ข่าวประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566

ข่าวในประเทศ

Website

Description automatically generated

นายจุลพงษ์ ทวีศรี

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

1. กรอ. มอบ POMS Box 106 โรงงาน เฝ้าระวังมลพิษสิ่งแวดล้อม (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566)

 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.มีภารกิจและหน้าที่สำคัญประการหนึ่งในการเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษโรงงาน โดย กรอ. ได้สร้างกองหนุนเฝ้าระวังมลพิษสิ่งแวดล้อม รับสมัครโรงงานน้ำดีติดตั้งอุปกรณ์รับส่งข้อมูลระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System Box : POMS Box) เชื่อมต่ออุปกรณ์ผ่านระบบ Internet เพื่อการตรวจสอบค่ามลพิษทางน้ำและอากาศ ล็อตแรก 106 โรงงาน จาก 417 โรงงานทั่วประเทศ ตั้งเป้าจะติดตั้งครบทั่วประเทศ สำหรับกลุ่มโรงงานที่สามารถนำ POMS Box ไปติดตั้งได้คือโรงงานที่เข้าข่ายต้องติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษน้ำระยะไกล (BOD/COD online) ตามประกาศ อก. เรื่อง กำหนดให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม พ.ศ. 2547 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 รวมทั้ง โรงงานที่เข้าข่ายต้องติดตั้งระบบตรวจวัดมลพิษอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (CEMS) ตามประกาศ อก. เรื่องกำหนดให้โรงงานประเภทต่างๆ ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศจากปล่องแบบอัตโนมัติ พ.ศ. 2544 และประกาศ อก. เรื่อง กำหนดให้โรงงานต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษ เพื่อรายงานมลพิษอากาศจากปล่องโรงงาน พ.ศ. 2565 ซึ่งประกาศทั้ง 3 ฉบับได้กำหนดให้โรงงานที่ต้องติดตั้ง BOD/COD online หรือ CEMS แล้วต้องส่งสัญญาณการตรวจวัดมายัง กรอ.

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 กรอ. ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องอุปกรณ์รับส่งข้อมูลระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (POMS Box) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ในรูปแบบของกล่อง POMS Box เชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกันผ่านระบบ Internet เพื่อการตรวจสอบค่ามลพิษทางน้ำและอากาศเป็นการแก้ปัญหาในการส่งข้อมูลที่ขาดความต่อเนื่องและเป็นปัจจุบันของผู้ประกอบการ อีกทั้งยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดย POMS Box เป็นอุปกรณ์ที่มีโปรแกรมสำหรับส่งข้อมูลผลการตรวจวัดมายัง กรอ. ได้โดยตรงและส่งข้อมูลที่ครบถ้วนและรวดเร็ว โดย กรอ. มีเป้าหมายจะมอบ POMS Box แก่ผู้ประกอบการโรงงานที่มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป หรือโรงงานที่มีปริมาณค่า BOD ขาเข้าระบบบำบัดตั้งแต่ 4,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป และโรงงานที่ต้องรายงานค่ามลพิษอากาศจากปล่องโรงงานในทั่วประเทศทั้ง 417 โรงงาน

 

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

2ค่าไฟฟ้าแพงเกินจริง ภาคเอกชนผิดหวังหลักคิดของ กกพ. (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566)

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ภาคเอกชนรู้สึกผิดหวังกับกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศอัตราค่าไฟฟ้ารอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม โดยค่าไฟใหม่ 4.77 บาท ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดก่อน 5 สตางค์ เนื่องจากไม่ได้ช่วยลดภาระให้กับภาคครัวเรือน ทั้งที่ค่าไฟรอบนี้ทิศทางพลังงานของโลกได้ลดลงตามความเป็นจริงจึงสมควรปรับสมมุติฐานราคาให้เป็นบวกกับผู้บริโภคมากขึ้น โดยงวดดังกล่าวที่ลดลงเป็นจากปัจจัยภายนอกทั้งค่าเงิน และราคาพลังงานโลกแต่ในเชิงโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ไขและหาทางเลือกอื่น ทั้งนี้ อยากจะตั้งคำถามถึงภาครัฐในการบริหารจัดการไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศ ที่กระทบครัวเรือนทุกคน ตลอดจนถือเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของภาคธุรกิจที่กำลังเร่งฟื้นฟู ในช่วงภาวะเศรษฐกิจของโลกชะลอตัว และแข่งขันรุนแรงในระดับประเทศคือ 1. สมมุติฐานการคำนวณค่าไฟฟ้าที่สูงเกินไป ที่ไม่ตอบโจทย์ 2. การเร่งรัดให้มีการ   รับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นโครงการใดๆ ในช่วงปลายเทอมของรัฐบาล และ 3. ปัญหาเชิงโครงสร้าง และนโยบาย กลับไม่มีใครพูดถึงทางออก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. ได้แถลงข่าวว่าการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการงวดเดือนพฤษภาค - สิงหาคม 2566 และแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 กรณี ทั้งนี้ หลังได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก ในแต่ละแนวทางแล้ว มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเป็นอัตราเดียวกันสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยและผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เท่ากับ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วยจากเดิมค่าไฟฟ้าบ้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และภาคธุรกิจ 5.33 บาทต่อหน่วย โดยกกพ.ได้พิจารณาหนังสือยืนยันจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงความเหมาะสมของอัตราค่าไฟฟ้า 4.77 บาทต่อหน่วย

