ข่าวในประเทศ
นายเศรษฐา ทวีสิน
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
1. 'เศรษฐา' ฟื้นเชื่อมั่นตลาดทุน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2566)
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในงานสัมมนาแถลงแผนยุทธศาสตร์ ก.ล.ต. 2567 ว่า รัฐบาลเน้นย้ำ 3 แนวทางสำคัญในการสร้างจุดแข็งตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อลดความผันผวน ส่งเสริมโอกาสการเติบโตและศักยภาพการแข่งขัน ได้แก่ 1. ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผลักดันให้ตลาดทุนไทยเป็นปลายทางการลงทุนของภูมิภาคหรือ อินเวสเมนต์ เดสทิเนชัน เน้นเปิดตลาดการค้าระหว่างประเทศ เขตเศรษฐกิจ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเร่งเจรจาและขยายเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) โดยเฉพาะทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ขณะที่ 2. มุ่งสู่ความยั่งยืนและความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2593 ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยี และเงินทุนเพื่อปรับตัวพร้อมรับมือกับวิกฤติสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันตลาดตราสารหนี้สีเขียว การระดมทุนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าออกและเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืนไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท สุดท้าย 3. สนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลและเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก โดยด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐและเอกชนจะลงทุนร่วมกันในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และจะพัฒนากลไกช่วยเหลือด้านเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพอย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุน ตลอดจนการเปิดตลาด
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะปีหน้าได้เน้นเสริมสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนให้มีประสิทธิภาพและติดตามคนที่มีส่วนได้เสียมากขึ้น และพร้อมปรับปรุง ป้องกัน ปราบปราม หรือป้องกันความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทั้งการทุจริต ฉ้อฉล รวมทั้งยกระดับบริษัทจดทะเบียนให้มีระบบควบคุมที่เข้มข้นมากขึ้น
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
2. เงินเฟ้อปีหน้าจ่อติดลบ 0.3% (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2566)
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ปี 2567 สนค. คาดการณ์แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปของไทยขยายตัวระหว่าง ลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% มีค่ากลางอยู่ที่บวก 0.7% ชะลอลงจากปี 2566 ที่คาดขยายตัว 1.0-1.7% ค่ากลาง 1.35% โดยปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐ การปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญแบบจำกัด เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทั้งสหรัฐ จีนและญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับสูง ที่กดดันการบริโภคภาคประชาชน แต่มีปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำและดอกเบี้ยสูง, เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัว โดยการคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2567 ได้รวมผลกระทบจากนโยบายเงินดิจิทัล วอลเล็ตของรัฐบาลที่คาดจะมีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.2% ใกล้เคียงกับการประเมินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) การปรับขึ้นค่าแรง และการสิ้นสุดมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาลแล้ว ส่วนกรณีที่ค่ากระแสไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่เดือนมกราคม อาจปรับขึ้นหน่วยละ 4.68 บาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่อาจขึ้นไม่ถึง 4.68 บาท โดยค่ากระแสไฟฟ้ามีสัดส่วนในการคำนวณเงินเฟ้อ 3.90%
อย่างไรก็ตาม การที่เงินเฟ้อไทยติดลบ ยังไม่ถือว่าเข้าสู่ภาวะเงินฝืด เพราะทางเทคนิค เงินฝืดมีหลายเงื่อนไข คือ เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 1 ไตรมาส ซึ่งเงินเฟ้อไทยต่ำกว่าศูนย์แล้ว แต่ข้ออื่นๆ ยัง ทั้งราคาสินค้าและบริการ ที่คำนวณเงินเฟ้อส่วนใหญ่ต้องลดลง แต่ไทยราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางส่วนลดลง ขณะที่พลังงาน ค่าไฟฟ้า ลดลงมาจากมาตรการลดค่าครองชีพ รวมถึงจีดีพียังขยายตัว 2.5% ดังนั้น ทางเทคนิคไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด
นายดนุชา พิชยนันท์
เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
3. 'OECD' ชี้ปี 67 เศรษฐกิจไทยโต 3.6% แนะมุ่งสมดุลการคลังรับอนาคตเสี่ยง (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2566)
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า การผลักดันให้ประเทศไทย เข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มสมาชิก OECD ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับเศรษฐกิจในอนาคตของประเทศไทยไปสู่ระดับมาตรฐาน รวมทั้งจะได้รับความสนใจในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากมาตรฐานของ OECD เป็นมาตรฐานที่นักลงทุนต่างชาติ และบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก มีความคุ้นเคยกับกฎระเบียบ และมาตรฐานต่างๆ ที่เป็นรูปแบบเดียวกันในกลุ่มสมาชิก หากไทยสามารถเป็นสมาชิกกลุ่ม OECD ได้ ก็จะส่งผลดีต่อประเทศในการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่ประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ Country Programme กับ OECD มาเป็นระยะ ที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการ โดยเร็วๆ นี้ จะนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD สำหรับผลการศึกษารายงานการสำรวจ และประเมินสถานะเศรษฐกิจไทย ฉบับที่ 2 โดย OECD คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 3.6% จากแรงสนับสนุนสำคัญจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับตลาดแรงงานที่ยังฟื้นตัวได้ดี ส่วนภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ไม่ดี แต่ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ไทยควรดำเนินมาตรการทางการคลัง ที่เน้นไปในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการการคลังให้น้อยลง และใช้แนวทางการดำเนินนโยบายจึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal Consolidation) อย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อปรับสถานะทางการคลังให้เข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้น และเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังเพื่อรองรับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนั้น ในระยะต่อไปประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับโครงสร้างและปฏิรูปในหลายประเด็นเพื่อช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและทั่วถึงด้วย
ข่าวต่างประเทศ
4. ญี่ปุ่นลดประมาณการ GDP ใน Q3/66 เป็นหดตัว 2.9% เหตุส่งออก-บริโภคชะลอตัว (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2566)
รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำ ไตรมาส 3/2566 หดตัวลง 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 2.1% เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอเกินคาด และการชะลอตัวของการส่งออก ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ของญี่ปุ่นอาจหดตัวลง 2.0% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นยังระบุด้วยว่า เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ตัวเลข GDP ไตรมาส 3 หดตัวลง 0.7% เมื่อเทียบกับการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 0.5% และเทียบกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจจะหดตัว 0.5%
อย่างไรก็ตาม สำหรับการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตัวเลข GDP นั้น ปรับตัวลง 0.2% ในไตรมาส 3 ซึ่งย่ำแย่กว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลงเพียง 0.04% เนื่องจากการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันทำให้ผู้บริโภคปรับลดการใช้จ่าย ส่วนการใช้จ่ายด้านทุน ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ภายในประเทศ ปรับตัวลง 0.4% ซึ่งดีกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าลดลง 0.6% ขณะที่การส่งออกในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 0.4% ซึ่งน้อยกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าเพิ่มขึ้น 0.5% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งน้อยกว่า การประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าปรับตัวขึ้น 1.0%
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)