ข่าวในประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
1. ไทยร่วมประชุม IMT-GT ดันร่วมมือสินค้าเกษตร-โครงสร้างพื้นฐาน (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2566)
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT Summit) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เข้าร่วมประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (The 15th IMT-GT Summit) ณ เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยการประชุมในครั้งนี้ได้มีการสรุปความสำเร็จในรอบ 30 ปี ของแผน IMT-GT ของทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งมีผลความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ การมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภายในอนุภูมิภาคซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.2 แสนล้านบาท (1.27 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2527 เพิ่มเป็น 13.38 ล้านล้านบาท (4.057 แสนล้านดอลลาร์) (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 33) ในปี 2564 ส่วนมูลค่าการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นจาก 3.23 ล้านล้านบาท (9.79 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2527 เพิ่มเป็น 20.3 ล้านล้านบาท (6.18 แสนล้านดอลลาร์) ในปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานความเชื่อมโยงทางกายภาพ ซึ่งมีมูลค่ารวม กว่า 1.81 ล้านล้านบาท (5.7 หมื่นล้านดอลลาร์) ในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2552 ที่เคยมีมูลค่ารวมเพียง 1.71 แสนล้านบาท (5.2 พันล้านดอลลาร์) สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ประชาชนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลดความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย (MSMEs) ในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 3 ประเทศ และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาหลัก ได้แก่ สำนักเลขาธิการอาเซียน และธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังได้หารือประเด็นความร่วมมือสำคัญ เช่น การพัฒนาสีเขียวและเศรษฐกิจสีครามสู่ความยั่งยืนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการยกระดับการพัฒนาอนุภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในอุตสาหกรรมศักยภาพของ IMT-GT เช่น ฮาลาล ยางพารา และการท่องเที่ยว พร้อมทั้งดันโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง 3 ประเทศ พร้อมร่วมผลักดันการท่องเที่ยวหลังโควิด-19
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
2. สนค.ลุยเสริมแกร่งวิสาหกิจชุมชน นำร่อง 2 แห่ง ดันเป็นต้นแบบทำธุรกิจโมเดล BCG (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2566)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ สนค. อยู่ระหว่างการดำเนินงาน “โครงการศึกษาแนวทางการยกระดับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยได้มีการลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึก และรวบรวมข้อมูลวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ใน 4 ภูมิภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทำการสัมภาษณ์เชิงลึกวิสาหกิจชุมชน จำนวน 20 กลุ่ม ทั้งภาคการผลิตสินค้าและภาคบริการ จากนั้นได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนเพื่อเป็นต้นแบบ จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ จังหวัดสมุทรสงคราม ต้นแบบสำหรับภาคการผลิตสินค้า โดยสินค้าที่ผลิต ได้แก่ กล้วยแปรรูปต่างๆ เช่น กล้วยผง กล้วยอบ กล้วยเส้น และไซรัปกล้วย และ 2. วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวแหลมสัก จังหวัดกระบี่ ต้นแบบสำหรับภาคบริการ ให้บริการการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และบริการโฮมสเตย์ ทั้งนี้ เมื่อได้คัดเลือกวิสาหกิจชุมชนเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบแล้ว สนค. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เมื่อวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2566 ณ จังหวัดสมุทรสงคราม และวันที่ 8-9 พฤษภาคม 2566 ณ จังหวัดกระบี่ เป็นการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้วิสาหกิจชุมชนต้นแบบทั้ง 2 กลุ่ม รวมทั้งเปิดโอกาสให้วิสาหกิจชุมชนที่สนใจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมด้วย รวมกว่า 50 ราย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สนค. จะติดตามผลการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ และจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินโครงการในเดือนก.ค.2566 จากนั้นจะถอดบทเรียนความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ พร้อมจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาศักยภาพวิสาหกิจชุมชนภายใต้โมเดล BCG เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเผยแพร่ให้วิสาหกิจชุมชนใช้เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจใช้ประโยชน์ด้วย
นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์
นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย
3. ชงรัฐบาลหนุนน้ำมันชีวภาพ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2566)
นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ อยากให้รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพมากขึ้น เนื่องจากมีฐานการผลิตมาจากภาคเกษตรของไทย โดยเฉพาะเอทานอลที่ผลิตจากอ้อยและมันสำปะหลัง โดยผลักดันให้น้ำมันกลุ่มเบนซินปัจจุบันที่มีหัวจ่าย 5-6 ชนิด เหลือเพียงแก๊สโซฮอล์อี 20 ที่ผสมเอทานอลในเบนซิน 20% เป็นน้ำมันพื้นฐานของกลุ่มเบนซิน และมีแก๊สโซฮอล์ อี 85 เป็นน้ำมันทางเลือก ทั้งนี้ มองว่าที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งเน้นการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีมากเกินไป ซึ่งไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่มองว่าไม่ได้ดีสุด ทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควรจะเป็นทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเกษตรกรที่จะมีส่วนในการยกระดับราคาและรายได้ในภาคเกษตร ขณะที่โรงงานผลิตเอทานอลก็มีศักยภาพการผลิตที่เพียงพอหากมีแผนที่ชัดเจน แม้ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจะมีนโยบายที่จะยกเลิกเบนซินบางชนิด แต่ก็ไม่ได้คืบหน้าอะไร หรือแม้กระทั่ง อี 20 ที่ระบุว่าเป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานรัฐก็ไม่ได้มีการส่งเสริมหรือโปรโมตการใช้ จึงเห็นว่าควรจะกำหนดแผนที่ชัดเจนขึ้นและต้องทำให้ส่วนผสมเป็น 20% อย่างแท้จริง หากกรณีที่กังวล เอทานอลบางครั้งอาจจะขาดแคลนก็ยังสามารถนำเข้าจากต่างประเทศมาชั่วคราวได้ ถ้ามีนโยบายชัดเจนไม่เปลี่ยนไปมาก็เชื่อว่าปัญหานี้จะไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางด้าน นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สมาพันธ์ฯกำลังติดตามการจัดตั้งรัฐบาลและรอดูว่าใครจะมาดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะเข้าไปหารือถึงแนวทางการเร่งดูแลเกษตรกรชาวสวนปาล์ม เนื่องจากผลผลิตเริ่มมีปัญหาที่ลดลง เพราะขาดน้ำ ปุ๋ยเคมีราคาแพง ขณะที่น้ำมันจากถั่วเหลือง ข้าวโพดกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้น
ข่าวต่างประเทศ
4. 'ไบเดน' ใช้สิทธิวีโต้ร่างกฎหมายเก็บภาษีแผงโซลาร์เซลล์จากไทย (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 19 พฤษภาคม 2566)
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ เปิดเผยว่า ได้ใช้สิทธิวีโต้ร่างกฎหมายเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่ออุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแผงโซลาร์เซลล์ จากไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 พฤษภาคม 2566) ซึ่งก่อนหน้านี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐหลังการใช้สิทธิวีโต้ของปธน.ไบเดน ร่างกฎหมายดังกล่าวจะกลับเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และทั้ง 2 สภาจะต้องรวบรวมเสียงสนับสนุนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ในการลงมติรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว มิฉะนั้นร่างกฎหมายฉบับนี้จะตกไป โดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าเป็นเรื่องยากที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรจะสามารถรวบรวมเสียงได้มากพอสำหรับการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้ ปธน.ไบเดนใช้อำนาจประธานาธิบดีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวในเดือนมิถุนายน 2565 โดยจัดให้เป็นสินค้าปลอดภาษีนำเข้าเป็นเวลา 24 เดือนเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐสามารถเพิ่มกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ และผลักดันนโยบายพลังงานสะอาด
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐแถลงว่า บริษัทผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนได้ใช้ฐานการผลิตในไทย มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชาเพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งบริษัทดังกล่าว ได้แก่ BYD Co., Canadian Solar International Ltd., Trina Solar Science & Technology Ltd. และ Vina Solar Technology Co. ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์ของบริษัททั้ง 4 คิดเป็นสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดที่มีการนำเข้าในสหรัฐ ทั้งนี้ สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐ (SEIA) เตือนว่าการเก็บภาษีนำเข้าต่อแผงโซลาร์เซลล์จากทั้ง 4 ประเทศดังกล่าวจะส่งผลให้ชาวอเมริกันตกงาน 30,000 คน
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)