ข่าวประจำวันที่ 17 มีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

1. แพ็กเกจอีวี 3.5 รอรัฐบาลหน้า "สุพัฒนพงษ์" ฝากสานต่อหากไม่ทำน่าเสียดาย (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2566)

 

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ผลักดันมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือมาตรการอีวี 3.0 ที่จะหมดอายุสิ้นปี 2566 ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก รัฐบาลจึงจัดทำแพ็กเกจดึงดูดการลงทุนของค่ายรถยนต์เพิ่มเติม เรียกว่ามาตรการอีวี 3.5 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการส่งเสริมรถอีวีไปถึงปี 2568 ซึ่งเมื่อไม่ทันอนุมัติในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากใกล้จะยุบสภา แต่ก็มั่นใจว่ามาตรการนี้จะได้รับการพิจารณาเป็นมาตรการแรกๆ ของรัฐบาลชุดใหม่ เพราะเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ และประชาชนชื่นชอบอย่างมาก ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมรถอีวีปัจจุบันเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างมาก โดยสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผู้ผลิตรถอีวีสองค่าย ได้แก่ เนต้า (NETA) และบีวายดี (BYD) ได้วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างโรงงานผลิตรถอีวีในประเทศไทย คาดว่า 1-2 ปีข้างหน้าโรงงานจะแล้วเสร็จ และจะมีอีกหลายค่ายรถที่จะเข้ามาก่อสร้างโรงงานในไทยทั้งโรงงานผลิตและโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดำเนินการมาตลอด 8 ปี ได้เน้นในเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเพิ่มรายได้ เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาขึ้น ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ เรื่องการลดคาร์บอน และการขับเคลื่อนนโยบายบีซีจี โดยมีการผลักดันอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวีในประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน ส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันและพลังงานจากต่างประเทศ มั่นใจว่าเป็นทิศทางที่ถูกต้องและไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะดำเนินการต่อ เพราะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศและเป็นแนวทางการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

 

A person smiling for the camera

Description automatically generated with low confidence

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

2. สศอ.เตือนรับมือต้นทุนพุ่ง 'รัสเซีย-ยูเครน' รบยืดเยื้อทำวัตถุดิบขาด (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2566)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อในปัจจุบัน ส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยเพียงเล็กน้อย สะท้อนจากมูลค่าการค้ารวม (การส่งออกและนำเข้า) ของไทยกับรัสเซีย-ยูเครนที่มีสัดส่วนประมาณ 0.5% เมื่อเทียบกับการค้าทั้งหมด โดยไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากรัสเซีย-ยูเครน เป็นผู้ผลิตและส่งออกพลังงาน รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ในตลาดโลก ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเป็นวงกว้างทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจากราคาพลังงานที่อยู่ในระดับสูง ต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับสูงขึ้นและทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก อีกทั้งความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุน โดยอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการใช้พลังงานต่อต้นทุนรวมในการผลิตสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก 30.56% เหล็กและเหล็กกล้า 20.03% ผลิตภัณฑ์พลาสติก 10.48% ยางรถยนต์ 7.37% และเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย 5.61% สำหรับภาพรวมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ข้าวสาลี น้ำมัน และปุ๋ยเคมี โดยรัสเซียส่งออกปุ๋ยเคมีมากที่สุดในโลกประมาณ 50 ล้านตันต่อปี ซึ่งในปี 2565 ไทยนำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซีย อยู่ที่ 10,141.59 ล้านบาท คิดเป็น 22.41% ของการนำเข้าจากรัสเซียทั้งหมด ทั้งนี้ หากสงครามยังคงยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการปรับราคาปุ๋ยเคมีและส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังสินค้าเกษตร อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นสินค้าหลักในการส่งออกของไทย ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน ผลกระทบทางอ้อมที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม คือ บราซิลเป็นผู้นำเข้าปุ๋ยเคมีจากรัสเซียมากที่สุด และเป็นประเทศผู้ส่งออกถั่วเหลืองอันดับ 1 ของโลก และส่งออกข้าวโพดเป็นอันดับ 2 ของโลก หากราคาปุ๋ยเคมีสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการเพาะปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพด ทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ไทยจึงได้รับผลกระทบด้วยจากปี 2565 ไทยนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิล 76% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 53,954 ล้านบาท ส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงปศุสัตว์ และสะท้อนไปสู่ราคาเนื้อสัตว์ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจยังคงไม่มีข้อสรุปในเวลาอันใกล้นี้ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์เพื่อหาแนวทางปรับตัว ได้แก่ การแสวงหาหุ้นส่วนของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีลดต้นทุนร่วมกัน (Cost Sharing) เช่น การทำ MOU เพื่อแลกเปลี่ยนทางการค้าที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย โดยหาประเทศที่เป็นมิตรต่อกัน เพื่อลดการพึ่งพิงประเทศใดประเทศหนึ่งมากเกินไป และการแสวงหาพันธมิตรทางการค้าใหม่พร้อมขยายช่องทางการตลาด โดยเฉพาะในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น เอเชียใต้ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง และการขยายช่องทางการตลาดเพิ่มเติมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมทั้งสื่อดิจิทัล ที่มีส่วนช่วยให้โปรโมทสินค้าได้ง่ายขึ้น ช่วยให้การทำการตลาดผ่านสื่อออนไลน์สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง

