ข่าวประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

1. การนิคมฯร่วมหารือเจโทร หวังช่วยเพิ่มการลงทุนของญี่ปุ่นในไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566)

 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ร่วมประชุมกับ นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) ถึงผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย ของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) ซึ่งพบว่า ภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นแหล่งห่วงโซ่อุปทาน ที่นักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสำคัญทั้งเรื่องความพร้อมและการพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานที่สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุน โดยช่วงครึ่งปีแรก ปี 2566 ตัวเลขคาดการณ์ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ (Diffusion Index : DI) ยังเป็นไปในแดนบวกต่อเนื่องจากปี 2565 ภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีแนวโน้มว่าจะลงทุนเพิ่มด้านโรงงานและเครื่องจักร คิดเป็น 31% และบริษัทที่คาดว่าจะลงทุนคงที่ 46% ซึ่งมีเพียง 16% ที่คาดว่าอาจจะลงทุนลดลง ขณะเดียวกันยังมีการพูดถึงการคาดการณ์กิจกรรมการลงทุนในอนาคต หลังจากประเทศไทยได้มีการปรับปรุงระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยบริษัทส่วนใหญ่จะยังคงขนาดกิจการปัจจุบัน และขยายกิจการ รวมทั้งขยายกิจการโดยการย้ายฐานจากประเทศอื่นด้วย สำหรับสิ่งที่ทางเจโทรนำมาเป็นหัวข้อหารือในครั้งนี้ ทาง กนอ. ได้ชี้แจงไปหลายเรื่อง โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูนั้น กนอ.ได้เดินหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมแล้ว ทั้งการสร้างกำแพงกันน้ำ ปรับปรุงรางระบายน้ำ เพิ่มพื้นที่บ่อหน่วงน้ำ และติดตั้งระบบตรวจวัดปริมาณน้ำฝนอัตโนมัติ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2567

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกของตลาดโลกนั้น กนอ.พยายามที่จะหาลู่ทางพัฒนาโครงสร้างพลังงานเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ โดย กนอ.ร่วมมือกับ PEA Encom ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในการส่งเสริมระบบบริหารจัดการพลังงานและโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รูปแบบการลงทุนในด้าน Smart Energy และ Smart Grid เพื่อยกระดับการพัฒนาธุรกิจ และการบริการผู้ประกอบการให้ได้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาดและราคาถูก ขณะที่ปัญหาราคาค่าขนส่งโลจิสติกส์ ค่าแรง และการขาดแคลนแรงงานนั้น กนอ.จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขให้ตรงจุด ทั้งนี้ เรื่องไหนที่ กนอ.สามารถดำเนินการเองได้ จะนำข้อคิดเห็นในการประชุมมาปรับปรุงและพัฒนา เพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นฐานของการลงทุนที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังมีการหารือถึงการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ซึ่งทั้ง กนอ.และ เจโทรมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน โดยการเปลี่ยนหรือปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรให้เป็นแบบประหยัดพลังงาน และการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ เช่น การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การส่งเสริมการกำจัดและลดปริมาณกากอุตสาหกรรมอย่างถูกวิธี และการรีไซเคิลขยะที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

 

A person wearing glasses and a suit

Description automatically generated with medium confidence

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

2. บอร์ดบีโอไอไฟเขียวส่งเสริมลงทุน 5.66 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบอร์ด บีโอไอ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ รวมมูลค่า 56,615 ล้านบาท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐานในด้านพลังงานของประเทศ เช่น โครงการ ท่าเทียบเรือขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มูลค่าเงินลงทุน 32,710 ล้านบาท และโครงการโรงไฟฟ้าระบบ Cogeneration ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุน ระหว่างไทยและสิงคโปร์ มูลค่าเงินลงทุน 5,005 ล้านบาท นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยเฉพาะความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นสำหรับบริการด้านการจัดการและจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ขนาดใหญ่ 2 ราย มูลค่าเงินลงทุนรวม 10,371 ล้านบาท โดยหนึ่งในนั้นเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างอังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกิจการดาต้า เซ็นเตอร์ ที่เน้นความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และจะใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลด Carbon Footprint ด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้การส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น โครงการผลิตเหล็กแผ่นรีดเย็นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โครงการผลิตโลหะทองคำและเงินภายใต้รูปแบบโลหะผสม และโครงการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 8,500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ 4 หน่วยงาน ได้จับมือพัฒนากลไกการอำนวยความสะดวก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและประตูการค้าการลงทุนในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บีโอไอ ร่วมกับกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปิดให้บริการระบบ HQ Biz Portal ซึ่งเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค และระบบนัดหมายออนไลน์ รวมทั้งได้จัดตั้งทีมงานร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจจัดตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย

 

A person sitting at a table

Description automatically generated with medium confidence

นายวีระพงศ์ มาลัย

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

3. ดันเอสเอ็มอีคว้างานรัฐ 5.9 แสนล. (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566)

