวว่า การส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนต.ค. 2565 ส่งออกได้ 94,228 คัน เพิ่มขึ้น 15.51% จากต.ค. 2564 โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกรถยนต์นั่ง รถ PPV และรถกระบะ ที่ได้รับชิ้นส่วน เซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้นในรถยนต์นั่งและรถ PPV บางรุ่น จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และตลาดแอฟริกา แต่ลดลง 6.14% จาก ก.ย. 2565 และมีมูลค่าการส่งออก 84,917.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.91% จาก ต.ค. 2565

นอกจากนี้ในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดง ประเภทไฟฟ้าแบตเตอรี่(BEV) เดือนต.ค.2565 มียอดจดทะเบียนใหม่ 1,960 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 288.89% รวมยอดสะสม 26,527 คัน เพิ่มขึ้น162.25% ประเภทไฟฟ้าไฮบริด (HEV) มี 5,036 คัน เพิ่มขึ้น 121.65% รวมยอดสะสม 250,743 คัน เพิ่มขึ้น 30.86% ประเภทไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน (PHEV) มี 899 คัน เพิ่มขึ้น 84.98% รวมยอดสะสม 40,790 คัน เพิ่มขึ้น 35.38%

........................................

 

4. รัสเซียขู่ไม่ส่งน้ำมัน-ก๊าซ ให้ประเทศที่สนับสนุนนโยบายกำหนดเพดานราคาพลังงาน

(ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565)

รัสเซียยืนยันจะไม่จัดหาน้ำมันและก๊าซให้กับประเทศที่รองรับมาตรการกำหนดเพดานราคาพลังงานที่ประเทศกลุ่ม G7 เสนอ โดยมาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียเกิดขึ้นในการประชุม G7 ซึ่งมีทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่ต้องการกำหนดเพดานราคาน้ำมันส่งผ่านทางทะเลของรัสเซียภายในวันที่ 5 ธ.ค.นี้

รอยเตอร์ รายงานว่า ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย เปิดเผยว่า รัสเซียจะไม่ส่งน้ำมันและก๊าซให้ประเทศที่สนับสนุนนโยบายกำหนดเพดานราคาพลังงาน แต่จะตัดสินใจขั้นสุดท้าย หลังจากวิเคราะห์ตัวเลขต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว โดยการประชุมกลุ่ม G7 ที่มองหาเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ระดับ 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าในเวลานี้สมาชิกสหภาพยุโรปจะยังตกลงกันไม่ได้เรื่องเพดานราคา และอยู่ระหว่างการเจรจาที่กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียมก็ตาม นายเปสคอฟกล่าวว่า “ณ ตอนนี้เรายืนหยัดตามจุดยืนของประธานาธิบดีปูติน ที่จะไม่จัดหาน้ำมันและก๊าซให้กับประเทศที่จะกำหนดเพดานราคาและเข้าร่วมนโยบายนี้… แต่เราต้องวิเคราะห์ทุกอย่างก่อนที่จะกำหนดตำแหน่งของเรา”

“รอยเตอร์ รายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการยุโรป หรืออียูในสัปดาห์นี้ที่กรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม ยังมีการถกเถียงที่ไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการกำหนดราคาน้ำมันจากรัสเซีย ตามโครงการที่กลุ่มประเทศ G7 เสนอ โดยการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงเกินไปสำหรับบางประเทศและต่ำเกินไปกับอีกบางประเทศ มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียเกิดขึ้นในการประชุม G7 ซึ่งมีทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ที่ต้องการกำหนดเพดานราคาน้ำมันส่งผ่านทางทะเลของรัสเซียภายในวันที่ 5 ธ.ค.นี้

“โดยมาตรการจำกัดเพดานรับซื้อราคาน้ำมันรัสเซีย เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตร เพื่อทำโทษรัฐบาลรัสเซียให้มีรายได้จากการส่งน้ำมันลดลง โดยหวังผลให้รัสเซียมีทรัพยากรหรือทุนรุกรานยูเครนลดลงแต่ระดับเพดานราคาน้ำมันที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกัน มีโปแลนด์ ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ที่คิดว่าราคา 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะทำให้รัสเซียมีกำไรสูงเกินไป เนื่องจากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ไซปรัส กรีซ และมอลตา ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมการเดินเรือขนาดใหญ่ที่จะสูญเสียมากที่สุดหากสินค้าน้ำมันของรัสเซียถูกกีดขวาง คิดว่าเพดานราคาที่เสนอนี้ต่ำเกินไป และต้องการค่าชดเชยสำหรับการสูญเสียธุรกิจหรือต้องใช้เวลามากขึ้นในการปรับเปลี่ยน

“นักการทูตสหภาพยุโรปกล่าวว่า ประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม G7 อย่างฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นผู้นำ สนับสนุนการกำหนดเพดานราคา แต่กังวลเรื่องความสามารถในการบังคับใช้

............................................