 

A picture containing flower, person, wedding, plant

Description automatically generated

นายบรรจง สุกรีฑา

เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

 

3. สมอ.ขีดเส้นมาตรฐาน "กัญชง" (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2566)

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน สมอ.ได้ประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) กัญชงไปแล้วจำนวน 6 มอก. อาทิ มอก.3171-2564 น้ำมันเมล็ดกัญชง มอก.3172-2564 สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD รวมไม่น้อยกว่า 30% โดยมวล มอก.3173-2564 สารสกัดจากกัญชงที่มีปริมาณ CBD (สารแคนนาบิไดออลที่มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด บรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด บรรเทาอาการนอนไม่หลับ) รวมไม่น้อยกว่า 80% โดยล่าสุดได้จัดทำ มอก.แล้วเสร็จอีก 2 มอก. ได้แก่ มอก.3490-2565 มาตรฐานเฮมป์ครีตบล็อก และ มอก.3553-2566 มาตรฐานเฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด ซึ่งเป็นการนำแกนกัญชงไปแปรรูปเป็นสินค้าวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ แต่ยังคงรักษาคุณภาพและมาตรฐาน

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับ มอก.เฮมป์ครีตบล็อก ครอบคลุมเฉพาะเฮมป์ครีตบล็อกสำหรับผนังที่ไม่รับแรง โดยมีส่วนประกอบของแกนกัญชงกับตัวประสาน เช่น ปูนซีเมนต์ ยิปซั่ม และปูนกาว มาผสมกันแล้วขึ้นรูปในแบบหล่อ ซึ่งจะมีน้ำหนักเบา ไม่ร้าว ไม่บิดเบี้ยว เมื่อนำไปใช้งาน ส่วน มอก.เฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ด ครอบคลุมเฮมป์พาร์ทิเคิลบอร์ดที่มีความหนาไม่เกิน 10 มิลลิเมตร ทำจากแกนกัญชงผสมกาว มีความแข็งแรง ซึ่งขณะนี้ ทั้ง 2 มอก.อยู่ระหว่างการประกาศราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเดือนมิถุนายน 2566 นี้ ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างที่นำกัญชงมาใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้าง และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของไทย

 

ข่าวต่างประเทศ

A close-up of a flag

Description automatically generated with medium confidence

 

4. สหรัฐเผยตัวเลขเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งเกินคาดในเดือนก.พ. (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 17 มีนาคม 2566)

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านพุ่งขึ้น 9.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สู่ระดับ 1.45 ล้านยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.310 ล้านยูนิต ทั้งนี้ ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 830,000 ยูนิต ส่วนการก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัว ซึ่งรวมถึงอพาร์ทเมนท์และคอนโดมิเนียม พุ่งขึ้น 24.1% สู่ระดับ 608,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการอนุญาตก่อสร้างบ้านพุ่งขึ้น 13.8% สู่ระดับ 1.524 ล้านยูนิตในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยการอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น 7.6% สู่ระดับ 777,000 ยูนิต และ  การอนุญาตก่อสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัวพุ่งขึ้น 24.3% สู่ระดับ 700,000 ยูนิต

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)