ข่าวประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566

ข่าวในประเทศ

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. แก้ผังเมืองดึงลงทุนเปิดโซนโรงงานพัฒนาศก.ใต้ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคใต้ว่า การประชุมหารือในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องผังเมืองสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งในบางพื้นที่ไม่มีโซนที่สามารถก่อสร้างได้ จึงทำให้การก่อสร้างของโรงงานใหม่เป็นไปได้ยาก รวมทั้งเรื่องการขนส่งโลจิสติกส์ เช่น ถนนสี่เลนที่มีอยู่มีความจำเป็นต้องขยายออกไป จากอำเภอทุ่งสงมาอำเภอปากพนัง หากมีการขยายถนนจากสองเลนเป็น 4 เลนได้ จะทำให้การขนส่งจะดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก ขณะที่เรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีพื้นที่ติดทะเลประมาณ 250 กม. หากมีท่าเรือขนส่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการต้องการให้มีการส่งเสริม และสนับสนุนในด้านของพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ มีพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม และผลไม้ต่างๆ โดยอยากให้มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในอุตสาหกรรมให้ผู้ประกอบการ SME ในภาคใต้ให้มีความรู้ และเพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)" ซึ่งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ที่กำหนดไว้ ได้แก่ 1. ด้านเกษตรและอาหาร เป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ไม่ใช่เกษตรและอาหารทั่วไป 2. ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งมาจากฐานของน้ำมันปาล์ม และสารสกัดจากยางพารา และ 3. ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูล ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ที่ผ่านมา มูลค่าจากสินค้าด้านการเกษตรคิดเป็นสัดส่วน 40% การบริการ 44% ซึ่ง GDP ในภาคอุตสาหกรรม มีมูลค่าน้อย อาจมาจากปัญหาด้านผังเมือง จึงทำให้โรงงานในการแปรรูปก่อตั้งไม่ได้ หลังจากนี้จะมีการประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแก้ไขในประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้ พื้นที่ภาคใต้มีการขอการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับสอง รองจากพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในการขอการส่งเสริมการลงทุนในปีหน้าเป็นต้นไป คาดว่าจะเริ่มมีการลงทุนเข้ามามากขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนจากในพื้นที่และส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนจากภายนอกพื้นที่เข้ามา

 

A person in a suit sitting in a chair

Description automatically generated

นายภูมิธรรม เวชยชัย

รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2. พาณิชย์แก้ปมขายสินค้าก๊อบปี้ออนไลน์ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566)

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการใช้เป็นช่องทางค้าขายมากขึ้น แต่ก็มีผู้ค้าบางรายนำสินค้าละเมิดมาจำหน่ายทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ขายสินค้าจริง และทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเสียหาย อีกทั้งผู้บริโภคยังอาจได้รับอันตรายจากการใช้สินค้าปลอม จึงต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ทางด้านนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า กรมได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ร่วมกับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ 3 ราย คือ ลาซาด้า ช้อปปี้ ติ๊กต่อก ช็อป และ เจ้าของสิทธิ์กว่า 30 ราย เพื่อป้องกันการนำสินค้าละเมิดไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์ม โดยหากเจ้าของสิทธิ์พบเห็นการนำสินค้าละเมิดไปจำหน่ายบนแพลตฟอร์มก็สามารถแจ้งให้แพลตฟอร์มเอาออกได้ทันที หากไม่ยอมเอาออกก็ให้แจ้งมาที่กรม จะประสานให้แพลตฟอร์มเอาออกให้

อย่างไรก็ตาม สำหรับเฟซบุ๊กได้ประสานไปแล้ว และได้รับการแจ้งว่า ขณะนี้เฟซบุ๊กกำลังพัฒนาเครื่องมือใหม่ๆที่จะนำมาใช้จัดการกับการขายสินค้าละเมิด ส่วนการจัดการแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และเพลงนั้น หากเจ้าของสิทธิ์พบเห็นว่ามีการละเมิดทางเว็บไซต์ใด สามารถแจ้งได้ที่กรมหรือแจ้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพื่อให้ทำเรื่องขอศาลให้สั่งปิดเว็บไซต์นั้นๆ โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการระงับการจำหน่ายสินค้าละเมิดผ่านแพลตฟอร์มลาซาด้า ช้อปปี้ และติ๊กต่อก ช็อป ล่าสุด มีการขอให้ระงับรวม 960 รายการ และแพลตฟอร์มได้ระงับรวม 960 รายการ คิดเป็นความสำเร็จ 100%

