ข่าวในประเทศ
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
1. รมว.อุตสาหกรรม เปิดงานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้เป็นประธานเปิดงาน อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) ที่ลานอเนกประสงค์ บริเวณตลาดเสาร์-อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ด้านการผลิต การประกอบการ และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่ โดยบูรณาการกับกระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน รวมถึงการร่วมสร้างเครือข่ายและขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ และสามารถยกระดับภาคอุตสาหกรรม สร้างการกระจายรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และใกล้เคียง และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้มากยิ่งขึ้น โดยมีนายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คณะผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพิธีเปิด
อย่างไรก็ตาม สำหรับงานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 เป็นแนวคิดของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่อยากให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้แก่ประชาชนผ่านโครงการต่างๆ เป็นการจัดนิทรรศการแสดงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย และการบริการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆ จากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน การสัมมนาองค์ความรู้ต่างๆ การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคมากมาย และสินค้าคุณภาพหลายประเภทกว่า 300 บูธ ในราคาพิเศษ เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน ถึง 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 - 21.00 น. ที่ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์-อาทิตย์ ถนนพัฒนาการ คูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
2. เอกชนหวั่นต้นทุนผลิตพุ่ง วอนรัฐปรับค่าแรงขั้นต่ำตามทักษะฝีมือ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)
นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 35 ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ภายใต้หัวข้อ "ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไรให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่รอด" ว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท.มีความกังวลถึงกรณีที่หากภาครัฐมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ในอัตราที่สูงเกินไป รวมทั้งการที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับภาระในการปรับขึ้นค่าจ้างให้กับแรงงานเดิมตามฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในที่สุด ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่าปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีต้นทุนแรงงานอยู่ที่ประมาณ 11-20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่ โดยยึดหลักการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน และควรมีมาตรการส่งเสริมกลไก Pay by Skill โดยเฉพาะการเร่งรัดให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ครบทุกสาขาอาชีพ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายในการส่งพนักงานเข้าทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่แล้วผู้บริหาร ส.อ.ท. เห็นว่า ภาครัฐควรจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานในระยะยาวควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะการดูแลลดค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ลดค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำค่าไฟฟ้า เป็นต้น รวมทั้งมีการกำกับดูแลการปรับขึ้นราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและควบคุมให้มีการปรับราคาสินค้าขึ้น-ลงตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้แรงงานมีเงินเหลือใช้จ่ายมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับตลาดอีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ส.อ.ท.ส่วนใหญ่มองว่า ในอีก 3 ปีข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการใช้แรงงานในภาคการผลิตอยู่ แต่จะเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโดยการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนการใช้แรงงานคนมากขึ้น ในอัตราส่วนไม่เกิน 20% ของการใช้แรงงานคนในปัจจุบัน
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ
นายกสมาคมกุ้งไทย
3. อุตสาหกรรมกุ้งเจอศึกหนัก ส่งออกร่วงทำเงินแค่ 3.62 หมื่นล้าน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตกุ้งของไทย ปี 2566 ว่า ปริมาณผลผลิตกุ้งคาดว่าจะได้ประมาณ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่แล้ว เป็นผลผลิตกุ้ง จากภาคใต้ตอนบน 33% จากภาคตะวันออก 25% ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน 20% จากภาคกลาง 12% ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 10% ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.07 ล้านตัน ลดลง 1% โดยประเทศจีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก เอกวาดอร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซีย ผลิตกุ้งลดลงทุกประเทศ คาดปีหน้าผลผลิตกุ้งโลกจะลดลงประมาณ 2% ส่วนการส่งออกกุ้งในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคมปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 109,663 ตัน มูลค่า 36,284 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 120,310 ตัน มูลค่า 42,341 ล้านบาท ปริมาณลดลง 9% ส่วนมูลค่าลดลง 14% ทั้งนี้ เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการลดต้นทุนให้ได้ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง ที่เกิดจากความเสียหายจากโรค เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมรับผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำในปีหน้า โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อกระจายสินค้าที่คงคุณภาพความสดของกุ้งไทยไปถึงผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว คาดการณ์ผลผลิตปีหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 290,000 ตัน และตลาดสหรัฐฯ มีสัญญาณดีขึ้นจากการฟ้องร้องเอดี/ซีวีดีประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มออเดอร์กุ้งไทย
อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ปี 2567 กุ้งไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐอเมริกามากขึ้น หลังประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลก ทั้ง เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ถูกสหรัฐฯ เรียกสอบสวนการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty : AD) การอุดหนุนการส่งออก (Countervailing Duty : CVD) เพื่อเรียกเก็บ ภาษีตอบโต้ คาดว่าจะมีผลิตในปีหน้า สถานการณ์ ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ขณะที่ทั้ง 4 ประเทศข้างต้น ส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทน อาทิ จีน และญี่ปุ่น เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้สหรัฐฯ หันมานำเข้ากุ้งจากไทยที่เป็นผู้ผลิตชั้นนำและผลิตกุ้งคุณภาพสูงมากขึ้น
ข่าวต่างประเทศ
4. แบงก์ชาติเกาหลีใต้คงดอกเบี้ยครั้งที่ 7 ติดต่อกัน หั่นคาดการณ์ศก.ปี 67 (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566)
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) เปิดเผยว่า ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% ในการประชุมวันนี้ (30 พฤศจิกายน 2566) ซึ่งเป็นการคงดอกเบี้ยในการประชุม 7 ครั้งติดต่อกัน และสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ขณะเดียวกัน BOK ได้ปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปีหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนในด้านต่าง ๆ โดยคณะกรรมการ BOK ได้คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2566 ไว้ที่ 1.4% แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2567 ลงสู่ระดับ 2.1% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.2% นอกจากนี้ คณะกรรมการ BOK ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อในปี 2567 ขึ้นสู่ระดับ 2.6% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.4% ทั้งนี้ อุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลงอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าของอุตสาหกรรมไอทีนั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งการส่งออกของเกาหลีใต้ โดยการส่งออกเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม BOK ตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 7 ครั้งติดต่อกัน แม้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของเกาหลีใต้และสหรัฐปรับตัวกว้างขึ้นก็ตาม โดยอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐทำให้เกิดความวิตกว่า จะกระตุ้นให้มีเงินทุนไหลออกจากเกาหลีใต้ และอาจทำให้สกุลเงินวอนอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)