ข่าวประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2566

ข่าวในประเทศ

A person in a suit and tie

Description automatically generated with medium confidence

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

1. แบงก์รัฐผนึกภาคเอกชน ยกระดับอุตสาหกรรมยางพารา (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2566)

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานในพิธีลงนามแสดงเจตจำนง เพื่อขยายความร่วมมือโครงการยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา (CARE) ระหว่าง หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.), การยางแห่งประเทศไทย (กยท.), ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK), บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยางพารา ผลักดันสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อน BCG Economy เพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราและมูลค่าการส่งออก ให้ความรู้ด้านการเงินการส่งออก และเป็นต้นแบบการบูรณาการความร่วมมือในระบบห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยมีการตั้งศูนย์บูรณาการอุตสาหกรรมยาพาราครบวงจร ณ นิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง จังหวัดระยอง เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งนี้ ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการยกระดับซัพพลายเชนอุตสาหกรรมยางพาราให้สามารถเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านเกษตรและอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งยังช่วยสนับสนุนให้การส่งออกยางพาราขยายตัวได้ดีขึ้น ปัจจุบันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์มีมูลค่ากว่า 680,000 ล้านบาทต่อปี ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้องจำนวนกว่า 6 ล้านคน ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ โดยคาดว่าในปี 2566 สถาบันการเงินของรัฐ จะสนับสนุนด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมยางพารา วงเงินกว่า 2,000ล้านบาท และคาดว่าการส่งออกยางพาราในปีนี้จะขยายตัวได้ 5%

 

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโอกาสดีของทั้งเกษตรกรสถาบันเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมยางพารา ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยล้วนได้ประโยชน์ ทั้งในส่วนของการเติมทุน เติมความรู้ โดยการยางแห่งประเทศไทย มีแนวคิดเข้าไปสนับสนุนของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการและเกษตรกร เช่น การต่อรองแพ็กเกจเงินกู้กับแบงก์รัฐเพื่อช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการลดภาระ ที่สำคัญยังพยายามผลักดันให้เกิดการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพารามากขึ้น เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรชาวสวนยางฯ โดยตรง รวมถึงการให้ความสำคัญโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

A person speaking into a microphone

Description automatically generated with medium confidence

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

2. ดีพร้อม โชว์ผลสำเร็จ เปิดพื้นที่ช่วยเอสเอ็มอีขายสินค้า คาดเงินสะพัด 15 ล้าน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2566)

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่า การส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและดำเนินกิจการได้เต็มศักยภาพ ถือเป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญ ดังนั้น ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เดินหน้ายกระดับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตด้วยกระบวนการทางธุรกิจที่เข้มข้น รวมถึงมีขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับศักยภาพการประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ๆ ผ่านนโยบาย "ดีพร้อมโต" โตได้ โตไว โตไกล โตให้ยั่งยืน ล่าสุด ดีพร้อม เร่งเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการช่วยผู้ประกอบการทดสอบตลาดรูปแบบออฟไลน์ในงาน "อุตสาหกรรมแฟร์ : โลจิสติกส์โตไว สินค้าราคาโดนใจ ใส่ใจชุมชน" เมื่อวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ภายในงานเป็นการนำสินค้าของผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมและโครงการต่างๆ ของดีพร้อม มาทดสอบตลาดและศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายและสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน รวมทั้งเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานและความสำเร็จการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการของดีพร้อม อีกทั้ง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้และสร้างเครือข่ายเกี่ยวกับระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมช่องทางการขายสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมภายในงานดังกล่าว ประกอบด้วย 1. การสัมมนาให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายสู่ระบบโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และ 2. การจำหน่ายสินค้าส่งตรงจากโรงงานกว่า 50 ร้านค้า ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม สุขภาพความงามเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาด เช่น การเล่นเกมต่างๆ เพื่อลุ้นรับของรางวัล การสะสมคูปองจากการซื้อสินค้าเพื่อชิงรางวัลใหญ่ เป็นต้น ตลอดทั้ง 3 วันของการจัดงานดังกล่าว เกิดเงินสะพัดหมุนเวียนภายในงานไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated with medium confidence