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. ส.อ.ท.ชี้ช่องผ่าทางตันเศรษฐกิจปี 67 (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2567 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทั้งปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะปัจจัยภายในที่ประเทศไทย ยังคงมีปัญหาภาวะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจากงบประมาณปี 2567 จะล่าช้าออกไปเป็นเดือนเมษายน หรือ พฤษภาคม จึงส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยยังคงมีความเปราะบาง ดังนั้น จำเป็นที่รัฐบาลต้องหามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อประชาชน เพื่อประคองเศรษฐกิจระหว่างนี้เพิ่มเติม ทั้งนี้ นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงยังมีปัจจัยของค่าครองชีพต่างๆ ที่คนไทยยังมีแนวโน้มต้องรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากพลังงานทั้งค่าไฟฟ้าน้ำมันทั้งกลุ่มดีเซลและเบนซินรวมถึงก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ รัฐบาลได้ออกมาตรการดูแลที่จะทยอยสิ้นสุดมาตรการในสิ้นปีนี้เช่นการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแอลพีจี ท่ามกลางภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันหลายหมื่นล้านบาททำให้ภาพรวมพลังงานของไทยปีหน้ายังอยู่ในช่วงขาขึ้นและหากตลาดโลกขยับแรงจะทำให้ยิ่งกดดันเพิ่มขึ้น จึงนับเป็นความเปราะบางที่รัฐบาลต้องมองในเรื่องแผนรับมือผ่านการปรับโครงสร้างต่างๆ ที่เน้นระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเอาไว้ล่วงหน้าอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.เห็นว่ารัฐบาลจะต้องเร่งจัดตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.) พลังงานเพื่อร่วมกันเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่สูง จะกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สำหรับคำถามที่ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะฟื้นตัวมากน้อยเพียงใดในปีหน้า ตนมองว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยและการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปโรดโชว์ประเทศต่างๆ หากปล่อยให้ค่าไฟฟ้ามีราคาสูงเกินไป จะกลายเป็นปัจจัยลบต่อการดึงดูดการลงทุนเช่นกัน ขณะที่ภาคการส่งออกจะสะท้อนตามเศรษฐกิจโลกที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าจะทยอยฟื้นตัวจากปีนี้

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red cross and white stars

Description automatically generated

 

4. ออสซี่เผยยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ลดลง 0.2% เหตุผู้บริโภคกังวลเงินเฟ้อ (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2566)

สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยรายงานในวันนี้ว่า ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคม 2566 ปรับตัวลง 0.2% แตะที่ระดับ 3.5767 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยสูงได้ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยรายงานของ ABS ระบุว่า ยอดค้าปลีกสินค้าประเภทอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยอดค้าปลีกสินค้าในครัวเรือน เสื้อผ้า และยอดขายในภัตตาคาร ต่างก็ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า การที่ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมลดลงเป็นเพราะผู้บริโภคจำนวนมากออมเงินไว้เพื่อรอซื้อสินค้าลดราคาในวันแบล็กมันเดย์ (Black Monday) ในเดือนพฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านเบน ดอร์เบอร์ หัวหน้าฝ่ายสถิติด้านค้าปลีกของ ABS กล่าวว่า ดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภทในเดือนตุลาคม และรอโอกาสที่จะซื้อสินค้าลดราคาในช่วงวันแบล็กฟรายเดย์ในเดือนพฤศจิกายน โดยรูปแบบการใช้จ่ายในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการซื้อสินค้าลดราคาในช่วงแบล็กฟรายเดย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ซึ่งหลังจาก ABS เปิดเผยรายงานยอดค้าปลีกในวันนี้ นักลงทุนในตลาดการเงินของออสเตรเลียยังคงให้น้ำหนักกับการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางออสเตรเลียจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม แต่ก็ให้น้ำหนัก 60% ในการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในช่วงต้นปีหน้า

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)