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว.ยังตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เอสเอ็มอีปี 2566 โต 2-4% โดยเตรียมแผนพัฒนาเอสเอ็มอีไว้หลายด้าน ส่วนแรกคือ การประสานบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันเงินกู้สถาบันการเงินให้เอสเอ็มอีวงเงิน 968 ล้านบาท หรือรายละไม่เกิน 2 ล้าน เสนอต่อที่ประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วคาดว่าจะเห็นชอบภายในเร็วๆ นี้ แม้เป็น ครม.รักษาการ เชื่อว่าไม่มีปัญหาเพราะผ่านความเห็นชอบ จากคณะกรรมการ สสว. (บอร์ด) แล้ว คาดว่าจะครอบคลุมเอสเอ็มอีกว่า 1,500 ราย ให้มีเงินทุนปรับปรุงกิจการ รับกิจกรรมเศรษฐกิจช่วงสงกรานต์ เกิดเม็ดเงินในระบบ 3,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในขณะเดียวกันจะผลักดันเอสเอ็มอี ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว. 140,000 ราย เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานภาครัฐให้ถึง 50% หรือ 591,064 ล้านบาท จากประมาณการมูลค่ารวมจัดซื้อจัดจ้าง ปีงบประมาณ 2566 อยู่ที่ 1,182,129.28 ล้านบาท เพื่อผลักดัน ให้เอสเอ็มอีไทยเติบโต จากปี 2565 อยู่ที่ 46% และปี 2564 อยู่ที่ 39% ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีในระบบ 140,000 ราย แต่ขายสินค้าได้จริง 30,000 ราย นอกจากนี้ สสว.จะเดินหน้าโครงการ "SME ปัง ตังได้คืน ปีที่ 2" ภายใต้กรอบวงเงิน 500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้มากกว่า 5,000 ราย ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบผู้ให้บริการทางธุรกิจ (บีดีเอส) อุดหนุนค่าใช้จ่ายพัฒนาเอสเอ็มอีแบบร่วมจ่ายในสัดส่วน 50-80% ตามขนาดของธุรกิจ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท จนถึงเดือนกันยายน 2566

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมของเอสเอ็มอีในปีนี้มองว่าได้รับผลกระทบไม่มาก ยกเว้นกลุ่มที่ส่งออก  ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ภาวะไม่ปกติทางด้านสงคราม และการล้มละลายของธนาคารในสหรัฐอเมริกา ส่วนเอสเอ็มอีภายในประเทศเชื่อว่าได้รับปัจจัยบวกมากกว่าจากเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งมาจากการเปิดประเทศ ส่งผลทำให้ร้านขนาดเล็กมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยจะได้ประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามา แต่เอสเอ็มอีเองต้องปรับตัวรับปัจจัยบวกดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน อาทิ การปรับปรุงเปลี่ยนร้าน หรือผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดความสนใจของลูกค้า

 

ข่าวต่างประเทศ

A red and yellow flag

Description automatically generated with low confidence

 

4. IMF อนุมัติเงินกู้ 3 พันล้านดอลลาร์ช่วยศรีลังกาคลายวิกฤตเศรษฐกิจ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2566)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า ได้อนุมัติโครงการเงินกู้มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ศรีลังกา ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของศรีลังกาในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและเริ่มปรับโครงสร้างหนี้ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กรรมการบริหารของ IMF ได้อนุมัติโครงการเงินกู้ดังกล่าวซึ่งมีระยะเวลา 48 เดือน ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันจันทร์ (20 มีนาคม 2566) และระบุว่า ทาง IMF จะทำการเบิกจ่ายเงินกู้ดังกล่าวทันทีราว 333 ล้านดอลลาร์ โดย IMF ระบุในแถลงการณ์ว่า ศรีลังกา ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเศรษฐกิจที่พังพินาศและวิกฤตด้านมนุษยธรรม โดยเศรษฐกิจของศรีลังกากำลังเผชิญกับอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง ซึ่งมีรากฐานมาจากความเปราะบางที่มีอยู่แล้ว ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดจนนำไปสู่วิกฤต และปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ที่ซ้ำเติมวิกฤตดังกล่าวให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งความช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยอัดฉีดเงินทุนที่จำเป็นอย่างมากให้แก่ศรีลังกาที่กำลังต่อสู้กับปัญหาราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น การขาดแคลนสินค้า และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ร่อยหรอลงไปหลังการผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศเมื่อปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สำหรับเป้าหมายลำดับต่อไปของศรีลังกาจะมุ่งไปที่การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ระบุว่า อาจจะยืดเยื้อ เนื่องจากบรรดาเจ้าหนี้ต้องหารือกันว่าจะนับรวมการกู้ยืมในสกุลเงินท้องถิ่นเข้าไปในการปรับโครงสร้างหนี้ด้วยหรือไม่ โดยฟิทช์ เรทติ้งส์ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้สกุลเงินรูปีลงเมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะผิดนัดชำระหนี้ ซึ่ง IMF คาดว่า ในปีนี้ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศราว 5.6 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 75% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)