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. คนไทยถอยป้ายแดงรถอีวีแตะ 6 หมื่นคัน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2566)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมฃยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า คาดการณ์ ปี 2566 รถยนต์ไฟฟ้า 100% หรือบีอีวี ป้ายแดงในไทยจะพุ่งแตะ 40,000 คัน และหากกลุ่มราคาถูก อาทิ บีอีวีจากจีนเข้ามาเล่นในตลาดมากขึ้น ซึ่งราคาไม่แพงคันละ 300,000-500,000 บาท ก็มีโอกาสทำให้ยอดขายจดทะเบียนป้ายแดงพุ่งถึง 50,000-60,000 คัน เลยทีเดียว ตัวเร่งสำคัญมาจากการจ่ายเงินชดเชยตามมาตรการอีวีของกรมสรรพสามิตรถยนต์อีวีที่ได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน สำหรับยอดจดทะเบียน บีอีวีป้ายแดงเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ 5,181 คัน เพิ่มขึ้นช่วงเดียวกันจากปีที่ผ่านมา 320.88% ส่วนใหญ่มาจากรถยนต์นั่ง 3,820 คัน ที่เหลือ อาทิ รถกระบะ รถแวน 2 คัน รถยนต์สามล้อรับจ้าง 19 คัน รถโดยสาร 93 คัน รถบรรทุก 9 คัน ส่งผลให้เดือนมกราคม-เมษายน 2566 จดทะเบียนบีอีวีใหม่ 26,233 คัน เพิ่มขึ้น 534.41% จากช่วง 4 เดือนของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง 18,357 คัน รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คน 84 คัน รถยนต์บริการธุรกิจ 2 คัน รถยนต์บริการทัศนาจร 2 คัน รถกระบะ รถแวน 37 คัน รถยนต์รับจ้างสามล้อ 103 คัน รถยนต์สามล้อส่วนบุคคล 6 คัน รถโดยสาร 703 คัน รถบรรทุก 53 คัน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดและกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยตลาดยานยนต์ทั่วโลกในปี 2566 มีการเติบโตขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกนั้น จากข้อมูลเดือนมกราคม - เมษายน 2566 ระบุว่า ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่ายยานยนต์ 27.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 9% สะท้อนถึงตลาดยานยนต์ทั่วโลกที่กำลังฟื้นตัว และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเพื่อการผลิตเริ่มคลี่คลาย แต่ปริมาณ ดังกล่าวยังน้อยกว่าปริมาณจำหน่ายในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยในช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั่วโลกมีปริมาณจำหน่าย 31.8 ล้านคัน และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2566 จะมียอดขายรถยนต์ทั่วโลก 86.05 ล้านคัน

 

ข่าวต่างประเทศ

 

4. CPI เกาหลีใต้ชะลอตัวติดกัน 4 เดือน บ่งชี้เงินเฟ้อผ่านจุดพีก (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 2 มิถุนายน 2566)

สำนักงานสถิติแห่งชาติเกาหลีใต้ เปิดเผยรายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในสัญญาณที่บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อในเกาหลีใต้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ทั้งนี้ ดัชนี CPI เดือนพฤษภาคม 2566 ปรับตัวขึ้น 3.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 3.7% ในเดือนเมษายน ทั้งนี้ รายงานระบุว่า ราคาด้านการบริการสาธารณูปโภคดีดตัวขึ้น 23.2% ในเดือนพฤษภาคม ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาอุปทานพลังงานทั่วโลกอันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในระดับ     ที่สูงมาก ส่วนราคาสินค้าเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ลดลง 0.3% เนื่องจากต้นทุนราคาเนื้อหมูและเนื้อวัวเริ่มทรงตัว แม้ว่าราคาเนื้อไก่และปลาแมคคาเรลปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลและเบนซินลดลง 24% และ 16.5% ตามลำดับ ส่วนราคาด้านการบริการเพิ่มขึ้น 3.7%

อย่างไรก็ตาม สำหรับดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่รวมราคาในหมวดอาหารและพลังงานนั้น เพิ่มขึ้น 3.9% ในเดือนพฤษภาคม 2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 4% ในเดือนเมษายน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)