ข่าวประจำวันที่ 18 มกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. ก.อุตฯ พัฒนาจยย.ไฟฟ้า-เครื่องสำรองไฟ จากซากแบตฯอีวี หนุนธุรกิจใหม่ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 18 มกราคม 2566)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ MIND ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการพัฒนาและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ภายใต้นโยบาย BCG Model (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) และจากการขยายตัวของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรการส่งเสริมของรัฐบาล รวมทั้งการผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้เตรียมความพร้อมรองรับการจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีในจัดการแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้วได้อย่างครบวงจรทั้งการ Reuse และ Recycle โดยเซลล์ (Cells) และโมดูล (Modules) ในแบตเตอรี่ฯ ที่ยังคงมีประสิทธิภาพสูง กพร. ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) พัฒนาเทคโนโลยีนำกลับมาใช้เป็นแหล่งพลังงาน (Second Life EV Batteries) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านเรือน สำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งได้พัฒนาต้นแบบรถกอล์ฟไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้า จักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) และเครื่องสำรองไฟ (UPS) ที่ใช้แบตเตอรี่จากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใช้งานแล้ว ทั้งนี้ ผลการทดสอบคาดว่า แบตเตอรี่ดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 8 ปี หรือใกล้เคียงกับอายุการใช้แบตเตอรี่ใหม่ในรถยนต์ไฟฟ้าเดิม สำหรับแบตเตอรี่ฯ ที่ไม่สามารถนำมา Reuse กพร. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) พัฒนาเทคโนโลยีในการ Recycle โดยสามารถแยกสกัดลิเทียมและโคบอลต์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ทางสหภาพยุโรป (EU) จัดเป็นวัตถุดิบประเภทที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หรือ Critical Raw Materials (CRM) ออกมาใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนต้นแบบที่ใช้ลิเทียมที่ได้จากการ Recycle แบตเตอรี่ฯ เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งผลงานดังกล่าวทั้ง 2 เทคโนโลยี นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกในไทย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า กพร. ได้ส่งเสริม พัฒนา และถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยผลงานครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง กพร. และ สจล. ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการรองรับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สามารถรักษาตำแหน่งการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และก้าวไปสู่ฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตได้ รวมทั้งเป็นคำตอบที่สำคัญของการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต สร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ (New Business Model) ตลอดห่วงโซ่มูลค่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. สอท. เปิด 17 อุตฯ สดใส จี้อีกดูแลค่าไฟต่อเนื่อง (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 18 มกราคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้สำรวจแนวโน้ม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 5 ภูมิภาค ปี 2566 เทียบกับปี 2565 ของ ส.อ.ท. พบว่า 17 กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม, การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, เครื่องจักรกลและโลหะการ, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, ดิจิทัล, น้ำตาล, ผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์, ผู้ผลิตไฟฟ้า, พลังงานหมุนเวียน, เฟอร์นิเจอร์, ยา, ยานยนต์, โรง กลั่นน้ำมันปิโตรเลียม, หล่อโลหะ, หลังคาและอุปกรณ์, เหล็ก, อาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากการท่องเที่ยวหลังจากที่จีนเปิดประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะกำลังซื้อในประเทศที่จะสูงขึ้นทำให้ดีมานด์สินค้าสูง และมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาครัฐ ขณะที่มี 21 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ทรงตัว เช่น ก๊าซ, แก้ว และกระจก, เครื่องจักรกลการเกษตร เป็นต้น ส่วนอีก 7 อุตสาหกรรมที่ชะลอตัว ได้แก่ อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน, ปิโตรเคมี, สมุนไพร

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวล คือ ค่าไฟฟ้าอุตสาหกรรมงวดมกราคม - เมษายน 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 5.33 บาทต่อหน่วยหรือเพิ่มขึ้น 13% ที่สะท้อนจากดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2565 ที่อยู่ระดับ 92.6 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 7 เดือน จึงเห็นว่ารัฐจำเป็นต้องดูแลต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อรักษาขีดความสามารถการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

 

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์

กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)

