ข่าวประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'พิมพ์ภัทรา' ยันชง 'ครม.' เคาะค่าตัดอ้อยสด 120 บาท (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 37 แห่ง เข้าพบเพื่อขอรับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM2.5 ปีการผลิต 2565/2566 ว่า กระทรวงฯ ได้เสนอบรรจุวาระการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ในส่วนของการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 ซึ่งชาวไร่อ้อยได้ร้องขอให้เร่งการประกาศราคา เพื่อให้โรงงานเบิกจ่าย ได้อย่างรวดเร็ว คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2565/2566 และอยู่ระหว่างการเสนอต่อคณะกรรมการอ้อย    และน้ำตาลทราย (กอน.) ในลำดับ ต่อไป ทั้งนี้ กบ.ได้กำหนดการประชุม ครั้งต่อไปในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นี้ โดยมีวาระพิจารณาเพื่อกำหนดราคาอ้อย ขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2566-2567 ทั้งนี้ สำหรับข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการตัดอ้อยสดฤดูการผลิตปี 2566/2567 ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงฯและชาวไร่อ้อย เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ให้การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบต้นทุนราคาอ้อย อีกทั้งยังจะช่วยให้ชาวไร่อ้อยมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตัวแทนจากสมาคมชาวไร่อ้อยทั่วประเทศ 200 คน เดินทาง เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือถึงความชัดเจนโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM2.5 ตามมติครม.ที่จะจัดสรรงบประมาณเพิ่มค่าตัดอ้อยให้ตันละ 120 บาท ต่อเนื่อง แต่ฤดูหีบปี 2565/2566 ยังไม่ได้รับการพิจารณา ขณะที่ฤดูหีบปี 2566/2567 ในเดือนธันวาคมนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน

 

A person in a suit and tie sitting at a desk

Description automatically generated

นายดนุชา พิชยนันท์

เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

2. สศช.ชี้ปี 67 ความเสี่ยงรุมจีดีพีโต 3.2% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปี 2566 คาดว่า จีดีพีจะขยายตัว 2.5% จากคาดการณ์ทั้งปี 2.5-3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.0% ของจีดีพี และปี 2567 คาดว่าขยายตัว 3.2% ยังไม่ได้รวมผลจากนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทของรัฐบาล จากคาดการณ์ 2.7-3.7% โดยได้รับการสนับสนุนจากการส่งออก การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว การส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3.8% ขณะที่ไตรมาส 3 ปี 2566 จีดีพีขยายตัว 1.5% เศรษฐกิจไทยในปี 2567 ยังมีความเสี่ยงและข้อจำกัด ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ อาทิ ข้อจำกัดของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง จากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณ ประจำปี 2567, ภาระหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง, ปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตร และความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน ทั้งนี้ แนวทางบริหารจัดการเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 และปี 2567 เช่น การดำเนินนโยบายการเงินการคลังอย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพทางการคลังจัดลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายภาครัฐ, เตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า, สร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวการลงทุนภาคเอกชน, สนับสนุนการฟื้นตัวการท่องเที่ยว, ดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร และรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง ไม่เช่นนั้นการเติบโตจะอยู่ในระดับแค่ 3% กว่าไปแบบนี้ โดยต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของประเทศ ส่วนประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่คาดว่าจะโตได้ 2.5% และปี 2567 โตได้ 3.2% นั้นถือว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องและยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ต่อ ส่วนที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีหน้าไว้ที่ระดับ 5% นั้น นายดนุชากล่าวว่า เป็นเป้าหมายในการบริหารด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทั้งด้าน อาทิ การส่งออก และการลงทุน เร่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น

 

 

