ข่าวประจำวันที่ 24 มกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. สุริยะ สั่ง กรมโรงงานฯ เร่งอบรมเจ้าหน้าที่ กทม. เตรียมพร้อมรับถ่ายโอนภารกิจ (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 24 มกราคม 2566)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อบรมเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต เน้นการลงมือปฏิบัติงานจริง โดยบูรณาการกับหลักทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ เพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจกำกับโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้ กทม. เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนด ลดความขัดแย้ง สร้างความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้ประชาชน สอดคล้อง “MIND ใช้หัวและใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ทั้งนี้ กระทรวงได้รับนโยบายรัฐบาลในการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้ อปท. และ กทม. ควบคุมดูแลกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 และรับแจ้งการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 2 ตลอดจนตรวจสอบกรณีโรงงานก่อเหตุเดือดร้อนในพื้นที่ โดยได้แต่งตั้งข้าราชการของ อปท. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน

อย่างไรก็ตาม ท่งด้าน นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.). กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กองพัฒนาระบบมาตรฐานงานกำกับโรงงาน เป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายโอนภารกิจกำกับดูแลโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 ให้แก่ กทม. ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2565 – เดือนมกราคม 2566 กรอ.ได้สนับสนุนการดำเนินงานร่วมกับ กทม. ภายใต้โครงการ “กรุงเทพฯ เมืองแห่งสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ดี สะอาด ปลอดภัย” โดยร่วมเป็นวิทยากรเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ บูรณาการความเข้าใจในการตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงานจำพวกที่ 1 และ 2 รวมทั้งการรายงานผลการตรวจตามแบบตรวจ และขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ครอบคลุมพื้นที่ 6 กลุ่มเขต ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงเทพกลาง 9 เขต กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 7 เขต กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 8 เขต กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 10 เขต กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 7 เขต และกลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 9 เขต รวมทั้งสิ้น 50 เขต เน้นการลงมือปฏิบัติงานจากการประยุกต์ใช้สถานการณ์จริงกับหลักการทฤษฎีที่ได้เรียนรู้ (On The Job Training) เพื่อให้สามารถทำงานได้จริงและถูกต้อง โดยมีการสรุปและนำเสนอผลการประชุมเชิงปฏิบัติการจาก 6 กลุ่มเขต เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 ณ โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน เขตดินแดน กรุงเทพฯ ปรากฏผลทุกกลุ่มเขตได้ผ่านเกณฑ์การประเมิน 80% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

 

A person wearing a suit and tie

Description automatically generated

นายพรชัย ฐีระเวช

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)

 

2. 'อาคม' คว้าคลังเอเปกแห่งปี 66 จัดมาตรการช่วยเศรษฐกิจฟื้นจากโควิด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มกราคม 2566)

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลัง ได้รับการคัดเลือกให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแห่งปี 2566 (Finance Minister of the Year 2023) ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จากนิตยสาร The Banker ในเครือ Financial Times เป็นสิ่งพิมพ์ด้านเศรษฐกิจและการเงินชั้นนำ ได้รับความเชื่อถือในระดับสากล โดยยกย่องการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของนายอาคม ทั้งการใช้หลายมาตรการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะมาตรการเศรษฐกิจ มุ่งช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ อาทิ มาตรการคนละครึ่งรวมถึงการสนับสนุนการพัฒนา เศรษฐกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านมาตรการทางภาษีต่างๆ โดยภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จนทำให้เศรษฐกิจไทยได้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการคลังของไทย ผ่านโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและระบบการชำระเงินออนไลน์ก้าวหน้าอย่างมาก ทำให้มาตรการเยียวยาสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเข้าถึงเป้าหมายกลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาวินัยทางการคลังในระยะที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงการคลังไทยใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการเยียวยาหลากหลายและบริหารจัดการหนี้สาธารณะได้อย่างดี

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. จับตาศก.โลกฉุดส่งออกไทยปีนี้เปราะบาง ส.อ.ท.เกาะติดต้นทุนค่าไฟงวดใหม่ลดลง (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 24 มกราคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยไตรมาส 1-2 ปี 2566 ยังคงเปราะยางและมีทิศทางไปในลักษณะชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา ที่กำลังซื้อเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อและยังคงที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องในปี 2566 ซึ่งทำให้ทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคาร โลก (World Bank) ต่างประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะโตเฉลี่ยเพียง 1.7% จากปีก่อนทั้งนี้ ภาพเศรษฐกิจไทยปี 2566 แม้ว่าเครื่องยนต์ส่งออกจะไม่ดีนักหากเทียบกับช่วงที่ผ่านมาที่เป็นเครื่องยนต์หลัก แต่ภาคการท่องเที่ยวที่ทยอยฟืนตัวอย่างร้อนแรงทำให้จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะหลังจากจีนเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาหนุนทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีราว 25 ล้านคนจากปี 2565 ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 11.5 ล้านคน ดังนั้น จึงทำให้ IMF ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2566 จะโตได้ราว 3.7%ทั้งนี้ สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย ปี 2566 ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก และราคาพลังงานจากภูมิรัฐศาสตร์การสู้รบรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อต่อไป แต่กระแสที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่ต้องติดตามคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกให้ความสำคัญโดยมุ่งเน้นไปสู่พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม น้ำ ฯลฯ เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลในการลดโลกร้อนที่เป็นตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น รถยนต์ที่จะต้องก้าวผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ฯลฯ เหล่านี้จำเป็นต้องปรับตัว

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ยังคงติดตามสถานการณ์ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด คือ เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ใกล้ชิดเนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เป็นต้นทุนในการคำนวณ Ft งวดใหม่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เช่น ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ราคาพลังงานโลกที่ชะลอตัว และปริมาณการใช้ก๊าซในอ่าวไทยที่จะมีปริมาณสูงขึ้นในการลดใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าที่มีราคาแพงกว่ามาก ฯลฯ ดังนั้น จึงไม่ควรจะผลักภาระต้นทุนมาให้เอกชนแบกรับเช่นงวด เดือนมกราคม - เมษายน 2566

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. ค่าเงินยูโรพุ่งนิวไฮรอบ 9 เดือน ขานรับอีซีบีส่งสัญญาณขึ้นดบ.แรงกว่าเฟด (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 24 มกราคม 2566)

สำนักข่าวต่างประเทศ เปิดเผยว่า ค่าเงินยูโรพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนเทียบดอลลาร์ในวันจันทร์ (23 มกราคม 2566) ขานรับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงกว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้ ยูโรยังได้แรงหนุนจากการที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรป หลังการร่วงลงของราคาก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ยูโรแตะระดับ 1.0927 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 หลังจากที่นายคลาส นอต และนายปีเตอร์ คาซิเมียร์ ซึ่งเป็นกรรมการอีซีบี กล่าวสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม โดยเป็นการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงกว่าเฟด ซึ่งคาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 มกราคม - 1 กุมภาพันธ์ 2566 นี้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธานอีซีบี กล่าวว่า อีซีบีจะยังคงเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานานเท่าที่มีความจำเป็น เพื่อกดดันให้เงินเฟ้อปรับตัวลงสู่เป้าหมาย 2% ของอีซีบี ทั้งนี้ อีซีบี ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกรกฎาคม และ 0.75% ทั้งในเดือนกันยายน และตุลาคม โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกรกฎาคม 2565 ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543

 

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)