ข่าวประจำวันที่ 23 มกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ตั้งเป้าหมายให้คนไทยดีขึ้น (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2566)

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรม จัดโครงการและกิจกรรมเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2566 ให้กับผู้ประกอบการและคนไทยทั้งประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงก่อนสิ้นปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดตัวปลัดคนใหม่ อย่าง “ณัฐพล รังสิตพล” ที่มาพร้อมกับนโยบายของกระทรวงฯ ซึ่งเปลี่ยนโฉมให้เป็น MIND ซึ่งได้เตรียมผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยพัฒนาด้วยความยั่งยืนทุกกิจกรรม และโครงการที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้ประกอบการในทุกระดับ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งชุมชน สังคม และอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วยกัน โดยแนวทางดังกล่าวมีดังนี้ มิติที่ 1 มุ่งสร้างความสำเร็จให้ภาคธุรกิจ โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มีนโยบายยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน 2566 ขณะที่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ด้านกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม เดินหน้าจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ “ซื้อของไทย ใช้ของดี สร้างอาชีพ เสริมธุรกิจที่ดีพร้อม” ทั่วประเทศ มิติที่ 2 การดูแลสังคมโดยรอบโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งการให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ จัดโครงการเหมืองแร่ปลอดภัย ห่วงใยประชาชน ต่อเนื่องปีที่ 6 มิติที่ 3 ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดมลพิษที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม และในมิติที่ 4 ของขวัญจากกระทรวงอุตสาหกรรมถึงประชาชน เน้นกระจายรายได้ให้กับประชาชน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น ดีพร้อม จัดโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อมภายใต้กลไก “คนชุมชนดีพร้อม”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากการดำเนินงานทั้ง 4 มิตินี้จะทำให้ประชาชนคนไทย รวมถึงผู้ประกอบการไทยนั้น มีศักยภาพและมีชีวิตที่ดีขึ้นตลอดทั้งปี 2566 นี้ โดยการตั้งเป้าหมายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่เรื่องดีๆ นั้นก็ไม่ใช่มีแค่ตัวบุคคลเท่านั้น แต่องค์กรต่างๆ ก็ต้องอาศัยปีใหม่นี่แหละในการตั้งเป้าหมายการดำเนินงานใหม่ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้กับบุคลากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทิศทางการทำงานไปในแนวทางเดียวกัน

 

นายสินิตย์ เลิศไกร

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2. ไทยขาดดุลยับ 9 แสนล้านบ. (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2566)

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สถิติการค้าของไทยกับประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซป) หลังเปิดใช้ครบ 1 ปีแรก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2565 พบว่าไทยมีการขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าที่เป็นสมาชิกกว่า 9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ไทยส่งออกไปประเทศสมาชิกอาร์เซปมูลค่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 4.8 ล้านล้านบาท และยอดนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาร์เซป มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 5.7 ล้านล้านบาท โดยการนำเข้าส่วนใหญ่ของไทยมาจากบรูไน ออสเตรเลีย และเมียนมา เป็นอันดับต้น ส่วนการส่งออกส่วนใหญ่เป็นประเทศกลุ่มอาเซียน อย่างอินโดนีเซีย กัมพูชา และสิงคโปร์ เป็นตลาดส่งออกอันดับต้น รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ และออสเตรเลีย หรับประเทศที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลง อาร์เซป ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่น โดยรายการสินค้าที่ขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกสูง เช่น น้ำมันหล่อลื่น ปลาทูน่ากระป๋อง มันสำปะหลังเส้น ทุเรียนสด น้ำมันรำข้าว ผงสิ่งทอ และปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง เป็นต้น ขณะที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงอาร์เซป นำเข้าสินค้าจาก จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มากตามลำดับ โดยสินค้าที่ไทยใช้สิทธิประโยชน์ในการนำเข้าสูง เช่น ด้ายใยยาวสังเคราะห์ ไม้อัดพลายวูด ส่วนประกอบเครื่องยนต์ โพลิเมอร์ ของเอทิลีน ในลักษณะขั้นปฐม และองุ่นสดหรือแห้ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ความตกลงอาร์เซป ได้ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการไทยในการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกเพิ่มเติมจากความตกลงเอฟทีเอที่ไทยมีกับประเทศเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเอฟทีเอ แบบสองฝ่าย หรือเอฟทีเอ ในกรอบอาเซียน นอกจากประโยชน์จากการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรเพิ่มเติมแล้ว ผู้ประกอบการยังจะได้ประโยชน์จากเรื่องกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาร์เซป กับการอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ เป็นช่องทางที่ช่วยให้การตรวจปล่อยสินค้าที่ด่านศุลกากรมีความรวดเร็วขึ้นภายใน 6 ชั่วโมง สำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย และไม่เกิน 2 วัน สินค้าปกติ ทั้งนี้ อาร์เซป นับเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ ที่ครอบคลุมราว 30% ของจีดีพีโลก ซึ่งอาเซียนเสนอ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกและการค้ากับพันธมิตรในข้อตกลงเขตการค้าเสรี ประกอบด้วยสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม พร้อมด้วยคู่ค้าอาเซียนอีก 5 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการขจัดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมการลงทุน เพื่อช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก้าวทันประเทศอื่นในโลกได้

