ข่าวประจำวันที่ 20 มีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a desk

Description automatically generated

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. พลาสติก-โฟมแชมป์ไฟไหม้ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2566)

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ขอให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานทุกประเภทกว่า 70,000 โรงงาน โดยเฉพาะใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่มีสถิติเกิดเหตุเพลิงไหม้สูงในปีที่ผ่านมา ระมัดระวัง ตรวจสอบ ตรวจตราอุปกรณ์เครื่องจักรให้พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย โดยให้เตรียมมาตรการรองรับการเกิดอัคคีภัย จัดทำข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงฤดูแล้ง และแบบตรวจสอบและประเมินตนเองด้านอัคคีภัย รวมถึงรณรงค์การป้องกันอัคคีภัยในช่วงฤดูร้อน เนื่องจากช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่อากาศแห้ง ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย ทั้งนี้ ทางด้านนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุปี 2565 มีอุบัติเหตุในโรงงานใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมกว่า 76% เป็นการเกิดเพลิงไหม้ 81 ครั้ง มากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2565 และเกิดมากสุดในอุตสาหกรรมพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง 26% อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย 14% อุตสาหกรรมโกดังและคลังสินค้า 14% อุตสาหกรรมอาหาร 8% อุตสาหกรรมกากหรือขยะ 6% อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ 6% อุตสาหกรรมสี ไวไฟ 4% และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี 3%

อย่างไรก็ตาม ได้ขอความร่วมมือ ให้โรงงานจัดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ตรวจสอบโรงงานตามแบบเซลเช็กลิสต์ และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงฤดูแล้ง โดยตรวจสอบ บำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัยเป็นประจำ การก่อสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซม อาคารหรือเครื่องจักร เป็นการปฏิบัติงานที่มีการเชื่อมตัด หรือเจียชิ้นงานหากมีการเกิดประกายไฟหรือสะเก็ดไฟ ต้องมีวัสดุหรืออุปกรณ์ทนไฟเพื่อควบคุม

 

A person folding the arms

Description automatically generated with medium confidence

นายวิริศ อัมราปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

2. จีนลงทุนทะลักนิคมอุตสาหกรรม ภูมิรัฐศาสตร์หนุนยึดเบอร์ 1 ในไทย (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2566)

นายวิริศ อัมราปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ภาวะการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรม 67 แห่ง ใน 16 จังหวัด มีการลงทุนสะสม 6.86 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของกนอ.รวม 2.47 ล้านล้านบาท และการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการกับเอกชน 4.38 ล้านล้านบาท สำหรับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีมูลค่า 14,767 ล้านบาท โดยสัญชาตินักธุรกิจที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก คือ จีน 23.68% รองลงมาเป็นสิงคโปร์ 12.41% ญี่ปุ่น 11.65% อินเดีย 6.39% และไต้หวัน 6.02% ซึ่งแนวโน้มการลงทุนจากประเทศจีนในปี 2566 มีแรงหนุนต่อเนื่องจากปัจจัยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนบางส่วนต้องการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน (Exit) นอกจากนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างรัฐที่เกิดขึ้นในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เดือนพฤศจิกายน 2565 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงพาณิชย์ แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งคณะทำงานร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ สอดคล้องกับนโยบายความคิดริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) เชื่อมโยงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในปีนี้เมื่อจีนกลับมาเปิดประเทศเชื่อว่าจะมีการขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเข้มข้นในระดับหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ โดยกนอ.เตรียมต้อนรับผู้ว่าการมณฑลต่างๆ ในจีนที่จะเดินทางมาหารือกันเพื่อร่วมลงทุนทั้งในไทยและจีน พร้อมทั้งผลักดันการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่ต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์อุตสาหกรรมชีวภาพ และเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ ขณะที่อุตสาหกรรมไทยที่จีนสนใจดึงไปลงทุน ได้แก่ เกษตร อาหารแปรรูป และอุตสาหกรรมสนับสนุนที่ไทยมีศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า กนอ.จะศึกษาโมเดลการลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศ โดยอาจร่วมทุนภาคเอกชนเพื่อการกระจายความเสี่ยง รวมถึงหน่วยงานรัฐของจีน ซึ่ง กนอ.เตรียมวางแผนไว้ 2-3 โครงการที่จะบุกเบิกขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งนี้ กนอ.เชื่อมั่นว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของภาคการลงทุน สำหรับทั้งนักลงทุนไทยและจีน หากไม่มีเหตุการณ์ความผันผวนที่รุนแรงสำหรับการลงทุนในจีนจะกลับมาคึกคักหลังเปิดประเทศ โดยเป็นกลุ่มนักลงทุนที่สนใจตลาดในประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ขณะที่นักลงทุนที่สนใจลงทุนไทยต้องการแสวงหาความเชื่อมั่นในการผลิตและซัพพลายเชนที่มั่นคง สำหรับสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในนิคมอุตสาหกรรมอันดับ 1 ยังเป็นญี่ปุ่น 31.25% รองลงมา คือ จีน 18.75% ตามมาด้วยนักลงทุนจากสหรัฐ อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินเดียและมาเลเซีย

