ข่าวประจำวันที่ 25 มกราคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

1. พณ. เปิดตัวเลขส่งออกธค. 65 ดิ่ง 14.6% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 25 มกราคม 2566)

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงตัวเลขการส่งออกเดือนธันวาคม 2565 ว่า ขยายตัวติดลบ 14.6% มูลค่า 21,718 ล้านเหรียญ โดยหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 15.7% และสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ 11.2% จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และตลาดส่งออกหลักหดตัว 13.6% ทุกตลาด ได้แก่ สหรัฐ 3.9% จีน 20.8% ญี่ปุ่น 13.7% อาเซียน 24.2% สหภาพยุโรป 4.9% ส่วนการส่งออกทั้งปี 2565 ตัวเลขยังเป็นบวก 5.5% มูลค่า 287,067 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้าขยายตัว 13.6% มูลค่า 303,190 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ทั้งปีไทยขาดดุลการค้า 16,122 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาผู้ขนส่งสินค้าทางเรือ และผู้ประกอบการส่งออกเพื่อประเมินเป้าหมายการส่งออกปี 2566 โดยสรุปร่วมกันว่ายังคงขยายตัวเป็นบวก 1-2% มูลค่า 289,938-292,809 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขยายตัวลดลงจากปีก่อนเนื่องจากยังมีปัจจัยลบต่อเนื่อง คือ เศรษฐกิจตลาดหลักขยายตัวลดลง คาดว่า สหรัฐ ขยายตัว 0.5-1% ยุโรป ขยายตัว 0.0-0.5% ญี่ปุ่น 1.6% ทั้งนี้ มองว่าการส่งออกปีนี้ยังไม่ติดลบ ยังเป็นบวกได้ 1-2% เพราะยังมีปัจจัยบวกหลายอย่าง เช่น ค่าระวางเรือปรับลดลง ความต้องการอาหารของโลกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดที่มีศักยภาพ 4 ตลาดหลักยังเติบโตได้ดี คือ ตลาดตะวันออกกลาง คาดว่าจะขยายตัวได้ 20% ตลาดเอเชียใต้ คาดว่าจะขยายตัวได้ 10%, ตลาด CLMV คาดว่าขยายตัว 15% และตลาดจีน 1%

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มั่นใจว่าปีนี้ส่งออกจะไม่ติดลบแน่นอน ขณะที่ประเทศอื่นติดลบ เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนปัญหาเงินบาทแข็งค่าเกิดจากกองทุนต่างประเทศไม่มีที่ไป เนื่องจากตลาดยุโรป และสหรัฐ มีความเสี่ยง จึงทำให้เงินไหลทะลักเข้าไทยจำนวนมากทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็ว ส่วนในระยะยาวยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอย่างไร ทางด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า คณะกรรมการสรท.ได้พิจารณาข้อเสนอแนะแนวทางบรรเทาปัญหาและช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกไทย ที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้พิจารณาดำเนินการช่วยเหลือผู้ส่งออก ดังนี้ ขอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งขอให้ธปท.รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทในระดับ 34-35 บาท/เหรียญสหรัฐ หรือที่ไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง

 

A person in a suit

Description automatically generated with low confidence

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2. ส.อ.ท.ตั้งเป้าปี 66 ผลิตรถยนต์ 1.95 ล้านคัน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 มกราคม 2566)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปี 2566 อยู่ที่ 1,950,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.53% จากปี 2565 ที่ผลิตได้ 1,883,515 คัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออก 1,050,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.22% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,037,317 คัน ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 6.36% จากปีก่อนอยู่ที่ 846,198 คัน ด้วยปัจจัยบวกจากการส่งออก จีนเปิดประเทศ ทำให้การค้าและท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงไทยจะฟื้นตัว ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์ (ชิพ) คลี่คลาย เศรษฐกิจไทยเติบโต 3% ทั้งนี้ ในเดือนธันวาคม 2565 ผลิตรถยนต์ได้ทั้งสิ้น 158,606 คัน เพิ่มขึ้น 2.75% จากเดือนธันวาคม 2564 เพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของรถยนต์หลายรุ่นดีขึ้นจึงผลิต เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 10.53% เท่ากับ 54.07% ของยอดผลิต แต่ผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 5.13% เพราะขาดชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ของรถยนต์บางรุ่น จำนวนรถยนต์ที่ผลิตทั้งปี 2565 มีทั้งสิ้น 1,883,515 คัน เพิ่มขึ้น 11.73% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลิตเพื่อส่งออกเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 85,766 คัน มีสัดส่วน 54.07% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 10.53% ทั้งปี 2565 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 1,037,317 คัน เท่ากับ 55.07% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 8.45% จากช่วงเดียวกัน ปี 2564 ขณะที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนธันวาคม 2565 ผลิตได้ 72,840 คัน มีสัดส่วน 45.93% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 5.13% จากเดือนธันวาคม 2564  ทำให้ทั้งปี 2565 ผลิตได้ 846,198 คัน เท่ากับ 44.93%  ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 16.05%

