ข่าวประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ

 

1. ยกเลิกคุมส่งออกถ่านหิน 'พาณิชย์' ลดความซ้ำซ้อน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2566)

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ครม. ได้เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร (ฉบับที่ 86) พ.ศ. 2541 พ.ศ. .. เพื่อยกเลิกควบคุมการส่งออกถ่านหิน และลดความซ้ำซ้อนทางกฎหมายในการกำกับดูแลการส่งออกถ่านหินที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันถ่านหินอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อยู่แล้ว ขณะเดียวกันตั้งแต่ปี 2564 กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและสภาพแร่ที่ห้ามส่งออกนอกราชอาณาจักรหรือเขตไหล่ทวีป พ.ศ. 2564 โดยกระทรวงพาณิชย์เห็นว่าเพื่อเป็นการลดความซ้ำซ้อนจึงได้มีการเสนอร่างประกาศให้ ครม. พิจารณา ขณะเดียวกันการยกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ฯ ครั้งนี้ จะมีผลให้ถ่านหินที่นำเข้าสามารถส่งออกได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กรมศุลกากร และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการส่งออกและการนำเข้าถ่านหิน โดยระหว่างปี 2563-2564 ไทยมีการส่งออกถ่านหินเฉลี่ยปีละ 0.11 ล้านตัน ในปี 2565 มีปริมาณ 0.18 ล้านตัน มูลค่า 1,262 ล้านบาท นำเข้าถ่านหิน ปริมาณ 21 ล้านตัน มูลค่า 94,895 ล้านบาท

 

 

A person in a suit and tie sitting at a desk

Description automatically generated

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์

รองปลัดกระทรวงพาณิชย์

 

2. อาเซียนดันการค้าดิจิทัล (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2566)

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ครั้งที่ 55 เมื่อวันที่ 19-22 สิงหาคม 2566 ณ เมืองเซอมารัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้สรุปผลลัพธ์สำคัญที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) และผู้นำอาเซียน วันที่ 3-7 กันยายน 2566 โดยมีประเด็นสำคัญ คือ การจัดทำกรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียน (DEFA) การจัดทำยุทธศาสตร์ความเป็นกลางทางคาร์บอน และปฏิญญาว่าด้วยกรอบการดำเนินงานสำหรับโครงการพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจใหม่ของอาเซียนที่ตอบสนองเชิงรุกต่อแนวโน้มการค้าของโลกรวมถึงเตรียมจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนฉบับใหม่ที่จะใช้ภายหลังปี 2568 เพื่อยกระดับการรวมตัวของอาเซียนไปสู่การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวที่เชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบเอกสารที่จำเป็นในการเปิดเจรจาจัดทำความตกลง DEFA รวมถึงเอกสารผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบของ DEFA เอกสารแนวทางในการเจรจาและร่างแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนในเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าจะเริ่มเจรจาปลายปีนี้และให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี คาดว่า DEFA จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าด้านดิจิทัลในอาเซียนให้สูงถึง 400,000-600,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2573 ส่วนยุทธศาสตร์อาเซียน เพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอนจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในเศรษฐกิจสีเขียวและสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืนของภูมิภาค

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. กลุ่มทุนเกาหลีใต้หารือบีโอไอหาลู่ทางลงทุนอุตฯยานยนต์ไฟฟ้าในไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2566)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2566 บีโอไอได้หารือร่วมกับ นายคัง จุงมัน นายกเทศมนตรีเมืองยองกวาง พร้อมคณะผู้บริหารและผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เป็นสมาชิกของสมาคมนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแห่งเกาหลีใต้ (Korea Smart  e - Mobility Association: KEMA) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิต ยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และยานพาหนะไฟฟ้าเพื่อการเกษตร รวมกว่า 20 คน ที่ได้เดินทางเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยตามคำเชิญ ของบีโอไอ โดยบีโอไอ ยังได้เชิญผู้ประกอบการไทยที่เกาหลีให้ความสนใจ เช่น บริษัท พนัส เอสเซมบลีย์ จำกัด และบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต รถบัสและรถยนต์เชิงพาณิชย์รายใหญ่ของไทย เข้าร่วมนำเสนอข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย สำหรับเกาหลีใต้ถือเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยานยนต์และ EV ระดับโลก มีผู้ผลิตรายใหญ่ เช่น ฮุนได และเกีย โดยเมืองยองกวาง เป็นเมืองที่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV penetration rate) สูงสุดเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ และเป็นเมืองแรกที่รัฐบาลเกาหลีใต้กำหนดให้เป็นเมืองต้นแบบในการผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับรถยนต์ EV (Regulatory - free zone for e - mobility) และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี การขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (e - Mobility Cluster) ของประเทศ ซึ่งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นร่วมกันสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าแบบครบวงจร ตั้งแต่การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จักรยานไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งรถเชิงพาณิชย์ที่ใช้ใน ภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการส่งเสริมการจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การผลิตแบตเตอรี่ สถานีบริการอัดประจุ การพัฒนาระบบติดตามและบริหารจัดการข้อมูลการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากนี้ สถาบันเทคโนโลยียานยนต์แห่งเกาหลี (Korea Automotive Technology Institute: KATECH) ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งสนามทดสอบ ยานยนต์และศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ในเมืองยองกวางด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ ได้ให้ความสนใจอุตสาหกรรม EV ในไทยอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่า ไทยเป็นผู้นำในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาค และมีซัพพลายเชนของชิ้นส่วนต่างๆ ที่ครบวงจร อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV อย่างชัดเจน และตลาด EV ในไทย ก็เติบโตสูงที่สุดในอาเซียน จึงสนใจเข้ามาศึกษาลู่ทางการลงทุน และหารือโอกาส การร่วมลงทุนกับพันธมิตรบริษัทไทย โดยเฉพาะในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและรถเชิงพาณิชย์ที่ใช้สำหรับการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรม EV ไทยมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น ตอบโจทย์การใช้งานในหลายรูปแบบ

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. PMI ภาคการผลิตจีนเดือนส.ค.หดตัวเป็นเดือนที่ 5 คาดหนุนรัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 31 สิงหาคม 2566)

สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนสิงหาคม 2566 หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจจะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลจีนต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยข้อมูลของ NBS ระบุว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนสิงหาคม 2566 ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 49.7 จากระดับ 49.3 ในเดือนกรกฎาคม แต่ดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดตัว ทั้งนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนสิงหาคม อยู่ในระดับสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 49.4 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเดือนสิงหาคมของจีนลดลงสู่ระดับ 51.0 จากระดับ 51.5 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งดัชนีที่อยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนยังคงมีการขยายตัว

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายการเติบโตที่ระดับราว 5% ในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของการทรุดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการชะลอตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภค และการเติบโตของสินเชื่อที่อ่อนแรงลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารรายใหญ่หลายแห่งพากันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)