ข่าวในประเทศ
นายณัฐพล รังสิตพล
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
1. สมอ.คุมเข้มเครื่องใช้ไฟฟ้า (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2566)
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ได้ออกประกาศมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ให้เป็นกลุ่มสินค้าควบคุมเพิ่มขึ้น อีก 7 รายการ ที่จะประกาศบังคับใช้ในปี 2567-2568 ได้แก่ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับการดูแลผม ขน หรือผิว มอก.60335 เล่ม 2 (23) ปี 2564 ที่มีแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 250 โวลต์ เช่น หวีดัดผม ที่ม้วนผม ตัวเป่ามือ เครื่องอบผิวหน้า และเครื่องดูแลเท้า เป็นต้น 2. เครื่องทอดน้ำมันท่วม ขนาดไม่เกิน 5 ลิตร และกระทะทอด มอก.60335 เล่ม 2 (13) ปี 64 ที่ใช้งานในที่พักอาศัย มีผลบังคับใช้ภายในเดือนกรกฎาคม 2567 3. เครื่องปรับอากาศสำหรับห้อง ด้านประสิทธิภาพพลังงาน มอก.2134-2565 ระบุขีดความสามารถทำความเย็นทั้งหมดไม่เกิน 18,000 วัตต์ แรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 250 โวลต์ สำหรับไฟฟ้าเฟสเดียวแรงดันไฟฟ้าไม่เกิน 600 โวลต์ สำหรับไฟฟ้าหลายเฟสจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนมกราคม 2568 4. ตู้น้ำร้อนน้ำเย็นบริโภคและตู้น้ำเย็นบริโภค เฉพาะด้านความปลอดภัย มอก.2461-25XX มีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 5. สวิตช์ไฟฟ้าสำหรับใช้ในที่อยู่อาศัย มอก.824 เล่ม 1-2562 ที่มีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 440 โวลต์ มีผลบังคับใช้ภายในเดือนมีนาคม 2567 6. ชุดประกอบสวิตช์เกียร์และเกียร์ ควบคุมไฟฟ้าแรงดันต่ำ เล่ม 3 บอร์ดจ่ายไฟฟ้า มอก.1436 เล่ม 3-2564 สำหรับการใช้งานโดยบุคคลทั่วไป มีผลบังคับใช้ภายในเดือนมิถุนายน 2567 และ 7. มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับชนิดเหนี่ยวนำสามเฟส มอก.866 เล่ม 30 (101)-2561 ครอบคลุมมอเตอร์ไฟฟ้าสามเฟส มีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2568
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการทุกรายทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าสินค้าทั้ง 7 รายการ จะต้องนำเข้าสินค้าที่เป็นไปตามมอก. รวมถึงผู้จำหน่ายจะต้องขายสินค้าที่ได้ มอก.เท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย โดยการออกประกาศล่วงหน้านั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการก่อนที่จะมีการบังคับใช้มาตรฐานทั้ง 7 รายการ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
2. พาณิชย์ดันทูตพาณิชย์เป็นผู้นำทางความคิดขยายตลาดสินค้าไทย (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2566)
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ของไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ รวมถึงผู้ช่วย และเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานฯ ให้เป็นผู้นำทางความคิด (KOL : Key Opinion Leader หรือผู้ที่มีความน่าเชื่อถือในเรื่องต่างๆ จนสามารถแนะนำ และทำให้ผู้คนสนใจในเรื่องนั้นๆ) เพราะทูตพาณิชย์ ผู้ช่วย รวมถึงเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานฯ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านการตลาด เทรนด์ของสินค้า ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศที่ตนประจำอยู่ รวมถึงศักยภาพของสินค้าไทย หากสามารถเผยแพร่ข้อมูลของประเทศต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับสินค้าไทย ผู้ประกอบการไทย และแนะนำสินค้าไทยเข้าสู่ผู้บริโภคในประเทศต่างๆ บนสื่อโซเชียล และมีผู้ติดตาม ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยขยายตลาดของสินค้าไทยในต่างประเทศได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมาแรงและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง อีกทั้งผู้คนยังให้ความสำคัญกับผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด (อินฟลูเอนเซอร์) ยูทูบเบอร์ KOL กรมจึงได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ทำตัวเป็น KOL ตอนนี้ก็มีบางสำนักงานฯที่เริ่มทำแล้ว เช่น โพสต์เรื่องเกี่ยวกับเทรนด์ของสินค้า ความต้องการของผู้บริโภค ช่องทางการเข้าสู่ตลาดของสินค้าไทยในประเทศต่างๆ และกำลังจะกำหนดให้เป็น KPI หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จการทำงานของสำนักงานฯ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ส่วนการผลักดันการส่งออกอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของไทย ที่นำรายได้เข้าประเทศ เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปีนั้น กรมเน้นผลักดันและส่งเสริมการส่งออกใน 2 มิติ คือ การบริการ หรือเป็นฐานรับจ้างผลิตคุณภาพสูงด้าน post production เช่น การตัดต่อ ทำวิชวล เอฟเฟกต์ ฯลฯ และสินค้า ที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นผู้นำด้านทรัพย์สินทางปัญญาของภูมิภาค อย่างภาพยนตร์ ซีรีส์ ตัวคาร์แรกเตอร์การ์ตูนที่เคลื่อนไหวไม่ได้ แอนิเมชัน (เคลื่อนไหวได้) ฯลฯ โดยในช่วงหลังปี 2566 มีแผนที่จะดำเนินการอีก 17 โครงการ ซึ่งเน้นเจาะตลาดศักยภาพเชิงรุกสำหรับแอนิเมชันและคาแรคเตอร์ / เกมส์ / ภาพยนตร์ และซีรีส์ โดยเฉพาะในตลาดไต้หวัน และญี่ปุ่น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
