ข่าวประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566

 ข่าวในประเทศ

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ชี้มาตรการรัฐดันเอ็มพีไอพุ่ง (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเปิดงาน OIE FORUM 2566 ครั้งที่ 15 "MIND : Set For Sustainability ปรับมุมคิด พลิกอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน" ว่า ประเมินภาคอุตสาหกรรมปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว คาดดัชนีผลผลิตอุตสาหหกรรม (MPI) และผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) ภาคอุตสาหกรรม จะเติบโตระดับ 2.0-3.0% เนื่องจากในประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งสำคัญ คือ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และผลจากการตรึงราคาพลังงาน หนี้เกษตรกร วีซ่าฟรีหนุนการท่องเที่ยว ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าหลักของประเทศไทยทยอยฟื้นตัว อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับ นอกจากนี้การลงทุนในประเทศยังมีทิศทางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของภาคเอกชน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้อยู่ที่ 1.0-1.7% ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล เบื้องต้นกระทรวงฯจะตั้งเป็นหน่วยงาน อาจเป็นองค์การมหาชนที่สังกัดอยู่ในกระทรวงก่อน เพราะการตั้งกรมฯต้องใช้เวลา แต่เป้าหมายปลายทางคือกรมฯแน่นอน ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาลว่ามีหน่วยงานใดรับผิดชอบบ้าง เพราะจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีถึง 10 หน่วยงานที่ทำงานแยกกันอยู่ ทั้งที่ทำงานวัตถุประสงค์เหมือนกัน ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน จึงอยากให้มาอยู่ร่วมกันภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ฮาลาลไม่ได้จำกัดแค่อาหาร แต่ยังรวมถึงเครื่องสำอาง ขนม สปา ฯลฯ ประเด็นที่สำคัญคือเรื่องความเชื่อมั่น ความเชื่อถือในอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย เพราะไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม อาจทำให้ความน่าเชื่อถือในการไปเจรจากับลูกค้าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การตั้งกรมอุตสาหกรรมอาหารจึงจำเป็น โดยวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นี้ กระทรวงฯ จะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำข้อสรุปเสนอต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับความกังวลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ต่อใบอนุญาตเครื่องหมายฮาลาล หากตั้งกรมฯแล้ว ใบอนุญาตไม่เปลี่ยนแปลง คณะกรรมการฯมีอำนาจดังเดิม ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงจะไม่ก้าวล่วงอำนาจ เพียงแต่ต้องการให้มีหน่วยงานระดับกรมเข้ามายกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

 

2. ดีอีคิกออฟ '1ตำบล 1 ดิจิทัล' (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566)

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดผยว่า กระทรวงดีอี และ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ได้เปิดตัวโครงการ 1 ตำบล 1 ดิจิทัล (ชุมชนโดรนใจ) เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้และก้าวทันความเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล  โดยการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรผ่านการพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบินและการซ่อมบำรุง โดรนแก่กลุ่มเกษตรกรและชุมชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญ ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านธุรกิจแบบดั้งเดิมไปสู่ ศูนย์บริการซ่อมบำรุง ฉีดพ่น จัดจำหน่ายโดรนการเกษตรที่ได้รับการรับรองสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมาตรฐาน ดีชัวร์ จาก ดีป้า

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า ภายใน 1 ปีของการดำเนินโครงการจะเกิดศูนย์บริการฯ ทั่วประเทศจำนวน 50 ศูนย์ ทำให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรจำนวน 500 ชุมชน พื้นที่ทางการเกษตร รวมไม่น้อยกว่า 4 ล้านไร่ นอกจากนี้ ดีป้า และพันธมิตรจะเปิดอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากระยะไกลและหลักสูตรการดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งเนื้อหาของทั้งสองหลักสูตรได้รับการออกแบบโดย ดีป้า และผ่านการรับรองจากสถาบันการบินพลเรือน พร้อมตั้งเป้าผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฯ 1,000 คน และหลักสูตรการดูแลรักษา และการซ่อมบำรุงโดรนเพื่อการเกษตร 100 คน และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 350 ล้านบาท

