ข่าวในประเทศ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. ค่าไฟดันต้นทุนผลิตพุ่ง 4.88% อุตฯเหล็กหนักสุดรองลงมาคือซีเมนต์ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 มกราคม 2566)
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถานการณ์ทิศทางราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้น และเป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาพลังงานจะมีผลกระทบในระยะยาว ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ทำการศึกษาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม พบว่า การขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.88% ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า รองลงมา ได้แก่ ซีเมนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องแต่งกาย และเซรามิก ทั้งนี้ ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ. ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่อภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากการศึกษาพบว่า การขึ้นค่าไฟฟ้าที่อัตรา 5.33บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเพิ่มขึ้น 12.41% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้น 9.47% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มขึ้น 8.96% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตเพิ่มขึ้น 8.14% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้น 7.98% และต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเซรามิกเพิ่มขึ้น 6.49%
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยใช้ข้อมูลดัชนีการส่งสินค้ารายเดือน (Shipment Index) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีอัตราการขยายตัวของดัชนีการส่งสินค้าในแต่ละเดือนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ
นายสินิตย์ เลิศไกร
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์
2. สินค้า GI ทำเงิน 4.8 หมื่นล้าน พาณิชย์ตั้งเป้าปี 66 ขึ้นทะเบียนอีก 20 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 มกราคม 2566)
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปี 2565 ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ไทยทะลุเป้า เพิ่มอีก 25 สินค้า พร้อมส่งเสริมการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าขยายช่องทางการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันทางการค้า สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเสริมสินค้า GI ไทยอย่างครบวงจร เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนสินค้า GI ไทย ให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของไทยให้เข้มแข็ง โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย 25 สินค้า อาทิ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ข้าวหอมกระดังงานราธิวาส ไชโป้วโพธาราม พุทรานมบ้านโพน และผ้าไหมปักธงชัย เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าท้องถิ่นไทยที่ขึ้นทะเบียน GI ทั้งสิ้น 177 สินค้า สร้างมูลค่าการตลาดกว่า 48,000 ล้านบาท รวมทั้งผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ ได้แก่ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูนในประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ยังได้จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI พร้อมพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้า GI สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ตอบสนองความต้องการของตลาด ตลอดจนขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้า GI ได้อย่างกว้างขวาง
อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายการส่งเสริมสินค้า GI ไทยในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์พร้อมผลักดันการขึ้นทะเบียน GI ไทยอีก 20 สินค้า เร่งรัดคำขอขึ้นทะเบียน GI ในต่างประเทศ จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้า GI ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 15 สินค้า รวมถึงจัดงานส่งเสริมและขยายช่องทางการตลาดทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ไทย ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการดึงทรัพยากรที่มีศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์มาใช้ในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี
รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
3. กอน.เคาะราคาขั้นสุดท้ายปี'64/65 ชาวไร่อ้อยรับ 1,106.40 บาท/ตันอ้อย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 19 มกราคม 2566)
นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่มีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ ในการดูแลชาวไร่ตลอดจนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ รวมทั้งแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาอ้อยตามนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีวาระหลักคือการกำหนดราคาอ้อย ขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2564/2565 เฉลี่ยทั่วประเทศ ที่ราคา 1,106.40 บาท/ตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. เพิ่มขึ้นจากราคาอ้อยขั้นต้น ฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 ที่ราคา 1,070 บาท การกำหนดราคาดังกล่าวจะทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายรับเพิ่มขึ้น 36.40 บาท/ตันอ้อย และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ที่ราคา 474.17 บาท/ตันอ้อย การที่ชาวไร่มีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถเพิ่มกำลังซื้อในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง ส่วนการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 อยู่ระหว่างการพิจารณา จากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ก่อนสรุปตัวเลขเสนอ กอน. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กอน. ได้เน้นย้ำถึงการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองของประเทศที่เกิดจากการเผาอ้อย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้กำหนดเป้าหมายลดการเผาอ้อยในฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 เป็น 0% โดยเน้นให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาลร่วมมือกับภาครัฐดำเนินการเพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับคนไทย อัปเดตล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2565 - 15 มกราคม 2566 พบว่า มีปริมาณอ้อยเข้าหีบแล้วกว่า 32 ล้านตันอ้อย และในจำนวนนี้เป็นอ้อยที่ถูกลักลอบเผากว่า 9.2 ล้านตันอ้อย หรือคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 28.73% ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวถือเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างวิกฤต และสะท้อนชัดเจนว่ามีชาวไร่และโรงงานน้ำตาลจำนวนหนึ่งที่ไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น กระทรวงจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการกับเกษตรกรชาวไร่ที่ลักลอบเผา และโรงงานน้ำตาลที่สนับสนุนการเผา
ข่าวต่างประเทศ
4. ศก.จีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2566 (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 19 มกราคม 2566)
ซีเอ็นบีซี เปิดเผยว่า นักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในปี 2566 แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญอย่างการบริโภคในประเทศ เนื่องจากความต้องการทั่วโลกหดตัว โดยเฉพาะในกลุ่มชาติตะวันตกที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าการเปิดประเทศจะทำให้การบริโภคในจีนฟื้นตัวแบบ “วีเชฟ” รับแรงหนุนจากการที่คนจีนแห่ออมเงินในช่วงก่อนหน้านี้ และภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังฟื้นตัว โดยจีดีพีจีนเติบโต 3% ในปีที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนคาดการณ์ไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สำหรับปัจจัยที่ฉุดให้จีดีพีเติบโตต่ำสุดในรอบ 50 ปี ได้แก่ นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่เลวร้ายลง และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนักวิเคราะห์จาก KraneShares กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวอย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่การเปิดประเทศ และการไหลเข้าของเงินทุนในภาคอสังหาฯ ที่กำลังฟื้นตัว กลับช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างมาก และจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยรัฐบาลจีนให้คำมั่นเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมาว่าจะให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูอุปสงค์ในประเทศเป็นอันดับแรก
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)