ข่าวประจำวันที่ 18 เมษายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person sitting at a microphone

Description automatically generated

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. คุม 7 เครื่องครัวหวั่นปนเปื้อน (ที่มา: เดลินิวส์, ประจำวันที่ 18 เมษายน 2567)

น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้กำชับให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งดำเนินการควบคุมภาชนะสเตนสเลสคุณภาพต่ำจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางช่องทางออนไลน์ เป็นห่วงว่าสินค้าดังกล่าวอาจจะไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค เนื่องจากต้องสัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่ม ล่าสุดคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) มีมติเห็นชอบให้ภาชนะ และเครื่องใช้เหล็กกล้าไร้สนิมสำหรับอาหารที่ใช้ในครัวเรือน หรือ ภาชนะสเตนเลส 7 รายการ เป็นสินค้าควบคุม ตามที่ สมอ. เสนอแล้ว โดยให้ปรับปรุงแก้ไขสาระสำคัญของมาตรฐานให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และจะเร่งประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 ทั้งนี้ ที่ต้องคุมภาชนะสเตนเลส เพราะต้องสัมผัสกับอาหารและเครื่องดื่มโดยตรง หากเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานอาจมีสารปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาวได้ โดยก่อนหน้านี้ สมอ. ได้บังคับใช้มาตรฐานภาชนะเคลือบเทฟล่อน ภาชนะเมลามีน และภาชนะพลาสติกไปแล้ว พบว่า สามารถสกัดสินค้าไม่มีคุณภาพและไม่มีมาตรฐานในท้องตลาดได้เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า มาตรฐานนี้ครอบคลุมภาชนะสเตนเลสที่สัมผัสโดยตรงกับอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 7 รายการ ได้แก่ หม้อ กระทะ ตะหลิว ช้อน ส้อม ถาดหลุมใส่อาหาร และปิ่นโต แต่ไม่ครอบคลุมอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อให้ควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้ากลุ่มดังกล่าวได้อย่างครบถ้วน เพราะสินค้าเหล่านี้มีการใช้งานแพร่หลายมาก โดยเฉพาะในโรงพยาบาล และโรงเรียน มีข้อกำหนดที่สำคัญ คือ การควบคุมปริมาณโลหะหนัก ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แคดเมียม สารหนู และโมลิบดินัม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพผู้บริโภค หลังจากนี้ สมอ. จะเร่งดำเนินการประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมภายในปี 2567 จะมีผลให้ทั้งผู้ทำและนำเข้าทุกราย จะต้องขออนุญาตก่อนทำหรือนำเข้า และจะต้องแสดงเครื่องหมายมาตรฐานที่สินค้าทุกชิ้น

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

2BOI ฟุ้งผลงานดึงทุนจีน เผย 2 บริษัท ตั้งรง.แบตอีวี 3 หมื่นล. (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 เมษายน 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า จากการนำคณะเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology ระหว่างวันที่ 7-10 เมษายน 2567 ณ มณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน พบว่า ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจอย่างมากต่อ "มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน" ที่บีโอไอเพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อดึงให้ผู้ผลิตระดับโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมากในอนาคต จะเห็นได้จากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งรถยนต์ BEV, PHEV และ HEV อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่งรถกระบะ ไปจนถึงรถบัส รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า จำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบ

อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต ประกอบกับประเทศไทยมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับการลงทุน บุคลากร และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ผู้ผลิตแบตเตอรี่จึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในประเทศไทย และบางรายจะผลิตต่อเนื่องไปถึงขั้นปลาย คือ โมดูลและแพ็ก ภายในปีนี้ คาดว่าผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละรายจะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท สำหรับรายอื่นๆ บางส่วนกำลังเจรจาธุรกิจกับผู้ร่วมทุนฝั่งไทย และบางรายอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เนื่องจากเดิมวางแผนลงทุนผลิตเฉพาะโมดูลและแพ็ก แต่เมื่อทราบว่าประเทศไทยออกมาตรการพิเศษเพื่อส่งเสริมการผลิตเซลล์ จึงให้ความสนใจและจะพิจารณาแผนการลงทุนใหม่ ซึ่งบีโอไอจะติดตามอย่างใกล้ชิด

 

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.)

