ข่าวประจำวันที่ 23 มีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

1. จุรินทร์เปิดสินค้าไลฟ์สไตล์ยิ่งใหญ่ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2566)

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2023 ที่สุดของงานแฟร์ ที่รวมสินค้าไลฟ์สไตล์แบบครบวงจรจากผู้แสดงสินค้าและผู้ประกอบการรุ่นใหม่กว่า 500 บริษัท 1,000 คูหา พร้อมด้วยนายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และเอกอัครราชทูตจากประเทศต่างๆ ประจำประเทศไทยเข้าร่วม ซึ่งงานนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 หลังจากลดขนาดเป็นงานขนาดเล็กมา 3 ปี เนื่องจากโควิด-19 งานนี้เป็นการจับมือร่วมกันสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีบทบาทสำคัญ ขับเคลื่อนภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก 1. อุตสาหกรรมนี้มีเอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอีเกินกว่า 90% 2. เป็นอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากกว่า 1,000,000 คน และ 3. อุตสาหกรรมที่สามารถสร้างเงินให้ประเทศไทยมหาศาล สำหรับการส่งออกปี 2565 สร้างเงินให้ประเทศถึง 450,000 ล้านบาท ขยายตัว 16.5% ในเดือนมกราคม ปี 2566 สร้างเงินให้ประเทศแล้ว 30,000 ล้านบาท ในตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม สินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นไทย ถือเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก มีจุดเด่นการออกแบบอัตลักษณ์ของความเป็นไทย เป็นซอฟต์พาวเวอร์ร่วมสมัย มีศักยภาพทำเงินให้ประเทศไทยมหาศาลในอนาคตตั้งเป้าให้ไทยเป็นฮับในภูมิภาค ด้านสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นต่อไป สำหรับภายในงานมีหลายกิจกรรม จัดงานแสดงสินค้ามีผู้ประกอบการร่วม 1,000 คูหา สร้างเวทีสำคัญให้มีการเจรจากัน ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้นำเข้าจากต่างประเทศ คาดว่างานนี้สร้างเงินให้ประเทศไม่ต่ำกว่า 1,400 ล้านบาท

 

A person sitting at a desk

Description automatically generated

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์

รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

2. เกษตรฯ จับมือ NASDA ลงทุนด้านเกษตร (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2566)

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หารือกับ นายฮิวจ์ เวทเธอร์ส รัฐมนตรีด้านการเกษตรรัฐเซาท์แคโรไลนา (Mr.Hugh Weathers Commissioner National Association of State Department of Agriculture (NASDA) และคณะ National Association of Departments of Agriculture (NASDA) โดยมีผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ การส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนภาคการเกษตร รวมถึงรับฟังนโยบายยุทธศาสตร์ด้านเกษตรของประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ค.ศ. 2023-2027) มีนโยบายด้านการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตยุทธศาสตร์เทคโนโลยีเกษตร 4.0 ยุทธศาสตร์ "3S" (Safety - Security -Sustainability) ยุทธศาสตร์การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วน และยุทธศาสตร์เกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวทางศาสตร์พระราชา นอกจากนี้ได้ขับเคลื่อนภาคเกษตรด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยสู่ 3 สูง อาทิ ประสิทธิภาพสูงมาตรฐานสูง และรายได้สูง รวมทั้งหารือแนวทางความร่วมมือในการขยายการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา 3 อันดับคือ ผลไม้ ผลิตภัณฑ์ปลา และผลิตภัณฑ์ข้าว มูลค่าการส่งออกในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 23,091 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 28,383 ล้านบาท ในปี 2565 หรือร้อยละ 22.92 สำหรับมูลค่าการส่งออกปลาและผลิตภัณฑ์ ในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 19,384 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 26,756 ล้านบาท ในปี 2565 หรือร้อยละ 38.03 และมูลค่าการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์ ในปี 2561 คิดเป็นมูลค่า 19,607 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 21,264 ล้านบาท ในปี 2565 หรือร้อยละ 8.45

 

A person folding the arms

Description automatically generated with medium confidence

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

 

