ข่าวในประเทศ
นายภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
1. 'ภูมิธรรม' แนะอุตฯ ไทยปรับตัว ยกระดับการแข่งขันในสมรภูมิการค้าโลก (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2566)
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษภายใต้ หัวข้อ "2024 สมรภูมิการค้า ที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว" ในงาน FTI Executive Thank You Dinner จัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ว่า ในปี 2567 กติกาการค้าของโลกเปลี่ยนไป จะมีหลายเรื่องถูกบังคับใช้ อาทิ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน การสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้าที่เป็นธรรมยั่งยืน หากอุตสาหกรรมไทยไม่ปรับตัวจะลำบาก นอกจากนี้ผลกระทบจากโควิด-19 และ สงครามใหม่ที่เกิดขึ้น อาทิ รัสเซีย-ยูเครน และ ฮามาส-อิสราเอล ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องมีแหล่งวัตถุดิบและแหล่งผลิตที่หลากหลายไม่ผูกติด รวมอยู่ที่เดียว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์เองก็พร้อมสนับสนุนธุรกิจ 3 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาผู้ประกอบการ ส่งเสริมซอฟต์ พาวเวอร์ และปรับปรุงสภาพแวดล้อม ทางการค้าในยุคดิจิทัล นโยบาย ควิกวิน 99 วัน จะปรับปรุงกฎหมายเร่งด่วน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อย่างน้อย 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร บ.ลิขสิทธิ์ พ.ร.บ.จีไอ พ.ร.บ.สภาผู้ส่งทางเรือแห่งประเทศไทย และพ.ร.บ.นำเข้าส่งออก และกฎระเบียบราชการ อีกหลายเรื่อง 2. ปรับปรุงการทำงานของภาครัฐให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล และ 3. ส่งเสริมการปรับตัวของ ผู้ประกอบการไทยตามกติกาการค้าใหม่ของโลก
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ความท้าทายของเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากวิกฤตรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจพยายามปรับตัวเพื่อก้าวข้ามความท้าทายด้วยการปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ โดย ส.อ.ท.มุ่งเน้นยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม แบ่งอุตสาหกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 เฟิร์ส อินดัสทรี อุตสาหกรรมเดิมประกอบด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจำเป็นต้องเร่งปรับตัว กลุ่มที่ 2 เน็กซ์-เจน อุตสาหกรรมใหม่ ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้วยบีซีจีโมเดล และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นายวีระพงศ์ มาลัย
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
2. สสว.ผนึก 80 หน่วยงาน กำหนดแผนปฏิบัติการ วาง 16 กลยุทธ์หนุน SME (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2566)
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. จัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประจำปี พ.ศ. 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถาบันการเงิน ฯลฯ ที่มีภารกิจด้านการส่งเสริม SME ของประเทศรวมกว่า 80 หน่วยงาน ในการจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณด้านการส่งเสริม SME ประจำปี 2568 ให้สอดคล้องกับแผนการส่งเสริม SME ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการส่งเสริม SME ของประเทศ และเพื่อให้การส่งเสริม SME ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และลดความซ้ำซ้อน ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเด็นท้าทายสำคัญของ SME มีตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์โลก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเข้าสู่ยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการประกอบธุรกิจของ SME ทั้งสิ้น ดังนั้น แผนปฏิบัติการและงบประมาณด้านการส่งเสริม SME ประจำปี 2568 จึงมุ่งเน้น 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. Digital Transformation 2. Green Transition และ 3. Soft Power ด้วยเป้าหมายที่จะช่วยให้ SME อยู่รอดปรับตัวเร็ว เติบโตอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรอบแนวทางการส่งเสริม SME ภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ประจำปี 2568 จะมุ่งสร้างการเติบโตที่ครอบคลุม SME ทุกกลุ่ม โดยกำหนดประเด็นสำคัญที่มุ่งเน้นส่งเสริม SME ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การส่งเสริม SME ให้ปรับเปลี่ยนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การผลักดันให้ SME เปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวและการสนับสนุน SME เพิ่มมูลค่าและโอกาสให้ธุรกิจด้วยSoft Power โดยขับเคลื่อนภายใต้ 16 กลยุทธ์ ได้แก่ 1. พัฒนาธุรกิจระยะเริ่มต้นให้เริ่มธุรกิจได้อย่างมั่นคง 2. ยกระดับธุรกิจที่มุ่งเติบโตให้มีศักยภาพในการแข่งขัน 3. ยกระดับธุรกิจสู่การแข่งขันระดับโลก 4. ฟื้นฟูธุรกิจที่ประสบปัญหาให้ฟื้นตัว 5. ช่วยเหลือธุรกิจยังชีพให้สามารถอยู่รอดได้ 6. สนับสนุนผู้ประกอบการสูงอายุในการดำเนินธุรกิจ 7. ส่งเสริมเกษตรกรสู่การทำธุรกิจแบบมืออาชีพ 8. สร้างส่วนแบ่งตลาดในประเทศให้เพิ่มขึ้น 9. ส่งเสริมการเข้าสู่สากล 10. สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 11. