ข่าวประจำวันที่ 15 มีนาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. 'ไทยโกโก้ฮับ' รับราคาโลกทุบสถิติ (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โลกเดือดได้ส่งผลให้ราคาโกโก้ในตลาดโลกปัจจุบันพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยราคาซื้อขายโกโก้ล่วงหน้าที่ตลาดนิวยอร์กพุ่งขึ้นสูงถึงกว่า 7,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือประมาณกว่า 240,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม 2567) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในช่วงเวลาเดียว ซึ่งมีการซื้อขายอยู่ที่กว่า 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ประกอบกับความต้องการโกโก้มีอย่างต่อเนื่องทั้งจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนได้จากการเติบโตของร้านคาเฟ่ ผลิตภัณฑ์ขนมหวาน ช็อกโกแลตพรีเมียม รวมถึงเทรนด์การรักสุขภาพ เนื่องจากโกโก้สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม (Super Food) ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จึงเป็นโอกาสที่โกโก้ไทยจะมุ่งสู่ไทยโกโก้ฮับ (THAI COCOA HUB) ของอาเซียนในอนาคต ทั้งนี้ โกโก้ไทยยังติดข้อจำกัดในหลายจุดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนั้น รัฐบาลจึงหาแนวทางผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโกโก้ไทยตลอดห่วงโซ่อุปทานด้วยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมโกโก้จากเจ้าของแบรนด์ "ภราดัย" ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โกโก้และคราฟต์ช็อกโกแลตสัญชาติไทยแท้ การันตีคุณภาพด้วยรางวัลเหรียญทองระดับโลกจากเวที Academy of Chocolate Award 2021 โดยทางภราดัยมีข้อเสนอแนะและความต้องการที่จะให้ภาครัฐมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด การส่งเสริมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพิ่มมูลค่าโกโก้สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมียม การส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเชื่อมโยงแบรนด์โกโก้ของไทยที่มีคุณภาพสู่ตลาดสากลมากขึ้น เช่น Cocoa Valley, กานเวลา, Bean to Bar, ONE MORE, SP COCO เป็นต้น ตลอดจนการสนับสนุนและโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงินต่างๆ ขณะเดียวกัน ทางภราดัยยินดีที่จะร่วมมือกับทางภาครัฐ ถ่ายทอดทักษะและองค์ความรู้ ทั้งกระบวนการหมักและการคั่วให้ได้คุณภาพและมาตรฐานที่ดี การคัปปิ้งโกโก้ เพื่อทดสอบคุณภาพของโกโก้และค้นหาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของโกโก้แต่ละพื้นที่ปลูก ให้ผลิตภัณฑ์โกโก้ไทยเติบโต แข่งขันกับตลาดโลก และขึ้นแท่นเป็นสินค้าพรีเมียมได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) กล่าวว่า ดีพร้อม ได้วางแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมโกโก้ของไทยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำในทุกมิติ บูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน โดยต้นน้ำ ดีพร้อม มุ่งเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพเกษตรกร กลางน้ำ/ปลายน้ำ ดีพร้อม จะเน้นการพัฒนาและยกระดับศักยภาพการผลิต/การแปรรูปผลิตภัณฑ์โกโก้ การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต การตรวจวิเคราะห์คุณภาพสารอาหารในโกโก้ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์พื้นที่ของแหล่งปลูกโกโก้และเชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวภายในจังหวัด รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจโกโก้และเกษตรกรในรูปแบบจัดตั้งสมาคมโกโก้ การเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตสู่ผู้ซื้อ

 

A person in a suit with his arms crossed

Description automatically generated

นายวีริศ อัมระปาล

ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

2. กนอ.ติวเข้มเอกชนทำนิคมฯ (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2567)

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ.ได้จัดอบรมหลักสูตรผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมมืออาชีพ ภายใต้สถาบัน กนอ. เป็นปีที่ 2 เรื่องความรู้ทั่วไปในนิคมอุตสาหกรรม, การอนุมัติ อนุญาตในนิคมอุตสาหกรรม, การบริหารจัดการโรงงาน การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในนิคมอุตสาหกรรม และท่าเรืออุตสาหกรรม และยกระดับให้เป็นอีโค แฟคโทรี่ ร่วมแลกประสบการณ์ให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจ นำไปพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการโรงงานให้มีศักยภาพเทียบเคียงมาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม               เวลโกรว์ นายยศภัทร เพิกแสง ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาระบบมาตรฐาน บริษัท ทีพีเอ็น เฟล็กซ์แพค มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์เกี่ยวกับการประกอบกิจการบนพื้นฐานความยั่งยืน การได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับ 5 (จีไอ 5) และโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ เพื่อเป็นแนวทางวางแผนการยกระดับโรงงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับหลักสูตรปีนี้จะเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้กนอ.มีความเข้มแข็งและสามารถปรับตัว เพื่อรองรับกับทุกสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อภาวการณ์เศรษฐกิจโลก ให้เป็นส่วนสำคัญของความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ที่สำคัญ กนอ. มีโครงการดิจิทัล ทวิน เป็นการจำลองระบบนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบเสมือนจริง เชื่อมโยงข้อมูลจากอุปกรณ์เซ็นเซอร์ กล้องวงจรปิด ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ระบบขนส่ง และข้อมูลอื่นๆ เข้าด้วยกัน แสดงผลแบบเรียล ไทม์ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้