 

A person in a suit

Description automatically generated with low confidence

นายวิษณุ ทับเที่ยง

หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

3. ขับเคลื่อนแผนงบปี 66 อุตฯจัดทัพลงพื้นที่ตามงาน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2566)

นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบนโยบายแก่คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นการปฏิรูปการทำงานตามแนวคิด "MIND" ใช้หัวและใจทำงาน ปฏิรูปกระทรวง ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน มุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมคู่ชุมชนใน 4 มิติ โดยได้กำชับให้มีการตรวจติดตามราชการในพื้นที่สำนักอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดและเน้นย้ำนโยบาย MIND เพื่อขับเคลื่อนแผนงานปี 2566 มุ่งยกระดับ "ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน" ใน 4 มิติ โดย 4 มิติ ประกอบด้วย 1. ความสำเร็จทางธุรกิจ การปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต 2. การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งยามปกติและเมื่อเกิดวิกฤต 3. การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ไทยและประชาคมโลก และ 4. การกระจายรายได้ให้แก่ประชาชน และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เน้นสร้างงานสร้างอาชีพ และกระตุ้นผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ทำงานร่วมกับชุมชน และเครือข่ายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนในพื้นที่อย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม สำหรับในการตรวจติดตามราชการปกติ รอบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแพร่ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้ข้อเสนอแนะการตรวจราชการ ดังนี้ 1. เน้นย้ำการตรวจกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรม 2. ให้เตรียมสำรวจและคัดเลือกสถานประกอบการเป้าหมายเพื่อกรอกข้อมูลลงในระบบ I-Single Form 3. การรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (GI) 4. คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย เข้าร่วมโครงการ OPOAI-C 5. ประชาสัมพันธ์ และคัดเลือก เสนอรายชื่อโรงงานในพื้นที่ ที่มีการประกอบการที่ดีเป็นแบบอย่าง และ 6. ปัญหาผังเมืองที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของจังหวัด

 

ข่าวต่างประเทศ

Logo

Description automatically generated

 

4. ขุนคลังสวิสชี้แจงกรณีรัฐหนุนยูบีเอสซื้อเครดิต สวิส ลั่นไม่ใช่การอุ้มกิจการ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 20 มีนาคม 2566)

นางแคริน เคลเลอร์-ซุตเทอร์ รัฐมนตรีคลังสวิตเซอร์แลนด์ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงกรณีธนาคารยูบีเอสเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส โดยกล่าวว่า การที่ยูบีเอสเข้าซื้อกิจการของเครดิต สวิสภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์นั้น ไม่ใช่การอุ้มกิจการ และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่ยากลำบากในขณะนี้ โดยได้ติดต่อกับหน่วยงานของรัฐบาลสหราชอาณาจักรและสหรัฐ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้ต่างก็ขานรับข่าวยูบีเอสซื้อกิจการเครดิต สวิส เนื่องจากทั่วโลกต่างก็กังวลว่าการล้มละลายของเครดิต สวิสจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินทั่วโลก ทั้งนี้ ทางด้านนายโธมัส จอร์แดน ประธานธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า การที่ยูบีเอสตัดสินใจเทกโอเวอร์กิจการเครดิต สวิส ถือเป็นทางออกในการสร้างเสถียรภาพการเงินและช่วยปกป้องเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ในวิกฤตการณ์นี้ เนื่องจากเครดิต สวิส เป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงระบบ ทั้งในแง่ของขนาดและการมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ยูบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส (3.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยการซื้อกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์, รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ โดยธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดสรรเงินกู้ยืมจำนวนสูงถึง 1 แสนล้านฟรังก์ (1.08 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อสนับสนุนการเทกโอเวอร์กิจการ ขณะที่รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้อนุมัติเงินค้ำประกันจำนวนสูงถึง 9 พันล้านดอลลาร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงให้กับยูบีเอส

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)