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 12. สร้างความพร้อมของแรงงานและบุคลากร 13. สนับสนุนศูนย์กลางในการให้ข้อมูล องค์ความรู้และบริการ 14. ปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ให้ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ 15. พัฒนาระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบาย และ 16. พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในอุตสาหกรรม Soft Power ในการสร้างคุณค่าให้กับสินค้าและบริการที่ตอบสนองความต้องการของตลาด
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
3. ปรับเป้าจีดีพีอุตฯ มั่นใจปีหน้าโต 3% (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2566)
นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ได้ประมาณการดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือเอ็มพีไอ และผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ภาคอุตสาหกรรม ปี 2567 จะขยายตัว 2-3% จากปี 2566 ที่ล่าสุดได้ปรับประมาณการเอ็มพีไอ จะติดลบ 4.8% และจีดีพีอุตสาหกรรมจะติดลบ 3% เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศของไทยกับคู่ค้าหลักในปี 2567 มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว ประเทศเศรษฐกิจหลักมีทิศทางชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ย ภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนไทยยังมีทิศทางขยายตัว ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดค่าครองชีพ โดยปี 2567 ต้องติดตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวต้นทุนการผลิต ค่าครองชีพ หนี้สินภาคธุรกิจและครัวเรือนของไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง ดอกเบี้ยที่สูง ความผันผวนของค่าเงิน และปรากฏการณ์เอลนีโญ
อย่างไรก็ตาม สศอ. ได้ปรับประมาณการเอ็มอีไอ ปี 2566 จะติดลบ 4.8% จากเดิมที่คาดการณ์ว่า เอ็มพีไอ จะติดลบ 2.8 - 3.8% จากเดิมคาดการณ์ ติดลบ 1.5-2.5% เนื่องจากเอ็มพีไอเดือนตุลาคม ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 89.38 ลดลง 4.29% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 10 เดือนของปี 2566 ติดลบ 5.04%
ข่าวต่างประเทศ
4. เกาหลีใต้ส่งออกเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 2 รับดีมานด์ชิปแข็งแกร่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2566)
กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ เปิดเผยรายงานว่า ยอดส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2566 เพิ่มขึ้น 7.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.58 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 2 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์เซมิคอนดักเตอร์ที่เพิ่มขึ้น โดยยอดส่งออกของเกาหลีใต้ดีดตัวขึ้นในเดือนตุลาคม 2566 และปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่ลดลงติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 13 เดือนก่อนหน้านั้น เนื่องจากผลกระทบของการที่หลายประเทศดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงิน และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยการส่งออกถือเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจเกาหลีใต้ สำหรับปัจจัยที่ทำให้ยอดส่งออกเดือนพฤศจิกายนของเกาหลีใต้ปรับตัวขึ้นนั้น มาจากการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่พุ่งขึ้น 12.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 9.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 16 เดือน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยอดนำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2566 ลดลง 11.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะที่ระดับ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าพลังงานร่วงลง 22.2% โดยเกาหลีใต้ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ ทั้งนี้ เกาหลีใต้มียอดเกินดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งสิ้น 3.8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเกินดุลการค้าติดต่อกันเดือนที่ 6 และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)