ข่าวประจำวันที่ 22 มีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

1. จุรินทร์ผุด 22 มาตรการดันราคาผลไม้ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2566)

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มอบให้ ดร.สรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วย รัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานประชุมติดตามสถานการณ์ การผลิตและการตลาดผลไม้ปี 2566 ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการผลไม้ ผู้แทนเกษตรกร ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง สถานีบริการน้ำมัน โลจิสติกส์ สายการบิน ผู้แทนสถาบันการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมมาตรการดูแลผลไม้ปี 2566 เพื่อรองรับผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 6.78 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 3% โดยปีนี้กระทรวงพาณิชย์ เตรียมตลาดล่วงหน้ารองรับผลไม้กว่า 7 แสนตัน ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ผลักดัน แบ่งเป็น 4 ด้าน 22 มาตรการดูแลผลไม้ ได้แก่ การผลิต การตลาดในประเทศ ต่างประเทศ และด้านกฎหมาย ประกอบด้วย 1. เร่งรัดตรวจและรับรอง GAP 2. ใช้อมก๋อยโมเดลทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจับคู่เกษตรกร-ผู้ค้า 3. ช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกร กระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต 4. สนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบายไปรับซื้อผลไม้ และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง 5. ประสานงานห้าง ร้านสะดวกซื้อและปั๊มน้ำมันต่างๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้แก่เกษตรกร 6. รณรงค์บริโภคผลไม้ไทยจัดงาน Fruit Festival ในแหล่งท่องเที่ยว 7. สนับสนุนกล่องพร้อมค่าจัดส่งผลไม้ ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ ไปยังผู้บริโภคผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด 8.อบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกรเรื่องการค้าออนไลน์ ขายตรงให้แก่ผู้บริโภค 9. ขอความร่วมมือผู้ว่าฯจังหวัดที่เกี่ยวข้องเคลื่อนย้ายแรงงาน 10. กอ.รมน.เตรียมความพร้อมสนับสนุนกำลังพล ช่วยเก็บเกี่ยวคัดแยกและขนย้ายผลไม้ 11. เชื่อมโยงผลไม้โดยทีมเซลส์แมนจังหวัด-ประเทศ ประสานงานกันช่วยระบายผลไม้ของเกษตรกรทั้งตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ 12. ส่งเสริมการแปรรูปช่วยค่าบริหารจัดการแปรรูปผลไม้เพื่อการส่งออก 13. เจาะตลาดนิคมอุตสาหกรรม เปิดพรีออร์เดอร์ผลไม้กว่า 15,000 ตัน 14. เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก โดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ย 3% และช่วยผู้ส่งออกผลไม้ 15. เจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ออนไลน์ ออฟไลน์มุ่งเน้นตลาดใหม่ 16.จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างประเทศ 17. ส่งเสริมการส่งออกผลไม้ในงานแสดงสินค้านานาชาติ 18. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นผลไม้ไทย ส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย 19. จัดมหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค 20. มุ่งเจรจาผ่อนคลายมาตรการทางการค้า ทั้งการ   ลดภาษี ลดอุปสรรคการส่งออกผลไม้ไปยังประเทศคู่ค้า 21. ตั้งวอร์รูมคณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย ภาครัฐร่วมกับเอกชน และ 22 .ให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการประชุมวันนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เห็นด้วยกับมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2566 เชิงรุกที่ครอบคลุมทุกประเด็นสำคัญและตรงจุด จะเป็นกลไกสำคัญการบริหารจัดการตลาดในประเทศ และ เพิ่มปริมาณ-มูลค่าการส่งออก โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายผลักดันการส่งออกผลไม้สดและแปรรูป 4.44 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 10%

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated with low confidence

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

 

2. ชี้เร่งเบิกจ่ายงบดูแลเศรษฐกิจ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2566)

