ข่าวประจำวันที่ 22 มีนาคม 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

1. เอกชนร้องใบอนุญาตร.ง.4 ค้างนับ 100 ราย 'พิมพ์ภัทรา' เดือดสั่ง กรอ.เคลียร์ให้จบ 30 วัน (ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา, ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตลงทุน ตนได้รับการร้องเรียนมาเช่นกัน ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ได้เรียกประชุมในวันที่ 6 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยสั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวบรวมข้อมูลการขออนุญาตที่ค้างอยู่ในระบบทั้งหมดว่าอยู่ในระบบนานเท่าไร สาเหตุของการตกค้าง และเรื่องดังกล่าวอยู่ที่ใด โดยต้องกำหนดแนวทางในการจัดการคำขออนุญาต มาแจ้งตนใน 30 วัน หรือการประชุมวันที่ 26 มีนาคม 2567 ที่จะถึงนี้ เนื่องจากขัดแย้งกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับนักลงทุนทุกรายที่ทำทุกอย่างถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ จากการเข้าตรวจสอบพบว่า ยังตกค้างอยู่ในกระทรวงอุตสาหกรรมกว่า 100 เรื่อง ไม่สามารถออกให้แก่ภาคเอกชน อาจเกิดจากเอกสารประกอบการพิจารณาไม่ครบถ้วน การรอข้อมูลจากหน่วยงานภายนอก เช่น การขออนุญาตโรงไฟฟ้า หรือโรงแปรรูปไม้ หรืออาจเกิดจากการทำงานที่เป็นการตั้งรับมากกว่าเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ เบื้องต้นต้องเร่งเคลียร์ใบอนุญาตที่ค้างในระบบ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้าผู้ประกอบการลงทุนรายใดเอกสารไม่ครบ ก็ต้องเร่งแจ้งว่าขาดอะไร รายใดเอกสารถูกต้องครบแล้ว ก็ต้องเร่งให้ใบอนุญาตออกไป ซึ่งไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ต้องผ่านหลายขั้นตอน หลายฝ่าย หลายโต๊ะ หลายคน ทำให้ขาดประสิทธิภาพ เรื่องนี้ตนยอมไม่ได้ ต้องเร่งเคลียร์ เร่งอนุญาตให้แก่นักลงทุนและผู้ประกอบการโดยเร็ว ต่อไปต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตให้เป็นวันสต็อปเซอร์วิสอย่างแท้จริง เพื่อลดระยะเวลาการออกใบอนุญาต และให้ทุกคำขออยู่ภายในกรอบเวลาของคู่มือการให้บริการประชาชน

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนหลายแห่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก กลับมาประสบปัญหาในการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ทั้งในส่วนของผู้ประกอบกิจการใหม่ และการขออนุญาตขยายโรงงานล่าช้า โดยการขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภทของกรมโรงงานฯ ค้างอยู่ไม่ต่ำ100-200 ราย สร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนอย่างมาก ทั้งที่ประเทศไทยตอนนี้ต้องการมูลค่าการลงทุน เพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับประสบปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาตฯ โดยต้องการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาการขอใบอนุญาต ร.ง.4 เป็นประเด็นร้อนที่นักลงทุนจากทั่วโลกที่เข้ามาลงทุนในไทยร้องเรียนอย่างหนักว่า ขั้นตอนยุ่งยาก ล่าช้าอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้เริ่มกลับมาตั้งแต่ปีที่แล้ว และเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ทำไมปัญหากลับมาอีกแล้ว ทั้งที่รัฐบาลก็ประกาศเรื่องอำนวยความสะดวกนักลงทุน แต่ใบ ร.ง.4 กลับเป็นตัวถ่วงอย่างหนัก บางรายเอกสารครบถ้วน รอแค่เซ็นใบอนุญาตจากผู้บริหาร รอมาเป็นปีแล้ว แต่ทุกอย่างดูติดๆ ขัดๆ ล่าช้าไปหมด ไม่รู้ว่า ติดปัญหาอะไรกันแน่

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายธนิต โสรัตน์

รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย

 

2. ธุรกิจรับมือครึ่งปีหลังแรงซื้อยังอ่อนแอครัวเรือน-SME ขาดสภาพคล่อง-ส่งออกเสี่ยง (ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2567)

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังเป็นความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญและก้าวผ่านเนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนยังคงอ่อนแอจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูง หนี้เสียยังมีสัญญาณเร่งตัว การขาดสภาพคล่องไม่ได้มีเฉพาะในภาคครัวเรือนแต่เป็นปัญหาของภาคธุรกิจตั้งแต่ระดับไมโคร SMEs ไปจนถึง SMEs ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มหรือคงที่ไม่สำคัญเท่ากับการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อใช้ในการประคับประคองธุรกิจ ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมอาจมีสัญญานที่ดีแต่ก็ไม่ได้ครอบคลุมถึงปัจจัยตัวแปรที่มีความเสี่ยง เช่น ราคาน้ำมันโลกช่วง 3 เดือน (WTI) เพิ่มขึ้น 10.8% อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า 2.6 บาทหรืออ่อนค่า 7.36% รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในภูมิรัฐศาสตร์ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 โดยเฉพาะภาคส่งออก ถึงแม้ว่าจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจปี 2567 ของไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวเช่นการส่งออก การขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุนและเครื่องจักร คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง ดัชนีเชื่อมั่นฟื้นตัว แต่สิ่งที่น่ากังวลคือกำลังซื้ออ่อนแอปีนี้จะลดลงจากปีก่อนจากภาวะหนี้ครัวเรือน หนี้เสียซึ่งมีสัญญานเร่งตัวโดยเฉพาะหนี้จำนำป้ายทะเบียนรถยนต์ขยายตัวถึง 40.2 % ขณะที่หนี้เสีย (NPL) ขยายตัวถึง 28 %ตามด้วยสินเชื่อบ้านขยายตัว 31.1% สินเชื่อส่วนบุคคล (P. Loan) ขยายตัว15.6% จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยที่โตไม่ถึง 3 %

