ข่าวประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person standing at a podium with a microphone

Description automatically generated with medium confidence

นายจุลพงษ์ ทวีศรี

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)

 

1. กรอ.ออกกฎคุมเข้มโรงงาน สั่งรายงานการจัดเก็บหรือใช้สารเคมี (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2566)

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า การประกอบกิจการโรงงาน ประเภทที่มีการเก็บหรือการใช้สารเคมี หากโรงงานมีการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยสารเคมีที่ไม่เหมาะสม อาจเป็นเหตุให้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อทรัพย์สินและสิ่งแวดล้อม ทั้งในโรงงานและชุมชนโดยรอบได้ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2565 กำหนดให้โรงงานมีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม มีมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานและจัดทำรายงานปริมาณการใช้/การเก็บสารเคมีของโรงงาน โดยข้อเท็จจริงที่ต้องรายงาน ได้แก่ 1. มีการเก็บหรือใช้สารเคมีในการประกอบกิจการโรงงานในปริมาณตั้งแต่หนึ่งตันต่อปีต่อสารเคมีหนึ่งชนิด พร้อมทั้งรายงานสารเคมีแต่ละรายการ หรือ 2. มีการเก็บหรือใช้สารเคมีในการประกอบกิจการโรงงานแต่ปริมาณไม่ถึงหนึ่งตันต่อปีต่อสารเคมีหนึ่งชนิด หรือ 3. ไม่มีการเก็บหรือใช้สารเคมีในการประกอบกิจการโรงงาน ทั้งนี้ เพื่อให้การรายงานการใช้/การเก็บสารเคมีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กระทรวงจึงได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อเปลี่ยนช่องทางการรายงานข้อมูล และลดความซ้ำซ้อนของการจัดทำรายงาน เป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ต้องรายงานข้อมูลให้ภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นการปรับรอบการรายงานให้สอดคล้องกับการรายงาน แบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี หรือ ร.ง. 9 คือ ภายในเดือนเมษายนของปี ถัดไป สำหรับการรายงานข้อมูลในรอบปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย 6,498 โรงงาน ที่อยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงฯ ต้องส่งรายงานภายใน 31 สิงหาคม 2566 และที่ไม่อยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศ กระทรวงฯ อีก 54,140 โรงงาน ต้องส่งรายงานภายใน 1 ตุลาคม 2567 ผ่านระบบรายงานข้อมูลกลางของกระทรวงอุตสาหกรรม (iSingle Form) หากไม่ส่งรายงานตามกำหนด มีโทษปรับสูงสุด 20,000 บาท โดยในปี 2567 กรอ. ตั้งเป้าให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานส่งรายงานข้อมูลครบ 100%

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรงงานที่ได้รายงานข้อมูลผ่านระบบข้อมูลเพื่อการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม (https:// facchem.diw.go.th/) แล้ว ให้ถือว่าได้รายงานข้อมูลในรอบปีแรกของการบังคับใช้กฎหมายแล้ว และต้องรายงานข้อมูลครั้งต่อไป ภายในเดือนเมษายนของปีถัดไป ทั้งนี้ กรอ. เล็งเห็นความสำคัญด้านการบริหารจัดการสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อลดความเสียหาย ต่อภาคอุตสาหกรรมและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ชุมชนโดยรอบโรงงาน ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมดีอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated with medium confidence

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)

 

2. คต.หนุนส่งออกข้าวไทย จัดเจรจาธุรกิจขยายช่องทางจำหน่าย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2566)

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยถึงภาพรวมการส่งออกข้าวไทยปี 2566 ว่า กรมและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้คาดการณ์ปริมาณส่งออกข้าวไทยที่ 7.5 - 8.0 ล้านตัน ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน 2556 ไทยส่งออกแล้ว 2.62 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.41% และมีมูลค่าการส่งออก 48,612 ล้านบาท หรือ 1,436 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23.29% และ 19.37% ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกข้าวไทยได้รับปัจจัยบวกจากประเทศผู้นำเข้าข้าวสำคัญยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการข้าวในประเทศและรักษาความมั่นคงทางอาหาร และราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ด้วยปริมาณผลผลิตข้าวไทยเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาท ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และจีน ทั้งนี้ กรมฯ มีแผนกิจกรรมเดินหน้าผลักดันการส่งออกข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติสัญจรในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การจัดคณะผู้แทนเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น ฮ่องกง จีน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ เช่น งาน China - ASEAN Expo (จีน) งาน Fine Food (ออสเตรเลีย) และงาน ANUGA (เยอรมัน) เพื่อส่งเสริมตลาดและขยายโอกาสในการส่งออกข้าวไทยไปต่างประเทศให้เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม กรมฯ ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 - 2567 ด้านการตลาดต่างประเทศ ได้จัดแสดงสินค้าข้าวไทยในงานแสดงสินค้าอาหาร THAIFEX 2566 ระหว่างวันที่ 23 - 27 พฤษภาคม 2566 เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีและความโดดเด่นของข้าวไทย และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตข้าวคุณภาพดีจากจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวคุณลักษณะพิเศษที่สำคัญของไทยได้มีช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated with medium confidence