นายอภิชิต ประสพรัตน์

รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

3. ส.อ.ท.กำสรวลขอภาครัฐช่วยเอสเอ็มอี (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อประสานกับธนาคารพาณิชย์และของภาครัฐที่จะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ของเอสเอ็มอีที่เคยเป็นลูกหนี้ชั้นดี แต่ขาดสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด-19 จนมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน หรือลูกหนี้ที่ได้รับรหัสสถานะบัญชี 21 ซึ่งเป็นสมาชิกของ ส.อ.ทรวม 12,898 บริษัท รวมยอดหนี้ 61,000 ล้านบาท เนื่องจากมีแนวโน้มว่าหลายๆ กิจการกำลังเข้าสู่การเป็นหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) หากปล่อยไว้จะจะทำให้ต้องทยอยปิดกิจการ ในสิ้นปีนี้ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงาน และเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทั้งนี้ เอสเอ็มอีรหัส 21 ก่อนหน้านี้ เคยเป็นลูกหนี้ที่จ่ายเงินปกติ ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ แต่จากเหตุการณ์โควิดส่งผลให้ไม่สามารถใช้หนี้ได้ ปัจจุบันซึ่งในส่วนของสมาชิก ส.อ.ท. มีรวม 12,898 บริษัท รวมยอดหนี้ 61,000 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้กับธนาคารพาณิชย์ 36,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้กับสถาบันการเงินของภาครัฐ แต่หากรวมกับกิจการที่ไม่ใช่สมาชิก ส.อ.ท.ตามข้อมูลลูกหนี้เอสเอ็มอี ในรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทั้งหมด 3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 300,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. เห็นว่ารัฐบาล ควรเร่งรัดการกำหนดมาตรการพักหนี้ให้กับเอสเอ็มอี เพราะหากพักเพียงแค่การชำระดอกเบี้ย คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงจะต้องหามาตรการที่ทำอย่างไรให้การชำระคืนหนี้แล้วเงินต้นลดลงไปด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. ญี่ปุ่นขึ้นค่าจ้างเปิดทางสว่าง BOJ นักเศรษฐศาสตร์มองปีหน้าขึ้นค่าแรงสูงกว่าปีนี้ (ที่มา: ข่าวหุ้น, ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566)

สำนักข่าวรอยเตอร์ เปิดเผยว่า บริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นหลายแห่งกำหนดให้ทำตามการขึ้นค่าจ้างที่มากกว่าปรกติในปีนี้ ด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างอีกครั้งในปี 2567 ซึ่งมีการคาดหมายว่าจะช่วยยกระดับการใช้จ่ายของครัวเรือน และส่งมอบเงื่อนไขที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จำเป็นที่จะต้องยุติมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่มากเป็นพิเศษ ซึ่งสัญญาณบ่งบอกแรกเริ่มมาจากหลายภาคธุรกิจ, สหภาพแรงงาน และนักเศรษฐศาสตร์บอกเป็นนัยว่า แรงกดดันด้านค่าใช้จ่ายและแรงงานซึ่งเป็นตัวกำหนดการขึ้นค่าจ้างในปีนี้นั้น มากที่สุดในรอบมากกว่า 3 ทศวรรษ จะยังคงมีอยู่และมุ่งไปสู่การเจรจาเรื่องค่าจ้างครั้งสำคัญในฤดูใบไม้ผลิของปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก OECD เปิดเผยถึงค่าจ้างเฉลี่ยแทบจะไม่มีการปรับขึ้นในญี่ปุ่นสำหรับในช่วงราว 30 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเงินฝืดที่เรื้อรัง และโอกาสของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำและขยายเป็นเวลานานได้ขัดขวางบริษัททั้งหลายไม่ให้ปรับขึ้นค่าจ้าง ทั้งนี้ เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อยังคงยืนอยู่สูงกว่าเป้าหมาย ของ BOJ ที่ 2% เป็นเวลามากกว่า 1 ปี บริษัทหลายแห่งต้องเผชิญกับแรงกดดันที่คาดไม่ถึง เพื่อที่จะชดเชยให้กับลูกจ้างด้วยการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อรักษาและดึงดูดผู้ที่มีความสามารถพิเศษไว้กับบริษัท ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จำนวน  6 จากทั้งหมด 10 ราย ซึ่งสำรวจโดยโพลของรอยเตอร์คาดการณ์ว่า การปรับขึ้นค่าจ้างของบริษัทหลายแห่งครั้งสำคัญของญี่ปุ่นในปี 2567 จะสูงกว่าในปีนี้        

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)