ข่าวในประเทศ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
1. ส.อ.ท.เตือนให้สู้ ปี 67 มี 3 เสี่ยง (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2566)
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าปี 2567 คาดว่าการส่งออกจะเติบโตได้ 2-3% แต่ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมยังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตั้งแต่การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน,อิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์, ช่องแคบไต้หวัน ระหว่างจีนและไต้หวัน, เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate change) ซึ่งการประชุม COP 28 (Conference of Parties) มุ่งเน้นที่จะลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลแต่ไม่ถึงกับยกเลิก และ 3. เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางสูง การกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจยังคงดำเนินต่อเนื่องทำให้ตลาดสินค้ามีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะสินค้าจีนที่มีต้นทุนต่ำได้หันมาทำตลาดในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สมาชิกกลุ่ม ส.อ.ท.รวม 20 กลุ่ม จาก 46 กลุ่ม ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่ไม่อาจสู้ราคาได้ จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องดูแลใกล้ชิด โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและมีการนำเข้ามาในรูปแบบสินค้าเถื่อน หากไม่เร่งแก้ไขอาจจะลามไปมากกว่า 20 กลุ่ม
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
2. ดีอีผนึก 'หัวเว่ย' ปั้นไทย ฮับ AI อาเซียนปี 69 (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2566)
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นี้ จะมีการหารือเกี่ยวกับแผนการผลักดัน AI คลาวด์ และดิจิทัลไอดี โดยในส่วนของ AI นั้นมีเป้าหมายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง AI ภูมิภาคอาเซียน ในปี 2569 ส่วนเรื่องคลาวด์นั้นจะเดินหน้าผลักดันคลาวด์กลางภาครัฐ เพื่อลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่าย ซึ่งที่ผ่านมาได้ที่มีการหารือ กับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ DGA สำนักนายกรัฐมนตรี ในการจัดตั้งคลาวด์ กลางภาครัฐขึ้นมาแล้ว โดยรัฐบาลตระหนักความสำคัญพัฒนา AI และ คลาวด์ และคิดว่าถึงเวลาที่ต้องลงมือ ถ้าไม่รีบตอนนี้สร้างโอกาสของประเทศจะถดถอยลงไป โดยนายกแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลขับเคลื่อนประเทศ เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และสร้างโอกาสใหม่ๆ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งอนาคตไทยเป็นฮับด้านดาต้าเซ็นเตอร์ภูมิภาค การพัฒนาบุคลากรด้าน AI เพื่อป้อนตลาดโลก และโกคลาวด์เฟิร์ท มีระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ขยายทั้งไพรเวท คลาวด์ และ พับบิค คลาวด์ ซึ่งในการประชุมบอร์ดดีอีนั้นจะมีการหารือเกี่ยวกับซูเปอร์แอป บริการภาครัฐด้วย โดยที่ผ่านมามีแอปบริการภาครัฐเป็นจำนวนมาก ทั้งทางรัฐ หมอพร้อม เป๋าตัง ซึ่งต้องการสร้างซูเปอร์แอป สำหรับทุกบริการภาครัฐขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐ พร้อมทั้งเปิดเอกชนให้เชื่อมต่อ (API) บริการ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น MOU กับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย จำกัด เพื่อการพัฒนาทางดิจิทัล พร้อมเป้าหมายในการสนับสนุนการสร้างอีโคซิสเต็มด้านคลาวด์และ AI และการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถให้กับประเทศไทย โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้าน AI ของภูมิภาค ผ่านการเปลี่ยนผ่านเชิงดิจิทัล นอกจากนี้หัวเว่ยจะให้การฝีกอบรมเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มทักษะดิจิทัลในไทย และเชิญชวนพันธมิตรการค้าหัวเว่ยเพื่อมาลงทุนในไทย เพื่อสร้างฐานเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นในไทย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)
3. เคาะ 3.4 หมื่นล. หนุนอีวี 3.5 (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2566)
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง 2 มาตรการ วงเงินรวม 4.1 หมื่นล้านบาท แยกเป็นมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรืออีวี 3.5 ระยะเวลา 4 ปี (2567-2570) วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาท ตามที่คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติหรือบอร์ดอีวีเสนอ โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง และผลักดันไทยก้าวสู่การเป็นฐานผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยบีโอไอ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดของมาตรการอีวี 3.5 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งบอร์ดบีโอไอได้เห็นชอบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าร่วมกว่า 30 ราย สำหรับมาตรการอีวี 3.5 ครอบคลุมทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยสิทธิประโยชน์ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เงินอุดหนุน การลดอัตราอากรขาเข้า รถยนต์สำเร็จรูป และการลดอัตราภาษีสรรพสามิต โดยเงินอุดหนุนจะเป็นไปตามประเภทของรถ และขนาดของ แบตเตอรี่ ได้แก่ กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท ต่อคัน ในปีแรก จำนวน 75,000 บาทต่อคัน ในปีที่ 2 และ 50,000 บาทต่อคัน ในปีที่ 3-4 สำหรับรถที่มีขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยในปีแรกจะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาทต่อคัน ในปีที่ 2 จำนวน 35,000 บาทต่อคัน และในปีที่ 3 จำนวน 25,000 บาทต่อคัน หากเป็นรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาทต่อคันตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ, กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์-ชั่วโมง จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาทต่อคัน ตลอดระยะเวลา 4 ปี เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้มาตรการอีวี 3.5 จะมีการลดอากรขาเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า สำเร็จรูปที่มีราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2567-2568) และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตรา ส่วน 1:2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1:3 ในปี 2570 โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เข้าร่วมมาตรการอีวี 3 แล้ว หากมีความประสงค์จะเข้าร่วมมาตรการอีวี 3.5 ให้สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ
ข่าวต่างประเทศ
4. แบงก์ชาติจีนมีมติคงอัตราดอกเบี้ย LPR ในวันนี้ตามคาด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2566)
ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้า ชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีที่ระดับ 3.45% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ไว้ที่ระดับ 4.20% ในวันนี้ ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปี ของจีนเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ทั้งนี้ PBOC ได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ย LPR หลังจากมีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนที่ระดับ 2.5% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวน 8 แสนล้านหยวน (1.12 แสนล้านดอลลาร์) ผ่านทางโครงการ MLF และกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ระดับ 2.5% ซึ่งอัตราดอกเบี้ย MLF เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางจีน โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือน-1 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์
อย่างไรก็ตาม ทางด้านจูเลียน อีแวนส์-พริตชาร์ด หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทแคปิตอลอิโคโนมิกส์ กล่าวว่า PBOC อาจต้องการเวลามากขึ้นในการประเมินผลกระทบของการใช้นโยบายสนับสนุนด้านการคลังและมาตรการผ่อนคลายด้านอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่จะตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ย
หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)