 

 

3. สวก.เปิดตัว Chef Robot ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 18 เมษายน 2567)

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน (สวก.) เปิดเผยว่า ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับสินค้าเกษตรและเป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร (Agricultural Service Provider) ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับ รศ.ดร.เชาวลิต มิตรสันติสุข และคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินโครงการระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับปรุงอาหารและตรวจวัดกลิ่นรสอาหารด้วยเครือข่ายตัวรับรู้อัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารไทย ด้วยการสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบพ่อครัวที่สามารถปรุงอาหารด้วยเครือข่ายตัวรับรู้อัจฉริยะต่อยอดเข้ากับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ โดยการผสานเทคโนโลยีการจดจำรูปแบบ (Pattern recognition) ที่สามารถควบคุมการผลิตการทำซ้ำต่อเนื่องคุณภาพคงที่ และจดจำเทคโนโลยีวัสดุตรวจจับ (Sensors) และจมูกอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic noses) ประสิทธิภาพสูงซึ่งตอบสนองต่อกลิ่นรสอาหาร รสเปรี้ยว รสหวาน รสเค็ม รสอูมามิ และความเผ็ดตามสูตรมาตรฐานและสามารถปรับแต่งรสชาติอาหารตามต้องการและการเรียนรู้ด้วยตนเองจากข้อมูล (Machine learning) มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน และคัดเลือกเมนูอาหารไทยที่ครองใจคนทั่วโลกอย่าง "ต้มยำกุ้ง" มาเป็นเมนูนำร่องในการดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ตาม ตั้งเป้าต่อยอดใช้ประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร/เกษตรกร สามารถช่วยลดต้นทุนด้านการผลิต ทั้งในเรื่องของแรงงานคน โดยเฉพาะพ่อครัวที่ต้องใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ในการปรุงอาหารให้ได้สูตรออกมาอร่อยถูกใจผู้บริโภค และลูกมือที่มีความรับผิดชอบต่องาน ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งความต้องการบริโภคอาหารมากเท่าไรผู้ประกอบการยิ่งต้องสรรหาบุคลากรเข้ามาทำงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้ทันต่อความต้องการ รวมไปถึงการควบคุมคุณภาพอาหารให้คงที่ทั้งปริมาณและรสชาติ เนื่องจากมนุษย์มีความเหนื่อยล้า หากต้องทำงานต่อเนื่อง และ 2. กลุ่มโรงพยาบาล นักโภชนาการ/ผู้รักสุขภาพที่ต้องควบคุมโภชนาการด้านอาหาร สามารถช่วยคุมปริมาณแคลอรีให้สอดคล้องกับสุขภาพผู้ป่วย การปรับวิธีการกินเป็นปัจจัยสำคัญต่อสุขภาพ และได้รับผลการรักษาอย่างสูงสุด การจัดอาหารให้เหมาะสมกับโรคตามหลักโภชนบำบัด มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ ช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรค เพิ่มโอกาสรอดชีวิต ลดเวลานอนโรงพยาบาล รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะทุพพลภาพ (Malnutrition) ที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างที่ได้รับการรักษาโรค

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag flying in front of a white building

Description automatically generated

4. จนท.เฟดประสานเสียงไม่เร่งลดดอกเบี้ย กังวลเงินเฟ้อยังสูง (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 18 เมษายน 2567)

นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยว่า นโยบายการเงินของเฟดยังคงอยู่ในสถานะที่ดี และเฟดไม่ควรรีบเร่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องการที่จะเห็นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ซึ่งความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน อาจทำให้เฟดสามารถอดทนรอคอยในการดำเนินนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนางมิเชล โบว์แมน สมาชิกคณะผู้ว่าการเฟด กล่าวว่า ความคืบหน้าด้านเงินเฟ้อชะลอลงและมีความเป็นไปได้ที่จะชะงักงัน พร้อมกันนี้นโยบายการเงินของเฟดในปัจจุบันถือเป็นระดับที่คุมเข้ม ส่วนการที่เฟดจะดำเนินนโยบายคุมเข้มด้านการเงินต่อไปหรือไม่นั้น เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ ทั้งนี้ การแสดงความเห็นของนางเมสเตอร์และนางโบว์แมน สอดคล้องกับที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณครั้งล่าสุดในเวทีการเสวนาที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 เมษายน 2567) ว่า เฟดอาจจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ในการเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐออกมาสูงกว่าการคาดการณ์

 

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)