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

3. อุตสาหกรรมรถยนต์ฟื้นตัว ยอด 'ผลิต-ขาย' เพิ่มหลังปัญหาชิพขาดคลี่คลาย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566)          

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีทั้งสิ้น165,612 คัน เพิ่มขึ้น 6.39% จากช่วงเดียวกันปี 2565 เพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มขึ้น จึงผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น 16.17% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น 6.39% และเพิ่มขึ้น 2.02% จากเดือนมกราคม ปี 2566 โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ 2 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กุมภาพันธ์ 2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 327,939 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 6.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 95,612 คัน เท่ากับ 57.73% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 16.17% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ 2 เดือนแรกของปีนี้ ผลิตเพื่อส่งออกได้ 187,144 คัน เท่ากับ 57.07% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 11.73% จากปี 2565 ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผลิตได้ 70,000 คัน เท่ากับ 42.27% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลง 4.58% จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ทำให้ 2 เดือนแรกของปีนี้ผลิตได้ 140,795 คัน เท่ากับ 42.93% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้น 0.64% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 71,551 คัน เพิ่มขึ้น 9.11% จากเดือนมกราคม 2566 แต่ลดลง 3.94% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน เนื่องจากการผลิตรถกระบะเพื่อการขนส่งลดลงถึง 54.13% เพราะขาดชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ ส่งผลให้ยอดขายรถกระบะลดลง 23.5% ทำให้ 2 เดือนแรกของปีนี้มียอดขาย 137,130 คัน ลดลง 4.73% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ส่งออกได้ 88,525 คัน เพิ่มขึ้น 2% จากเดือนมกราคม 2566 และเพิ่มขึ้น 11.42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะได้รับชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์มากขึ้นจึงผลิตส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะเพิ่มขึ้น 50.04% และ 7.44% ตามลำดับ ทำให้ส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ออสเตรเลียและโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยใน 2 เดือนแรกของปีนี้สามารถส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 175,311 คัน เพิ่มขึ้น 17.43% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์การส่งออกหลังได้รับชิพเพิ่มและสถานการณ์ชิพโลกเริ่มคลี่คลาย หลังจากการเปิดประเทศทำให้การทำงานที่บ้านน้อยลง และความต้องการโน้ตบุ๊ค มือถือ ฯลฯ ลดลงตามจึงทำให้ชิพกลับมาใช้   ในด้านยานยนต์มากขึ้น แต่ปัจจัยในการส่งออกที่ต้องจับตา คือ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะกระทบต่อการถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการเข้มงวดของสถาบันการเงินในไทยเพื่อการปล่อยสินเชื่อที่จะกระทบต่อแรงซื้อได้ นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามปัญหาเศรษฐกิจโลกหากไม่ไม่ขยายวงกว้าง ก็คาดว่าการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับไปสู่ระดับ 2 ล้านคันได้ในปี 2567 โดยในปีนี้ยังมั่นใจว่าเป้าการผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.95 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 3.53% จากปีก่อน ซึ่งแบ่งเป็นยอดผลิตเพื่อส่งออก 1.05 ล้านคัน และยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 9 แสนคัน

 

ข่าวต่างประเทศ

A close-up of a flag

Description automatically generated with medium confidence

 

4. ค้าปลีกสหรัฐ ฝุ่นตลบ งัดแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอย (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, ประจำวันที่ 24 มีนาคม 2566)

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี เปิดเผยรายงานว่า ขณะนี้ผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา อาทิ โครเกอร์ (Kroger) ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานกว่า 140 ปี และมีสาขา 2,849 แห่งทั่วสหรัฐ เริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เข้ามาช็อปในร้านค้าของตน โดยเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการใช้คูปองส่วนลดมากขึ้น การเปลี่ยนมาซื้อสินค้าไพรเวตแบรนด์ที่ราคาถูกกว่าแบรนด์เนม การซื้อวัตถุดิบไปทำอาหารเองที่บ้าน ฯลฯ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนว่า ตอนนี้ผู้บริโภคสหรัฐปฏิบัติตัวเหมือนกำลังอยู่ในยุคเศรษฐกิจถดถอยไปแล้ว โดยปรากฏการณ์ที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นตลอดช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ทำให้บรรดาผู้ค้าปลีกเริ่มนำยุทธศาสตร์สำหรับรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาใช้แบบไม่ต้องรอให้รัฐบาลคอนเฟิร์มก่อน ไม่ว่าจะเป็นทาร์เก็ต (target) ที่เพิ่มสัดส่วนอาหารและของจำเป็นสำหรับครัวเรือนเพื่อกระตุ้นจำนวนลูกค้า

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอย แต่หากดูบรรยากาศในร้านค้าหลายแห่งจะพบว่าเริ่มคล้ายคลึงกับช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้าไปทุกที โดยเฉพาะพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นไปตามกระแส "rolling recessions" หรือสภาพที่แม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะยังไม่เข้าข่ายถดถอย แต่หลายธุรกิจ-อุตสาหกรรมกับประสบภาวะถดถอย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)