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการบริหารเศรษฐกิจหลังการยุบสภา ว่า รัฐบาลยังสามารถดูแลเศรษฐกิจและประชาชนได้ตามการบริหารงาน และมาตรการที่ออกมาก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่าไม่เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองเหมือนที่ภาคเอกชนกังวล เพราะสามารถดูแลผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ที่อนุมัติไว้ก่อนหน้านี้ที่ต้องให้เบิกจ่ายให้ได้ตามที่กำหนด ขณะที่การส่งเสริมการลงทุนของต่างประเทศ และการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศยังมีอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการจัดประชุม Trade Winds ในไทยของนักธุรกิจสหรัฐ หรือการที่สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเรน ได้เข้ามาตกลงความร่วมมือในการค้าและการลงทุนกับเอกชนไทย ที่สะท้อนถึงสัญญาณความร่วมมือที่มีต่อเนื่องในการลงทุนร่วมกันในระยะต่อไป เช่นเดียวกับการดูแลราคาพลังงานที่ได้เตรียมแนวทางดูแลไว้แล้ว โดยเวลานี้อยู่ในช่วงขาลงแม้ว่าในช่วงที่มีช่องว่างของมาตรการ ก่อนได้รัฐบาลชุดใหม่ รัฐบาลปัจจุบันก็สามารถให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรับภาระในช่วงสั้นๆ ก่อนได้ ส่วนปัญหาธนาคารในสหรัฐและยุโรปบางแห่งขาดสภาพคล่อง เป็นปัญหาที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดกับประเทศไทยนั้นมีจำกัด ส่วนที่กระทบก็คือภาคการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบในภาพรวม แต่ผลกระทบไม่ได้เกิดกับภาคการเงินของไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยมีหนี้ต่างประเทศน้อยมาก ต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่ช่วงนั้นมีหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้ถูกบังคับใช้หนี้ต่างประเทศในช่วงที่ค่าเงินบาทถูกลอยตัว ทำให้วิกฤติมีผล กระทบมากกับสถาบันการเงิน แต่หลังจากวิกฤติครั้งนั้นประเทศไทยได้เรียนรู้ที่จะไม่ให้เกิดวิกฤติขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รวมทั้งกระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนที่ยอมรับว่ามีความผันผวนมาก ซึ่ง ธปท.รายงานว่าได้ดูแลอยู่เพื่อไม่ให้มีการแข็งค่าหรืออ่อนค่ามากเกินไป สำหรับสถานการณ์แบงก์ที่มีปัญหาในสหรัฐและยุโรปในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณว่าจะกระทบกับสถาบันการเงินในประเทศไทย เพราะการแก้ปัญหาจากต้นทางนั้นทำได้อย่างรวดเร็ว มีการให้ธนาคารขนาดใหญ่และธนาคารชาติเข้ามาช่วยดูแลแก้ปัญหา ภายใน 2 สัปดาห์จะเห็นความชัดเจนและการคลี่คลายของปัญหาไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมั่นใจว่ายังไม่มีวิกฤติการเงินเกิดขึ้นแน่นอน

 

A person in a suit

Description automatically generated with medium confidence

นายอนุชา บูรพชัยศรี

รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

 

3. ไทยส่งออกข้าวแล้ว 0.81 ล้านตัน ชี้เป็นสัญญาณเชิงบวกในปีนี้ (ที่มา: ไทยโพสต์, ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2566)

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบรายงานสถานการณ์ข้าวโลกข้าวไทย ปี 2565/66 และการคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวไทย ปี 2566 อยู่ที่ 8 ล้านตัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และปริมาณผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มลดลง สำหรับการส่งออกข้าวโลก ณ วันที่ 1 มกราคม - 24 กุมภาพันธ์ 2566 อินเดีย ส่งออกข้าวได้มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ประมาณ 1.69 ล้านตันข้าวสาร รองลงมา ได้แก่ ไทย 1.39 ล้านตันข้าวสาร เวียดนาม 0.92 ล้านตันข้าวสาร ปากีสถาน 0.63 ล้านตันข้าวสาร และสหรัฐฯ 0.19 ล้านตันข้าวสาร สำหรับราคาส่งออกข้าวสารของ The Rice Trader เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไทย ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวลดลง เวียดนาม ราคาข้าว Jasmine ปรับตัวสูงขึ้น ราคาข้าวขาวปรับตัวลดลง อินเดีย ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น ปากีสถาน ราคาข้าวทุกชนิดปรับตัวลดลง และสหรัฐฯ ราคาข้าวขาวปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกข้าวของไทย ปี 2565 – 2566 ไทยส่งออกข้าวขาวเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็น 52% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวนึ่ง (24%) ข้าวหอมมะลิไทย (17%) ข้าวหอมไทย (4%) ข้าวเหนียว (2%) และข้าวกล้อง (1%) โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยอันดับหนึ่ง คือ ภูมิภาคเอเชีย คิดเป็น 52% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา (22%) ตะวันออกกลาง (12%) อเมริกา (9%) ยุโรป (4%) และโอเชียเนีย (1%)