3. อมตะชี้ต่างชาติมาต่อเนื่อง (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 18 มกราคม 2566)

 

นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปี 2566 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะการพัฒนาดาต้า  เซ็นเตอร์ ที่นักลงทุนเริ่มใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมากขึ้น ทั้งนี้ อมตะเห็นการกลับมาของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตจักรยานยนต์ การพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนที่จะเข้ามาทั้งนิคมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง และนิคมอมตะซิตี้ จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์นักลงทุนเริ่มใช้ประเทศไทยเป็นฐานมากขึ้น ขณะเดียวกันนิคมของอมตะยังมีระบบสาธารณูปโภคเพียงพอ เพื่อการรองรับ โดยเฉพาะไฟฟ้าที่เรามีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง รวมถึงการพัฒนาไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ประเมินแนวโน้มธุรกิจสาธารณูปโภค น้ำ และไฟฟ้า มีการเติบโตต่อเนื่อง จากการลงทุนใหม่ และฐานการผลิตเดิมที่มีการพิจารณาจากปัจจัยบวกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ได้แก่ การเปิดประเทศของจีน ซึ่งไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) มีการปรับสิทธิประโยชน์ของไทยให้ดึงดูกนักลงทุนมากขึ้น

 

ข่าวต่างประเทศ

A blue flag with yellow stars

Description automatically generated with medium confidence

 

4. อียูเร่งปกป้องศก.ลดผลกระทบกม.สหรัฐ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 18 มกราคม 2566)

สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยว่า ได้มีการประกาศจะใช้มาตรการป้องกันอุตสาหกรรมในยุโรป หลังจากสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายลดเงินเฟ้อ (ไออาร์เอ) ที่จะอุดหนุนเงินราว 3.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียว รวมถึงการลดภาษีในสินค้าประเภทรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เมื่อปีที่ผ่านมา ควบคู่กับนโยบายซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศของสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการจ้างงาน ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในภาคส่วนยานยนต์และพลังงานในอียู ทั้งนี้ อียูได้วิจารณ์กฎหมายดังกล่าวอย่างมาก และมีความพยายามที่จะเจรจากับสหรัฐหลายครั้งแต่ไม่มีความคืบหน้า ขณะที่ชาติสมาชิกอียูกลับเสียงแตกในด้านวิธีการที่จะตอบโต้ โดยส่วนหนึ่งที่รวมถึงฝรั่งเศสเรียกร้องให้อียูใช้มาตรการเงินอุดหนุนบ้าง โดยทางด้านนายเปาโล เจนตีโลนี กรรมาธิการยุโรปด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า อียูจะใช้มาตรการที่เด็ดขาดในการปกป้องความสามารถในการแข่งขันของยุโรป ปรับปรุงกฎด้านการช่วยเหลือรัฐ และหลีกเลี่ยงการแบ่งแยกในตลาดอียู ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกองทุนอธิปไตยของยุโรป แต่คงต้องใช้เวลาสักระยะในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านบรูโน เลอแมร์ รัฐมนตรีการเงินฝรั่งเศส กล่าวว่า อียูไม่มีเวลาให้สูญเสียไปกับการกำหนดนโยบายใหม่ของยุโรป เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว และกระตุ้นธุรกิจต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในยุโรป แต่เรียกร้องให้ลดความซับซ้อนในกรอบการทำงานด้านการช่วยเหลือชาติต่างๆ ในยุโรปลง รวมถึงให้เงินอุดหนุนในด้านเทคโนโลยีและพลังงานสีเขียวมากขึ้น สำหรับชาติอียูบางส่วนกลัวว่าการตอบโต้แบบรุนแรงอาจกระตุ้นสงครามการค้า ขณะที่ส่วนที่เหลือกังวลว่ามาตรการเงินอุดหนุนในอียูจะเอื้อประโยชน์แก่ชาติที่ร่ำรวย ซึ่งอียูหวังว่าจะสามารถหาทางออกในการตอบโต้มาตรการของสหรัฐนี้ได้ก่อนการประชุมสุดยอดในเดือนหน้า (เอเอฟพี)

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)