ข่าวในประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
1. ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมลดต่ำสุดรอบ 16 เดือน (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ภาคอุตสาหกรรมประจำเดือนตุลาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 88.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 90.0 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดในรอบ 16 เดือน นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวช้าจากกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมและภาคการผลิตชะลอตัวลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าแฟชั่น วัสดุก่อสร้าง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น นอกจากนี้ การปรับขึ้นราคาสินค้ายังทำได้จำกัด ประกอบกับมีการแข่งขันสูงด้านราคา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่อยู่ในทิศทางขาขึ้น ส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินและทำให้ภาระหนี้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาททำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าและราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ส่วนคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 97.3 จากความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก รวมถึงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่างๆ หากยืดเยื้อและขยายเป็นวงกว้างอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกและความผันผวนของราคาพลังงานในตลาดโลก อีกทั้งผู้ประกอบการยังกังวลต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงเอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ขอให้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 อาทิ นำโครงการ e-refund มาเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนธันวาคม 2566 เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชน เร่งรัดการกำหนดมาตรการในการพักหนี้ให้กับ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 หรือลูกหนี้รหัส 21 รวมทั้งออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและส่งเสริมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และขอให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคีพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่
ร.ต.จักรา ยอดมณี
รองอธิบดีกรมการค้าภาย
2. วอนผู้ค้าตรึงราคานม-สินค้า-น้ำหวาน (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566)
ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจดูแลสถานการณ์การจำหน่ายน้ำตาลทราย โดยพบว่าบางพื้นที่อาจมีปัญหาตึงตัวบ้าง เนื่องจากพบว่าประชาชนมีการซื้อไปใช้เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับขณะนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทำให้ร้านค้าอาจติดขัดด้านการบริหารจัดการและการขนส่งบ้าง ซึ่งกรมได้เข้าไปช่วยดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิดโดยมั่นใจว่าสถานการณ์น้ำตาลทรายจะคลี่คลายได้ในเร็วๆ นี้ ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนมั่นใจว่าน้ำตาลทรายยังมีเพียงพอไม่ขาดแคลน จึงขออย่าให้ตื่นตระหนกไป สำหรับการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีนโยบายให้กำกับดูแลให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล โดยผู้บริโภคไม่รับภาระมากจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องเห็นใจเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นทางและดูแลให้มีรายได้ที่เหมาะสมสอดคล้องกับต้นทุนด้วย ส่วนการแก้ปัญหาสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแนวทางที่ไม่เป็นภาระแก่ผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว และหากจำเป็นก็อาจต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการปรับขึ้นราคาครั้งนี้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าต่างๆ ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบสูงขึ้นบ้าง เช่น นม และผลิตภัณฑ์น้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง ปลากระป๋อง ซอสปรุงรส ซีอิ๊ว ฯลฯ แต่ในขณะนี้กรมยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพประชาชน
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์
3. ทั่วโลกหนุนรถยนต์ไฟฟ้า ยอดขายโต 35% - แนะไทยเร่งปรับตัว (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการได้ติดตามสถานการณ์การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ของโลก พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอ้างอิงจากการคาดการณ์ขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA) ว่าในปี 2023 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 14 ล้านคัน จากยอดขาย 10 ล้านคัน ในปี 2022 หรือเพิ่มขึ้น 35% โดยจีนเป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดของโลกในปี 2022 จำนวน 5.9 ล้านคันคิดเป็น 58% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าโดยรวมของโลก ขณะที่ประเทศไทย ข้อมูลจากกรมขนส่งทางบก พบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (BEV: Battery Electric Vehicle) ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2023 อยู่ที่ 66,919 คัน เพิ่มขึ้น 300% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ หลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้า อาทิ อินเดีย จัดทำแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าระดับชาติ (National Electric Mobility Mission Plan 2020: NEMMP) เพื่อส่งเสริมการซื้อยานยนต์ไฟฟ้า และการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ ส่วนออสเตรเลีย จัดทำแผนยุทธศาสตร์รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Strategy) เพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาเข้าถึงได้ พร้อมสนับสนุนระบบและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และกระตุ้นความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่เวียดนาม จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนารถยนต์แห่งชาติ (2021-2050) เพื่อกระตุ้นการผลิตและเพิ่มปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าระหว่างปี 2030-2040ขณะที่อีกหลายประเทศ อาทิ จีน นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ออกนโยบายและมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และส่งเสริมให้มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า สำหรับประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายและมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 และล่าสุด (1 พฤศจิกายน 2023) คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือมาตรการ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (2024-2027) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลดอากรนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปไม่เกิน 40% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับเงินอุดหนุนไม่เกิน100,000 บาท ตามประเภทของรถและขนาดของแบตเตอรี่ ส่วนผู้ผลิตจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย เพื่อชดเชยการนำเข้า ซึ่งต้องผลิตชดเชย 2 คันต่อการนำเข้า 1 คัน ภายในปี 2026 และผลิตชดเชย 3 คันต่อการนำเข้า 1 คัน ภายในปี 2027
อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ภาครัฐและเอกชนของไทยจะต้องมีการปรับตัวทั้งในด้านนโยบาย/มาตรการต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุน/ส่งเสริม อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ โดยอาจนำนโยบาย/มาตรการของประเทศสำคัญและประสบความสำเร็จมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยรวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตตามนโยบายที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ พร้อมทั้งเร่งวางระบบและพื้นที่การให้บริการของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นและรองรับกับนโยบายของรัฐบาลที่จะเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
ข่าวต่างประเทศ
4. ออสเตรเลียจ้างงานเพิ่มขึ้น 55,000 ตำแหน่งในเดือนต.ค. สูงกว่าคาดการณ์ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566)
สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยรายงานว่า ตัวเลขจ้างงานเดือนตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้น 55,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าอาจเพิ่มขึ้น 20,000 ตำแหน่ง และเป็นการพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากเดือนกันยายน 2566 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 6,700 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน (participation rate) พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 67% ในเดือนตุลาคม 2566 จากระดับ 66.7% ในเดือนกันยายน ทั้งนี้ อัตราว่างงานเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นแตะระดับ 3.7% จากระดับ 3.6% ในเดือนกันยายน ส่วนชั่วโมงการทำงานลดลงสู่ระดับ 1.7% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบเป็นรายปี จากระดับสูงสุดที่เคยทำไว้ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 5% โดย ABS ระบุว่า แนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานของออสเตรเลียเริ่มชะลอตัวลง หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาที่มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานั้น ความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานได้สร้างความยากลำบากให้กับธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ในการฉุดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลง เนื่องจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อของออสเตรเลียอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน ทั้งนี้ RBA ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมทั้งสิ้น 4.25% นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 โดย RBA ส่งสัญญาณในระหว่างการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2566 ว่าธนาคารกลางได้เสร็จสิ้นภารกิจการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)