 

A person in a suit speaking into a microphone

Description automatically generated

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์

โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

3. 9 เดือนแรกยอดขาย "อีวี" พุ่งทะลัก (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566)

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในประเทศไทย 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - กันยายน) เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน มียอดจดทะเบียนรวม 50,000 คัน เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 542.16% เป็นยอดขายของกลุ่มยานยนต์ 48,725 คัน เพิ่มขึ้น 748.72% จากนโยบายส่งเสริมการใช้อีวีปีนี้คาดว่าอีวีในกลุ่มรถยนต์นั่งจะมียอดขายมากกว่า 70,000 คัน เติบโตจากปีก่อนที่มียอดขาย 10,000 คัน ส่วนปีหน้ามีโอกาสถึง 100,000 คันจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 (EV 3.5) ทั้งนี้ สำหรับอีวีที่มีราคาขายสูงกว่า 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท จะได้ลดภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% ดังนั้น ปีหน้าจะมีอีวีนำเข้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ใหญ่ขึ้น เทคโนโลยีสูงขึ้น เข้ามาขายในราคาถูกลงและอีวีสำเร็จรูปราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่ยังได้รับเงินอุดหนุนและได้ลดภาษีสรรพสามิตขายในประเทศ บวกกับอีวีที่จะผลิตในประเทศ ตั้งแต่กลางปีหน้าที่ได้รับเงินอุดหนุน 150,000 บาท และลดภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% ราคาขายน่าจะเท่าเดิม จึงมั่นใจว่าอีวีจะขายได้ถึงหลักแสนคัน

อย่างไรก็ตาม ในปีหน้าอีวีที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ ทำให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ ได้รุกเอาส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไปจำนวนมาก จาก 0.91% ปีที่แล้วเป็น 8.30% ในปีนี้

 

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. หวั่นเงินกู้อุตสาหกรรมไฮเทคจีนก่อสงครามการส่งออกสินค้าราคาถูก (ที่มา: โพสต์ทูเดย์, ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566)

ธนาคารกลางจีน เปิดเผยข้อมูลการให้กู้ยืมจากธนาคารกลางของจีน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเผยให้เห็นถึงลำดับความสำคัญของทางการจีน โดยระบุว่า ยอดหนี้คงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยประสบปัญหาลดลง 0.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่การให้กู้ยืมแก่ ภาคการผลิตเพิ่มขึ้น 38.2% โดยนักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การลงทุนในรอบนี้แตกต่างจากการลงทุนในรอบอื่นๆ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์ในจีนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดสงครามทางการค้า และผลักให้หลายบริษัทต้องถอนตัวออกจากธุรกิจนี้ นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าว ยังส่งผลให้คู้ค้าบางรายเกิดความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปที่กำลังสอบสวนเรื่องเงินอุดหนุนยานยนต์ไฟฟ้าจากจีนอยู่ ทั้งนี้ จีนพร้อมปล่อยสินเชื่อเพื่อยกระดับการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูงตั้งแต่เซมิคอนดักเตอร์ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้เกิดความกังวลว่ามูลค่าส่งออกอาจลดลงจากการผลิตที่มากเกินความจำเป็น

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน Jens Eskelund ประธานหอการค้ายุโรปในกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า ปัจจุบันอัตราการบริโภคในจีนอยู่ในช่วงขาลง แต่ผลิตภัณฑ์จากกำลังการผลิตที่มากเกินความจำเป็นกำลังส่งออกไปทั่วโลก ทั้งแบตเตอรี่ แผงโซลาร์เซลล์ และเคมีภัณฑ์ต่างๆ สถานการณ์ระหว่างยุโรปกับจีนในตอนนี้ ไม่ต่างอะไรจากรถไฟสองขบวนที่กำลังจะชนกัน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)