3. กนอ.เล็งนำแนวคิด CJPT ใช้นิคมฯ Smart Park (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2566)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าร่วมกิจกรรมทดสอบสมรรถนะรถยนต์ ซึ่งจัดโดย 4 บริษัทภาคี คอมเมอร์เชียล เจแปน พาร์ทเนอร์ชิบ เทคโนโลยี คอร์เปอร์เรชั่น (Commercial Japan Partnership Technologies : CJPT) ประกอบด้วย บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ซูซุกิ มอเตอร์ คอร์เปอร์เรชั่น และบริษัท ไดฮัทสุ มอเตอร์ จำกัด ร่วมกับบริษัท ฮีโน่มอเตอร์ส จำกัด ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ภายใต้แนวคิด CASE (Connected, Autonomous, Shared, Electric) เพื่อลดปัญหาที่พบในระบบขนส่ง รวมถึงการจัดการด้านพลังงาน (Energy Solution) ทางเลือกด้านการขับเคลื่อน (Mobility Solution) เช่น การจัดสรรยานพาหนะตามเป้าหมายการใช้งานอย่างเหมาะสม การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ และการจัดการบริหารข้อมูล (Data Solution) สำหรับแนวคิดของ CJPT เป็นการพัฒนาระบบยานยนต์แห่งอนาคตในแง่ของทางเลือกด้านพลังงานทดแทน การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดการพลังงาน และการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ กนอ.ในการประกาศเจตนารมณ์ให้นิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค (Smart Park) มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และไม่อนุญาตให้มีปล่องระบายมลพิษทางอากาศ โดย กนอ.จะนำแนวคิดที่ได้ไปส่งเสริมการจัดการพลังงานภายในนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ทปาร์ค (Smart Park) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ทดแทนการพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานไฮโดรเจน และพลังงานชีวภาพ เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมระบบการขนส่งภายในโครงการที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดและปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ คาดว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะดำเนินการได้ถึง 70% เมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาบนพื้นฐานเดิม

 

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอาจจะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์โดยใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานไฮโดรเจน เป็นพลังงานทางเลือกใหม่ รวมทั้งการพัฒนาด้านซอฟต์แวร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบปฏิบัติการสำหรับยานยนต์ที่พัฒนาเทคโนโลยี และโซลูชันยานยนต์ใหม่ซึ่งครอบคลุมถึงรถบัส และรถจักรยานยนต์ เพื่อสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงต่ำในการคมนาคมแต่ให้ประสิทธิภาพสูง อาทิ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่(Battery Electric Vehicle : BEV) รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle : FCEV) เป็นต้น

 

ข่าวต่างประเทศ

A close-up of a flag

Description automatically generated with medium confidence

 

4. แบงก์ชาติสหรัฐขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ท่ามกลางวิกฤติธนาคาร (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 23 มีนาคม 2566)

ธนาคารกลางสหรัฐ เปิดเผยว่า ได้มีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ แม้ยังคงมีความกังวลว่า อาจยิ่งเพิ่มความปั่นป่วนให้กับภาคการธนาคารอีก โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด ) แถลงว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ( เอฟโอเอ็มซี ) มีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50%- 4.75% ทั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 9 ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2565 ที่เฟดปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และเกิดขึ้นหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.5% สู่ระดับ 3.5% เพื่อต่อสู้กับอัตราเงินเฟ้อในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 8.5%

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นอัตราดอกกเบี้ยของเฟดเกิดขึ้นหลังหน่วยงานกำกับดูแลด้านนโยบายการเงินของสหรัฐสั่งปิดธนาคารอย่างน้อย 2 แห่งในเดือนนี้ คือ ซิลิคอน วัลเลย์ (เอสวีบี) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (เอสบี) ขณะที่กลุ่มสถาบันการเงินขนาดใหญ่อันดับต้นของประเทศต้องระดมอัดฉีดสภาพคล่องในรูปแบบเงินฝาก เพื่อช่วยเหลือกิจการของ เฟิสต์ รีพับลิก แบงก์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับภูมิภาค

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)