3. 'พาณิชย์' นำทีมไทยถกเอฟทีเอยุเออีเล็งปิดดีลปีนี้ (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2566)
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เตรียมนำคณะผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (CEPA) ระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) รอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม - 1 กันยายน 2566 นี้ ณ เมืองดูไบ ยูเออี โดยการประชุมครั้งนี้จะประกอบด้วยการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า 9 คณะ ได้แก่ 1. การค้าสินค้า 2. พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 3. มาตรการเยียวยาทางการค้า 4. กฎหมายและสถาบัน 5. ทรัพย์สินทางปัญญา 6. การค้าบริการรวมถึงการค้าดิจิทัล 7. การลงทุน 8. มาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า และ 9. มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ ช่วยให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น มีมูลค่า 318-357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11,136-12,499 ล้านบาท) และการส่งออกของไทยภาพรวมจะขยายตัว มีมูลค่า 190-243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,652-8,508 ล้านบาท) สินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกได้มากขึ้น อาทิ อาหาร สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน สำหรับสาขาบริการ อาทิ การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม สำหรับยูเออี เป็นคู่ค้าอันดับที่ 6 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 1 ในตะวันออกกลาง โดยปี 2565 การค้าระหว่างไทยกับยูเออีมีมูลค่า 20,474.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 70.8% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยไทยส่งออกไปยูเออี มูลค่า 3,444.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 17,029.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม - มิถุนายน 2566) การค้าระหว่างไทยกับ ยูเออี มีมูลค่า 9,541.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.3% โดยไทยส่งออกไปยูเออี มูลค่า 1,560.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากยูเออี มูลค่า 7,981.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออก อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และผลิตภัณฑ์ยาง
ข่าวต่างประเทศ
4. กำไรภาคอุตสาหกรรมจีนลดลงติดต่อกันเดือนที่ 7 เหตุเศรษฐกิจ-ดีมานด์ชะลอตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควส์, ประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2566)
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า กำไรของบริษัทภาคอุตสาหกรรม จีนปรับตัวลง 6.7% ในเดือนกรกฎาคม 2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 7 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในภาค อุตสาหกรรม ทั้งนี้ ตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรมนั้น ได้จากการสำรวจบริษัทในภาคอุตสาหกรรมของจีนที่มีรายได้ต่อปีจากธุรกิจหลักอย่างน้อย 20 ล้านหยวน (ประมาณ 2.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนร่วงลง 15.5% สู่ระดับ 3.94 ล้านล้านหยวน หลังจากที่ดิ่งลง 16.8% ในช่วง 6 เดือนแรก โดยข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงอ่อนแอ โดย NBS รายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมของจีนหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกยังคงเผชิญกับภาวะซบเซา ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแรงลง
อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของจีนทำให้หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่านายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนได้แสดงความเชื่อมั่นว่าจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ระดับ 5% ในปีนี้ก็ตาม
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)