ข่าวประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ยกระดับสุราพื้นบ้าน สมอ.ปรับมาตรฐานการผลิต (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย โดยให้ปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมให้คนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ใช้จ่ายและซื้อสินค้าภายในประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการปรับอัตราภาษีสุราพื้นบ้าน เช่น กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่นๆ และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี เป็น 0% รวมทั้งให้กรมสรรพสามิตทบทวนเรื่องกฎหมายที่ช่วยสนับสนุนสุราพื้นบ้านด้วย สำหรับนโยบายดังกล่าวถือเป็นการสร้างโอกาสในการขายสินค้าและสร้างรายได้ให้แก่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กและผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุราพื้นบ้าน จึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานสุราพื้นบ้าน เพื่อยกระดับสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว สอดคล้องตามนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตชุมชน นอกจากนี้ ยังผลักดันให้ผลิตภัณฑ์สุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านเป็นซอฟต์ พาวเวอร์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว หรือเป็นศูนย์กลางด้านร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทย เกิดการกระจายรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระดับชุมชนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบัน สมอ. มีมาตรฐานสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านที่เป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 6 มาตรฐาน ได้แก่ สุรากลั่นชุมชน สาโท ไวน์ผลไม้ ไวน์สมุนไพร อุ และ เมรัย โดยมีผู้ผลิตชุมชนได้รับการรับรองมาตรฐาน มผช. แล้ว จำนวน 66 ราย กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ แต่เนื่องจากมาตรฐานดังกล่าว ได้ประกาศใช้มาระยะหนึ่งแล้ว สมอ. จึงต้องดำเนินการทบทวนและปรับปรุงให้ทันสมัยสอดคล้องกับเทคโนโลยีการผลิตในปัจจุบัน และสอดคล้องตามประกาศของกรมสรรพสามิต รวมทั้งตามมาตรฐาน มอก. สุรากลั่นและสุราแช่ ที่ปรับแก้ไขมาตรฐานไปก่อนหน้านี้ด้วยนอกจากนี้ สมอ. ยังได้แก้ไขข้อกำหนดในด้านอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถบริโภคสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้านได้อย่างปลอดภัย โดยทั้ง 6 มาตรฐานได้แก้ไขแล้วเสร็จ พร้อมประกาศใช้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้ผู้ผลิตชุมชนที่ผลิตสุรากลั่นชุมชนและสุราแช่พื้นบ้าน สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการผลิต เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ต่อไป

 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

2. พาณิชย์ปลื้มชาวบ้านชอบลดค่าครองชีพ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทุกอำเภอทั่วประเทศเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อนโยบายการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก อำนวยความสะดวกทางการค้า เพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรผู้ประกอบการและประชาชนได้ประโยชน์ร่วมกันซึ่งการสำรวจได้จัดกลุ่มนโยบายและการดำเนินงานเป็น 10 ด้าน และทุกนโยบายได้รับความพึงพอใจค่อนข้างมาก ทั้งนี้ ภาพรวมผลงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ประชาชนพึงพอใจปานกลาง-มาก 5 อันดับแรก คือ นโยบายด้านการลดค่าครองชีพประชาชน โดยผู้ตอบมากถึง 83.57% ตามด้วยด้านการดูแลราคาปริมาณสินค้าเกษตรและการตลาดแบบครบวงจร 81.20%, ด้านการปรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง 80.61%, ด้านการผลักดันและสร้างแต้มต่อจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) 80.30% และด้านการบูรณาการการทำงานของพาณิชย์จังหวัดและทูตพาณิชย์ในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการค้า 79.95%

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายที่ประชาชนพึงพอใจสูงสุด 2 อันดับแรกเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและเห็นผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลาที่รวดเร็ว เช่น การลดค่าครองชีพ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับผู้ประกอบการจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดอย่างต่อเนื่อง และมาตรการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวที่มีมาตรการรองรับปีการผลิต 66/67เพื่อช่วยให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาเหมาะสม

 

A person in a suit

Description automatically generated

นายญนน์ โภคทรัพย์

นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย

 

3. ค้าปลีกจี้รัฐสกัดสินค้าจีน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567)