 

A person sitting in a chair with a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

 

3. "พาณิชย์" หนุนไทย ยกระดับโคเนื้อ ดันเป็นซอฟต์เพาเวอร์-ชี้เป้าขายจีน (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามข้อมูลการนำเข้าเนื้อของโลกและของไทย พบว่า ปี 2566 โลกมีการนำเข้าเนื้อโคกว่า 10.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.85% ประเทศที่มีการนำเข้าสูงสุด ได้แก่ จีน 3.60 ล้านตัน เพิ่ม 2.80% สหรัฐฯ 1.64 ล้านตัน เพิ่ม 6.70% และญี่ปุ่น 0.75 ล้านตัน ลด 3.47% ส่วนไทยแม้จะมีผลิตภัณฑ์โคเนื้อ เพื่อการค้าทั้งในและต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ โดยมีการนำเข้า 49,253 ตัน เพิ่ม 11.68% มูลค่า 7,754.94 ล้านบาท เพิ่ม 12.97% สำหรับประเทศที่ไทยมีการนำเข้าสูงสุด ได้แก่ ออสเตรเลีย ปริมาณ 21,449 ตัน มูลค่า 5,402.75 ล้านบาท ญี่ปุ่น ปริมาณ 21,450 ตัน มูลค่า 782.77 ล้านบาท และนิวซีแลนด์ ปริมาณ 4,719 ตัน มูลค่า 740.26 ล้านบาท โดยผู้บริโภคไทยนิยมเนื้อโคเกรดพรีเมียม ชิ้นเนื้อใหญ่ เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก (Marbling) ส่วนเนื้อโคสายพันธุ์ที่นิยมบริโภค เช่น เนื้อวากิวญี่ปุ่น เนื้อแองกัสออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐาน การผลิต ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ 1.4 ล้านราย ส่วนใหญ่อยู่ภาคอีสาน ขณะที่ผลิตโคเนื้อได้มากกว่า 9.57 ล้านตัว และพยายามปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อที่เลี้ยงในไทย ให้สามารถผลิตเนื้อที่มีคุณภาพเทียบเคียงกับเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศหลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น อาทิ เนื้อโคขุนโพนยางคำจากจังหวัดสกลนคร เนื้อโคราชวากิว และเนื้อโคคุณภาพดีของไทย ยังได้รับคัดเลือกให้เป็นเมนูอาหารขึ้นโต๊ะต้อนรับผู้นำระดับโลกในการประชุม APEC 2022 ขณะเดียวกัน มีการปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อ "โคดำลำตะคอง" จากนวัตกรรมการผสม 3 สายพันธุ์ ได้แก่ โคพื้นเมือง วากิว และแองกัส ถือเป็นตัวอย่างการพัฒนาการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพสูง รองรับความต้องการบริโภคในประเทศที่เปลี่ยนไปในทิศทางพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังพบว่าเนื้อไทยมีโอกาสส่งออกไปต่างประเทศ เช่น จีน ที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี และเป็นประเทศที่มีการบริโภคมากที่สุดอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯ แต่ต้องคุมเข้มเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จีนกำหนด ทั้งพันธุ์ การปลอดโรคปากเปื่อยเท้าเปื่อย ต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค และยังสามารถผลักดันเป็นซอฟต์เพาเวอร์ด้านอาหาร ควบคู่กับวัฒนธรรมการบริโภคแบบไทยและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งโปรโมตคุณภาพโคเนื้อไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจจังหวัดให้ขยายตัว ส่งผลต่อ คุณภาพชีวิตที่ดี และยกระดับรายได้ของประชาชน

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white fabric

Description automatically generated

 

4. รมว.คลังญี่ปุ่นชี้ญี่ปุ่นหลุดพ้นภาวะเงินฝืด ทิศทางค่าจ้างแข็งแกร่ง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 15 มีนาคม 2567)

นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดอีกต่อไปแล้วและทิศทางการปรับขึ้นค่าจ้างก็เริ่มมีความแข็งแกร่ง โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบาย ซึ่งรวมถึงนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ แห่งญี่ปุ่น และนายซูซูกิ กล่าวหลายต่อหลายครั้งตลอดช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า ญี่ปุ่นยังไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะสามารถประกาศว่าหลุดพ้นจากภาวะเงินฝืดได้อย่างมั่นคงแล้ว ทั้งนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงถ้อยคำของนายซูซูกิว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้มาตรการทางนโยบายทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาแรงผลักดันเชิงบวกในด้านค่าจ้างต่อไป แต่ก็ได้ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการทางนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในการประชุม BOJ ที่มีกำหนดจัดขึ้นสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม BOJ จะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 18-19 มีนาคม 2567 นี้ ขณะที่นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ ส่งสัญญาณในระหว่างการแถลงต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาของญี่ปุ่นว่า BOJ อาจจะยังไม่ยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในการประชุมเดือนมีนาคม 2567 นี้

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)