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. เผยหนี้พุ่ง-ไฟแนนซ์เข้มฉุดยอดขายรถวูบ 6.11% (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2566)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ 117,636 คัน ลดลง 0.13% เนื่องจากมีวันหยุดมาก ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งผลิตไว้ล่วงหน้า ยอดการผลิต 4 เดือนของปีนี้ (มกราคม - เมษายน 2566) อยู่ที่ 625,423 คัน เพิ่มขึ้น 4.61% เป้าหมายการผลิตรถยนต์ปี 2566 ตั้งไว้ที่ 1.95 ล้านคัน จึงค่อนข้างกังวล แต่ยังคาดหวังว่าในครึ่งปีหลังเมื่อจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย จะทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อการเช่าซื้อรถยนต์ได้มากขึ้น สำหรับการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศโดยรวมในเดือนเมษายน2566 อยู่ที่ 59,530 คัน ลดลง 6.14% ส่งผลให้ 4 เดือนปีนี้ ยอดจำหน่ายอยู่ที่ 276,603 คัน ลดลง 6.11% ส่วนใหญ่มาจากการปล่อยสินเชื่อหรือไฟแนนซ์ให้กับรถยนต์เข้มงวดมาก เนื่องจากประชาชนบางส่วนมีการค้างชำระหนี้มือถือ ประกอบกับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่สูงทำให้กดดันการค้างชำระหนี้ที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นเป้าหมายการผลิตเพื่อจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่วางไว้ 9 แสนคัน ต้องรอความหวังจากรัฐบาลใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา อยู่ที่ 79,940 คัน เพิ่มขึ้น 43.53% โดยสัดส่วนที่เพิ่มสูงมาจากฐานต่ำของปีที่แล้ว เนื่องจากขาดแคลนชิปจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน จนต้องล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ ขณะที่ส่งออก 4 เดือนปีนี้อยู่ที่ 353,632 คัน เพิ่มขึ้น 18.34% ทำให้เป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกปี 2566 ที่ 105,000 คัน มั่นใจว่าจะถึงเป้าหมาย

 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มยานยนต์ยังคงเป้าหมายการผลิต การจำหน่ายและส่งออกปีนี้ไว้เหมือนเดิม เพราะคาดหวังรัฐบาลใหม่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่ปรับขึ้น ก็ช่วยในเรื่องของการส่งออกและยอดขายรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของนโยบายการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ หรืออีวี 3.5 ที่ยังไม่ได้มีการอนุมัติจากครม. เพราะเกิดยุบสภาก่อน จึงต้องรอรัฐบาลใหม่มาสานต่อ หวังว่าจะเข้ามาเร่งให้เกิดความต่อเนื่องเพราะมาตรการเดิมที่สนับสนุนนั้นได้สิ้นสุดระยะเวลาปี 2566

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red blue and black circle

Description automatically generated with low confidence

 

4. แบงก์ชาติเกาหลีใต้ตรึงดอกเบี้ยที่ 3.5% ลดคาดการณ์ศก.ปีนี้โต 1.4% (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 25 พฤษภาคม 2566)

ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมวันนี้ (25 พฤษภาคม 2566) ตามความคาดหมาย พร้อมปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากการส่งออกชะลอตัวลง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มลดต่ำลง ทั้งนี้ BOK มีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 แล้ว โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเดือนเมษายน โดยการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเริ่มต้นขึ้นหลังจากที่ BOK ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกัน 7 ครั้งนับตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้ว โดยสำนักข่าวยอนฮัปรายงานว่าการตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันหลายครั้งนี้ได้เพิ่มการคาดการณ์ที่ว่า BOK อาจยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบเข้มงวด ท่ามกลางสัญญาณเงินเฟ้อที่ลดลงและเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะเดียวกัน BOK ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้สำหรับปี 2566 ลงสู่ 1.4% จาก 1.6% ที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อ 3 เดือนก่อน แต่ BOK ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับปีนี้ที่ 3.5%

อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเกาหลีใต้เติบโตในอัตราชะลอตัวที่สุดในรอบกว่า 1 ปีในเดือนเมษายน ซึ่งถือเป็นสัญญาณล่าสุดว่าเงินเฟ้อเริ่มลดต่ำลง โดยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนเมษายนจากปีก่อนหน้า เทียบกับการปรับขึ้น 4.2% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ที่เงินเฟ้อรายปีเติบโตต่ำกว่า 4% แม้เงินเฟ้อเริ่มลดลง แต่เศรษฐกิจก็เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)