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์เผยแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.2 – 3.2% (ค่ากลางการประมาณการที่ 2.7%) และล่าสุดมหาวิทยาลัยหอการค้าก็หั่น GDP ปีนี้เหลือแค่ 2.6% นับเป็นการส่งสัญญาณที่เศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอจากกำลังซื้อที่ลดลง สะท้อนได้จากเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ติดลบ 0.77% หดตัวต่อเนื่อง 5 เดือนและเงินเฟ้อไทยอาจติดลบไปจนถึงเดือนเมษายน เนื่องจากครึ่งปีแรกของปีพ.ศ. 2566 เงินเฟ้ออยู่ในอัตราที่สูงและปรับลดลงในช่วงเดือนเมษายน/พฤษภาคม ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามออกเงินดิจิดิตอลวอลเล็ตแต่จะกระตุ้น GDP ได้เพียง 0.8% เท่านั้น เพราะเงินจะไม่หมุนไปสู่ประชาชนเช่นอดีตที่ตรงไปยังร้านค้าชาวบ้าน ร้านโชห่วย ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่เงินนี้จะกลายเป็นกระจุกผ่านร้านสะดวกซื้อมากกว่า และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยหวังเม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบันนักลงทุนจีนเป็นรายใหญ่สัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของการลงทุน รองลงมาคือสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นซึ่งสัดส่วนการลงทุนลดลงเหลือเพียง 12%

 

A person sitting at a table with microphones

Description automatically generated

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

 

3. สนพ.ชี้การใช้พลังงานปีนี้โต สอดคล้องเศรษฐกิจขยายตัว (ที่มา: สยามรัฐ, ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2567)

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2–3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 3.1% อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการใช้น้ำมันปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 3.1% การใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้น้ำมันสำเร็จรูปปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.3% และประมาณการความต้องการไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 3.1% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับสถานการณ์พลังงานในปี 2566 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ การใช้น้ำมัน เพิ่มขึ้น 0.3% และการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 9.1% จากฐานที่ต่ำกว่าปกติของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าตามความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า ลดลง 6.4% เนื่องจากมีปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ลดลงจากปัญหาภาวะภัยแล้ง

อย่างไรก็ตาม สำหรับด้านการใช้ไฟฟ้าปี 2566 เพิ่มขึ้น 3.4% มีการใช้รวมทั้งสิ้น 203,923 ล้านหน่วย โดยมาจากการใช้ไฟฟ้าในส่วนของสาขาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจเพิ่มขึ้น 8.4% โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ไฟฟ้าในโรงแรมที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 22.5% ส่วนการใช้ไฟฟ้าของอพาร์ตเมนต์และเกสต์เฮาส์ ห้างสรรพสินค้า ขายปลีก และขายส่ง เพิ่มขึ้น 15%, 3.7%, 6.9% และ 4% ตามลำดับ สำหรับการใช้ไฟฟ้าในสาขาครัวเรือนเพิ่มขึ้น 7.4% ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในสาขาอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนการใช้ถึง 42% มีการใช้ไฟฟ้าลดลง 2.6% จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกหดตัวในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566

 

ข่าวต่างประเทศ

A red circle on a white background

Description automatically generated

 

4. เงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือนก.พ.พุ่ง 2.8% สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ BOJ ติดกัน 23 เดือน (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2567)

รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่นับรวมราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานอยู่สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 23 หลังจากปรับตัวขึ้น 2% ในเดือนมกราคม 2567 โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ซึ่งรวมถึงราคาอาหารและสินค้าคงทน รวมถึงการเพิ่มขึ้นของราคาที่พักอาศัย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งขึ้นในภาคการท่องเที่ยว ส่วนราคาพลังงานปรับตัวลง 1.7% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ที่ร่วงลง 12.1% โดยสำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า BOJ มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในวัฏจักรเชิงบวกนี้ ซึ่งรวมถึงค่าจ้างที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ กล่าวว่า ในขณะที่ BOJ มีความมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% นั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในอนาคตจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ แต่นับจนถึงขณะนี้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นยังไปไม่ถึงระดับที่จะสร้างความมั่นใจให้กับ BOJ จึงทำให้ BOJ เล็งเห็นว่าเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะยังคงใช้นโยบายการเงินในลักษณะผ่อนคลายต่อไปอีกระยะหนึ่ง

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)