 

อย่างไรก็ตาม ด้านแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2566 กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ร่วมกันคาดการณ์ปริมาณการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 8 ล้านตัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว และปริมาณผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่ปริมาณผลผลิตข้าวโลกมีแนวโน้มลดลง เพราะพื้นที่เพาะปลูกข้าวของประเทศผู้ผลิตสำคัญเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการ ของตลาดโลกมากขึ้น อย่างไรก็ตามปริมาณธัญพืชในตลาดโลกมีแนวโน้มกลับมาสูงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศลดปริมาณการนำเข้าข้าวลงและนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มขึ้น และจากปัจจัยค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและมีความผันผวน จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของข้าวไทยลดลง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าอาจมีกำลังซื้อลดลงจากปัญหาเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ข้อมูลกรมศุลกากร เดือนมกราคม 2566 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 0.81 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 75.20% โดยไทยส่งออกข้าวไปทุกภูมิภาคได้เพิ่มขึ้น ยกเว้นภูมิภาคโอเชียเนีย นับว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกสำหรับการส่งออกข้าวไทยในปี 2566

 

ข่าวต่างประเทศ

A picture containing background pattern

Description automatically generated

 

4. จีนวางแผนอัดฉีดเงิน 1.9 พันล้านดอลลาร์ ให้แก่ผู้ผลิตชิปหน่วย ความจำชั้นนำ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2566)

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยรายงานว่า จีนให้คำมั่นว่าจะลงทุนเพิ่มอีก 1.9 พันล้านดอลลาร์แก่ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่อาจช่วยให้ทุนของรัฐบาลหลั่งไหลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ถูกกีดกันโดยมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ ซึ่งเว็บไซต์ของรัฐบาลจีนที่เปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทระบุว่า กองทุนเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมวงจรรวมแห่งชาติหรือกองทุนใหญ่ (Big Fund) จะมอบเงิน 1.29 หมื่นล้านหยวน ให้กับบริษัทแยงซี เมโมรี เทคโนโลยีส์ (YMTC) ทั้งนี้ YMTC เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชิปของจีนเพียงไม่กี่รายที่ติดกลุ่มบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งสามารถแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อย่างซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ และเอสเค ไฮนิกซ์ เพื่อจัดหาชิปหน่วยความจำสำหรับแอปพลิเคชันต่างๆ ตั้งแต่สมาร์ตโฟนไปจนถึงเซิร์ฟเวอร์ของศูนย์ข้อมูล

อย่างไรก็ตาม ทางด้านเว็บไซต์เทียนเหยี่ยนฉา (Tianyancha) ระบุว่า การอัดฉีดเงินทุนจากกองทุนใหญ่ ซึ่งเป็นเครื่องมือการลงทุนอันเป็นเอกลักษณ์ของจีน มีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 31 มกราคม 2566 นอกจากนี้ ขนาดของการลงทุนบ่งชี้ว่า จีนกำลังกระตุ้นการใช้จ่ายในอุตสาหกรรมชิปที่ประสบปัญหาอีกครั้งและกำลังดิ้นรน เพื่อหลีกเลี่ยงการควบคุมด้านเทคโนโลยีของสหรัฐ ขณะที่เผชิญกับภาวะอุปสงค์ทั่วโลกที่ซบเซา โดยรายงานระบุว่า บรรดาผู้นำระดับอาวุโสได้เปิดตัวโครงการรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชันครั้งใหญ่เมื่อปี 2565 โดยไล่เจ้าหน้าที่ระดับสูงและผู้บริหารหลายคนที่เชื่อมโยงกับกองทุนใหญ่ออกไป โดยปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังกลับมาฟื้นตัว ซึ่งอาจช่วยบรรเทาภาวะการเงินของรัฐบาลที่ตึงตัวจากการดำเนินมาตรการโควิดเป็นศูนย์มานานหลายปี

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)