ข่าวประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2566

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. เร่งจัดตั้ง 'ศูนย์อุตฯฮาลาล' 'พิมพ์ภัทรา' เตรียมชง ครม.เคาะ (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2566)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลกว่าล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะทำงาน โดยแนวทางการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล นั้นจะมีข้อเสนอกลไกลการบริหารงานศูนย์ฯ ในระยะสั้น 3 เดือน โดยการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนวาระฮาลาล และทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ฯ หลังจากนั้นก็จะขยายบทบาทและยกระดับศักยภาพสถาบันอาหารให้เป็นเจ้าภาพและศูนย์กลางการประสานงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ (National Focal Point) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ (Nation Agenda) รวมถึงจะต้องมีขอยืมตัวข้าราชการ พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อปฏิบัติงานในศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลที่จัดตั้งขึ้นในระยะทดลอง 1 ปี และต้องขอรับงบอุดหนุนจากสำนักงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนระยะยาวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการ 1 ปีแรกตามตัวชี้วัดของการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อปรับบทบาทตามความเหมาะสม ทั้งนี้ เมื่อตั้งคณะทำงานได้เรียบร้อยแล้วคาดว่าเบื้องต้นน่าจะต้องใช้งบประมาณ 630 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้ในภารกิจส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกา จีน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สินค้าเป้าหมายในระยะแรกประกอบด้วย เนื้อสัตว์, อาหารทะเล ในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-EAT) และอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ, อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (Snack Bar) อีกทั้งยังมีสินค้าประเภทแฟชั่นฮาลาล, เครื่องสำอาง, ยาสมุนไพร และท่องเที่ยว โดยหน่วยงานที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเบื้องต้น ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.), สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นต้น

 

นายณัฐพล รังสิตพล

ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

 

2. อุตฯ ดันเป้าปั้น EV Hub (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2566)

 

นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไปพร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เครื่องยนต์สันดาป (ICE) โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่างๆ ผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติพร้อมให้ความสำคัญกับการวางรากฐานของการวิจัยและพัฒนายานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ดังนั้น หน่วยงานกำหนดมาตรฐาน และหน่วยงานทดสอบและรับรอง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งการจัดตั้งศูนย์วิจัยเทคโนโลยียานยนต์จีน หรือ China Automotive Technology and Research Center (CATARC) สำนักงานสาขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นความร่วมมือในการนำศักยภาพด้านการพัฒนานโยบาย การกำหนดมาตรฐาน และการรับรองรวมทั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของจีนมาเชื่อมโยงในการพัฒนาอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานยานยนต์ของประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคอาเซียน และฐานการผลิตที่สำคัญของโลก โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งดำเนินการคือ การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ของประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศในเวทีการประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ หรือมาตรการ EV3 ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าร่วม 10 แบรนด์ มียอดจองรถยนต์ BEV ไปแล้วกว่า 50,000 คัน อีกทั้งได้ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งการกำหนดมาตรฐานสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้วกว่า 150 มาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการทดสอบและรับรองมาตรฐานของศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรและเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์สมัยใหม่ ส่งผลให้ในไตรมาสแรกของปี 2566 ประเทศไทยมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า คิดเป็นร้อยละ 78 ของปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน และในปี 2565 ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ xEV เป็นอันดับ 1 ของอาเซียนประมาณ 72,000 คัน แสดงให้เห็นถึงกระแสการตอบรับของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และความพร้อมที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ทั้งนี้ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ระดับแนวหน้าของประเทศจีนหลายค่ายได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและเวทีโลก

 

นายสนั่น อังอุบลกุล

ประธานกรรมการหอการค้าไทย

 

3. กกร.ตั้งเป้าเศรษฐกิจปีหน้าโต 2.8-3.3% (ที่มา: ข่าวสด, ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2566)

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. ประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปี 2567 มีแนวโน้มเติบโต 2.8-3.3% เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5 ล้านคน จากปี 2566 ส่วนการส่งออกคาดว่าจะเติบโต 2-3% และเงินเฟ้อคาดโต 1.7-2.2% ทั้งนี้ ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยปีหน้าจะโตได้น้อยกว่า 3% ซึ่งถือว่าเติบโตได้ตามศักยภาพเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน เพราะต้องเผชิญทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทั้งสหรัฐและยุโรป ที่ชะลอตัวจากภาวะการเงินตึงตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจจีน มีแนวโน้มเติบโตไม่ถึง 5% เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และความเปราะบางในประเทศ เช่น หนี้ครัวเรือน หนี้ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อในระบบจากการเริ่มใช้มาตรการการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตได้ต่ำกว่าที่คาด เห็นได้จาก 9 เดือนของปีนี้ (มกราคม - กันยายน 2566) โตได้เพียง 1.9% จากเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบาง นักท่องเที่ยวต่างชาติ ต่ำกว่าเป้าหมาย การส่งออกยังชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจปี 2567 ที่ กกร.คาดว่าจะโตได้ 2.8-3.3% ภายใต้สมมติฐานรัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านเงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจได้ประมาณ 1-1.5% ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐควรตรึงค่าไฟเดือนมกราคม - เมษายน 2567 ในอัตรา 3.99 บาท/หน่วยไว้ก่อน พร้อมตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงานเพื่อปรับโครงสร้างให้ค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ เพราะยอมรับว่าค่าไฟที่ เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 17% ทำให้ราคาสินค้าภาพรวมปรับขึ้น 5-10% และกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน แต่หากขึ้นค่าไฟเป็น 4.20 บาท/หน่วย จะกระทบต้นทุนเพิ่ม 5% ราคาสินค้าจะขยับขึ้นประมาณ 2-4%

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with a red cross and white stars

Description automatically generated

 

4. ออสเตรเลียเกินดุลการค้าเพิ่มในเดือนต.ค. หลังการส่งออกแร่เหล็กฟื้นตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2566)

สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลีย (ABS) เปิดเผยรายงานว่า ออสเตรเลียเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกแร่เหล็กและแร่ธาตุต่างๆ ขณะที่การนำเข้าลดลง ทั้งนี้ ABS ระบุว่า ยอดเกินดุลค้าของออสเตรเลียอยู่ที่ระดับ 7.1 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนตุลาคม 2566 เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 7.5 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยยอดส่งออกเดือนตุลาคม ดีดตัวขึ้น 0.4% หลังจากที่ร่วงลงอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ยอดการนำเข้าเดือนตุลาคมลดลง 1.9% ทั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ออสเตรเลียเกินดุลการค้าเป็นเวลานานเกือบ 6 ปี โดยได้แรงหนุนจากการส่งออกแร่เหล็กและเชื้อเพลิงไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งอุปสงค์สินค้าของออสเตรเลียได้รับปัจจัยหนุนจากจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่อันดับหนึ่ง โดยจีนมีความต้องการแร่เหล็กและถ่านหินในปริมาณมาก ทั้งนี้ จีนและออสเตรเลียเริ่มกลับมาทำการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์บางประเภทอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศต้องสะดุดลง เนื่องจากข้อพิพาททางการเมือง

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)