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนธันวาคม 2565 มีทั้งสิ้น 82,799 คัน ลดลง 9.02% เพราะการขาดชิ้นส่วน เซมิคอนดักเตอร์ของรถยนต์บางรุ่น ปัญหาน้ำท่วมบางพื้นที่ โดยปี 2565 มียอดขายรถยนต์ 849,388 คัน เพิ่มขึ้น 11.89% จากช่วงเดียวกันปี 2564 ขณะที่ เดือนธันวาคม 2565 ส่งออกรถยนต์ได้ 111,605 คันเพิ่มขึ้น 10.17% สูงสุดในรอบ 3 ปี 9 เดือน ทำให้ทั้งปี 2565 อยู่ที่ 1,000,256 คัน ในส่วนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จดทะเบียน ใหม่ (ป้ายแดง) เดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 1,242 คัน เพิ่มขึ้น 820% ตลอดปี 2565 มีทั้งสิ้น 9,583 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 393.5%

 

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

 

3. ไฟเขียวตั้งนิคมฯ 6 พันล. (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 25 มกราคม 2566)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการลงทุนจัดซื้อที่ดินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และจังหวัดลำพูน รวม 2 โครงการ มูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท โดยใช้เงินของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. แยกเป็นนิคมฯในอีอีซี มูลค่าลงทุน 4,385 ล้านบาท ในพื้นที่ ตำบลสำนักทอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เนื้อที่ 1,482 ไร่ เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ การบิน และโลจิสติกส์ หุ่นยนต์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นต้น มีเป้าหมายผู้ประกอบการญี่ปุ่น คาดว่าพื้นที่จะถูกขาย หรือให้เช่าจะหมดภายใน 5 ปี จะทำให้เกิดการจ้างงาน 13,920 คน และเกิดผลผลิตรวมให้กับประเทศ 1,542.34 ล้านบาท ส่วนโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดลำพูน มูลค่าลงทุน 2,160 ล้านบาท ในพื้นที่ ตำบลมะเขือแจ้ และตำบลบ้านกลาง อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เป็นที่ดินประเภทอุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและคลังสินค้า เนื้อที่ 653 ไร่ เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่นกัน เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม แปรรูปอาหาร และไบโอเทคโนโลยี คาดว่าพื้นที่จะถูกขายหรือให้เช่าภายใน 5 ปีเช่นกัน เกิดการจ้างงาน 8,415 คน และเกิดผลผลิตรวมในสาขาต่าง ๆ 277.85 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เป็นไปตามคาดการณ์ไว้

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน ครม. ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เตรียมแผนรองรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกรณีที่ไม่สามารถซื้อที่ดินจากเอกชนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยรายละเอียดของแผนดังกล่าวนั้น ซึ่งอาจทบทวนรูปแบบการลงทุนใหม่ โดยจะได้ทำการเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ กับการพัฒนาขยายพื้นที่ในนิคม อุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่เดิมได้อย่างเต็มศักยภาพต่อไป

 

ข่าวต่างประเทศ

Logo

Description automatically generated with medium confidence

4. เกาหลีปรับเกณฑ์ตลาดหุ้นดึงต่างชาติลงทุน (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 25 มกราคม 2566)

คณะกรรมการบริการด้านการเงิน หรือ Financial Services Commission หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนของประเทศเกาหลี เปิดเผยว่า ณ ปัจจุบัน กฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนของเกาหลีใต้ และกฎระเบียบตามมาตรฐานสากลมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงและยกเลิกบางข้อกำหนดที่ขัดขวางการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ โดยกฎระเบียบที่คาดว่าจะถูกยกเลิก ได้แก่ ข้อกำหนดที่ให้ชาวต่างชาติต้องลงทะเบียนกับทางการก่อนจะสามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ได้ และเปลี่ยนมาเป็นอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเปิดบัญชีได้ โดยใช้เอกสารต่างประเทศได้ เช่น หนังสือเดินทาง หรือ รหัสยืนยันตัวตนทางกฎหมาย (Legal Entity identifier) สำหรับองค์กร

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุน มีแผนจะยกเลิกข้อกำหนดให้ผู้ถือบัญชีประเภทออมนิบัส (omnibus) เช่น บริษัทจัดการสินทรัพย์และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ต้องรายงานรายละเอียดการทำธุรกรรมของนักลงทุนแต่ละรายภายในสองวันหลังจากชำระบัญชี รวมทั้งเปิดการซื้อขายนอกกระดานให้กับนักลงทุนต่างชาติ ในขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนในเกาหลีใต้จะต้องยื่นเอกสารของบริษัทเป็นภาษาอังกฤษตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป โดยเริ่มจากบริษัทขนาดใหญ่หรือมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)