นายญนน์ โภคทรัพย์ นายกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น หรือ ซีอาร์ซี เปิดเผยว่า สมาคมฯ อยากเสนอให้รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมสินค้าจีนที่ขณะนี้ส่งออกสินค้าต่างๆ ในราคาถูกมากมายังไทยทำให้ค้าปลีก ค้าส่ง และเอสเอ็มอีไทยแข่งขันด้านต้นทุนได้ยากขึ้น เพราะสินค้าจีนได้เปรียบด้านภาษีซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เติบโต ฉะนั้นกฎหมายของไทยควรปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำด้านภาษี รวมถึงภาครัฐต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้แบรนด์ของคนไทยมีความสามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหาดังกล่าว หรือมีลูกเล่นใหม่ๆ มาช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ ก็มีโอกาสทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยปีนี้เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์จีดีพีของประเทศเมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อนที่เติบโต 2-3 เท่าตัว แม้ปัจจุบันรัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบแก่กลุ่มไม่มีกำลังซื้อ และมีมาตรการอีซี่ อี-รีซีท ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายกลุ่มมีกำลังซื้อได้ แต่มองว่าควรกระตุ้นคนมีเงินให้ใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องอีก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนงานของซีอาร์ซีปีนี้จะใช้เงินลงทุน 22,000-24,000 ล้านบาท ลงทุนทั้งในไทยและเวียดนาม สำหรับขยายการเติบโตทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งอาหาร แฟชั่น ฮาร์ดไลน์ และอสังหาริมทรัพย์ตั้งเป้าหมายมีรายได้เติบโต 9-11% กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเติบโต 15-17% ทั้งนี้ กลุ่มแฟชั่นจะพัฒนาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล แฟล็ก ชิปสโตร์ สาขาชิดลม สู่การเป็นลักชัวรีระดับโลกรวมถึงการขยายสาขาเพิ่ม 2 แห่ง พร้อมปรับปรุงและอัปเกรดห้างอีก 4 แห่ง เพิ่มแบรนด์ชั้นนำระดับโลก และนำแบรนด์ในไทยขยายไปยังเวียดนาม ด้านกลุ่มอาหาร จะขยายโก โฮลเซลล์อีก 7 สาขา ตั้งเป้าขยายรวม 40 สาขา ภายใน 5 ปี และขยายสาขาท็อปส์ 10 สาขาในไทย สำหรับประเทศเวียดนาม มีแผนเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตโก! 3 สาขา และมินิ โก! อีก 9 สาขา

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. ตลาดจับตา GDP Q4/66 ของญี่ปุ่น (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567)

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เปิดเผยรายงานว่า ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า การขยายตัวรายปีของ GDP ญี่ปุ่นในไตรมาส 4/2566 จะอยู่ที่ 1.2% หลังจากที่หดตัวลง 2.9% ในไตรมาส 3/2566 แต่มูลค่าของ GDP ญี่ปุ่นยังคงล้าหลังเยอรมนี เมื่อพิจารณามูลค่าในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าญี่ปุ่นและเยอรมนีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทั่วไปแล้ว หากประเทศที่เคยขึ้นอันดับ 1 ในฐานะประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกได้หล่นลงจากสถานะดังกล่าวในเวลาต่อมาจะส่งผลให้ตลาดเกิดความไม่มั่นใจเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ทั้งนี้ ทางด้าน ฮิเดโอะ คุมาโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันไดอิจิ ไลฟ์ รีเสิร์ช อินสติติวท์ (Dai-Ichi Life Research Institute) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ตัวเลข GDP ของญี่ปุ่นปรับตัวลดลงคือความเคลื่อนไหวของเงินเยน โดยหากเงินเยนมีราคาถูกก็จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีขนาดเล็กลงไปด้วย ขณะนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้กลายเป็นผู้พ่ายแพ้เพียงหนึ่งเดียวของโลก และตามหลังเยอรมนีอยู่มาก โดยข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นลดลงสู่ระดับราว 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดประมาณการตัวเลข GDP ไตรมาส 3/2566 โดยระบุว่า GDP หดตัวลง 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 2.1% เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการอุปโภคบริโภคที่อ่อนแอเกินคาด และการชะลอตัวของ การส่งออก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)