 

นายวีระพงศ์ มาลัย

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

3. สสว.ปั้นเอสเอ็มอี จับคู่บริการเพิ่มศักยภาพธุรกิจ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2566)

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้เปิดกิจกรรม "BDS Matching Day" ส่งเสริมผู้ประกอบการแบบมุ่งเป้าในระยะที่ 2 ต่อยอดโครงการ "SME ปัง ตังได้คืน" หรือ BDS ต่อเนื่องจากปี 2565 ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงบริการต่างๆ เช่น มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน(ISO) หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตสินค้าเป็นข้อกำหนดต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการผลิตและควบคุมคุณภาพ(GMP) เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2,100 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากกว่า 370 ล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการภาคการผลิต (ขนาดกลาง) ที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท และภาคธุรกิจอื่นๆ รายได้ไม่เกิน 200 ล้านบาท สามารถรับบริการได้และเงินอุดหนุนจากสสว. 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ผู้ประกอบการภาคการผลิต (ขนาดเล็ก)ที่มีรายได้ไม่เกิน 40 ล้านบาท และภาคธุรกิจอื่นรายได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท สสว.สนับสนุนไม่เกิน 100,000 บาท และผู้ประกอบการภาคการผลิต (ขนาดย่อม)ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท สสว. สนับสนุนไม่เกิน 50,000 บาท โดยปีนี้ สสว.จะเน้นส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติม 2 ด้าน คือ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ กับการพัฒนาและบริการจัดการธุรกิจ รวมกับหมวดการให้บริการที่เปิดอยู่แล้ว 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ และด้านการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายและการตลาด และด้านการพัฒนาตลาดต่างประเทศรวมเป็น 5 หมวดการให้บริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับประโยชน์โดยตรง เป็นเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลหรือจดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐเน้นสาขาธุรกิจของระบบเศรษฐกิจของประเทศและมีความเร่งด่วนในการส่งเสริม

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ มีแผนขยายพื้นที่การจัดกิจกรรมทั่วประเทศ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการพัฒนาที่ตรงตามความต้องการ ทำให้มีความพร้อมในด้านมาตรฐาน ช่วยเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการประกอบธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ หรือลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เป็นการสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมและพัฒนา MSME ระหว่างกัน

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ซาอุ ยืนหนึ่งขายน้ำมันให้จีน (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 23 มกราคม 2566)

ข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) เปิดเผยว่า จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้น 8% ในปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยปริมาณปรับตัวขึ้น     มาแตะที่ระดับ 86.25 ล้านตัน หรือเท่ากับ 1.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานว่า น้ำมันดิบรัสเซียมีการซื้อขายในราคาต่ำกว่าตลาดโลก อันเป็นผลจากการคว่ำบาตรของกลุ่มชาติตะวันตก เนื่องจากการรุกรานยูเครน ซึ่งรัสเซียเรียกว่าเป็นปฏิบัติการพิเศษทางทหาร ทั้งนี้ จีนซึ่งปฏิเสธการประณามการกระทำของรัสเซียที่มีขึ้นในยูเครน และสั่งซื้อน้ำมันจากรัสเซียเพิ่มมากขึ้นพร้อมทั้งยังเพิกเฉยต่อการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่บังคับใช้กับน้ำมันรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2565 โดยในเดือนเดียวกันนั้นเอง จีนได้ซื้อน้ำมันดิบ 6.47 ล้านตันจากรัสเซีย หรือ 1.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน เทียบกับ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปี 2564

อย่างไรก็ตามด้านซาอุดีอาระเบียส่งออกน้ำมันให้จีนรวม 87.49 ล้านตัน ในปี 2565 หรือเท่ากับ 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกันกับเมื่อปี 2564 ในขณะที่การนำเข้าน้ำมันจากมาเลเซียเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัวในปี 2565 แตะ 35.68 ล้านตัน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)