ข่าวประจำวันที่ 22 เมษายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person in a pink dress

Description automatically generated

นางวรวรรณ ชิตอรุณ

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

 

1. "อีวี" ไม่ใช่ต้นเหตุยอดขายรถวูบ (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2567)

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หากพิจารณารายละเอียดจะพบว่ายังไม่ได้มีนัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในประเทศที่ลดลง โดยสะท้อนตัวเลขการผลิตรถยนต์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผลิตเพื่อขายในประเทศอยู่ที่ 46,928 คัน ลดลง 26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นกลุ่มรถยนต์นั่งที่ขายในประเทศที่ 24,308 คัน ลดลง 9.6% ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุทั้งการนำเข้าอีวีจากจีนและสภาพเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มรถกระบะผลิตเพื่อขายในประเทศ 18,987 คัน ลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งกลุ่มนี้ไม่มีอีวีมาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มรถกระบะไม่เกี่ยวข้องกับอีวีที่ยอดขายลดลง เนื่องจากสถาบันการเงินเข้มงวด การปล่อยสินเชื่อจากเดิมอัตราการปล่อยกู้ 70-80% ของยอดคำขอกู้ แต่ปัจจุบันอยู่ที่ 30% รวมทั้งปริมาณการยึดรถกระบะจากผู้ซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยปี 2566 จนถึงขณะนี้มียอดยึดคืน 300,000 คัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มาจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงทำให้การซื้อรถกระบะใหม่ลดลง

 

A person in a suit sitting at a desk

Description automatically generated

นายวีระพงศ์ มาลัย

ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

 

2สสว.ผลักดันเอสเอ็มอีสร้าง ESG เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2567)

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปี 2567 นี้ การรับบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ หรือช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีการเลือกใช้บริการบนระบบ Business Development Service (BDS) ภายใต้แคมเปญ "SME ปังตังได้คืน ก้าวสู่ปีที่ 3 สสว.ได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินการให้หลากหลายขึ้น และมุ่งเป้ามากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งบริการที่ผ่านการอัปเกรดอย่างเข้มข้น โดยปีนี้ นอกจาก สสว. จะให้เงินอุดหนุนพัฒนาปรับปรุงกิจการแล้ว สสว.ยังพร้อมให้ความสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยใช้กลยุทธ์การสร้างมูลค่าธุรกิจ SME ด้วยการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยสร้างคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance : ESG) สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อขับเคลื่อนความสำเร็จของธุรกิจ เพราะการที่องค์กรดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับ ESG อย่างจริงจัง มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และสังคม ด้วยบรรษัทภิบาลที่ดี จะส่งผลดีกับธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ต้นทุนการดำเนินงานที่ลดลง เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า การเข้าถึงแหล่งทุนที่ดี และชื่อเสียงขององค์กรดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบัน โครงการ BDS ได้รับความสนับสนุนด้วยดีจากภาคีเครือข่ายผู้ให้บริการทางธุรกิจ หรือหน่วยงานพันธมิตร เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ อาทิ ด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อยกระดับ สมรรถนะพนักงานในสถานประกอบการ และการอบรมตามที่กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยมีหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน ประมาณ 200 หน่วยงาน ที่เข้ามา ขึ้นทะเบียน และเข้ามาให้บริการแล้วกว่า 90 หน่วยงาน ครอบคลุมกว่า 400 บริการ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายชาคริต เทียบเธียรรัตน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) หนึ่งในผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) กล่าวว่า ในปี 2567 ทางเซ็นทรัลแล็บ ได้ร่วมกับ สสว. ในการยกระดับมาตรฐานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งคือเรื่อง BCG ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ดังนั้นปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย เพราะต้องถูกประเมินเกี่ยวกับการสร้างมลพิษ โดยเซ็นทรัลแล็บจะช่วยดูแลในด้านเกษตร อาหาร และป่าไม้ เป็นการประเมินคาร์บอนเครดิต ถ้าทำธุรกิจโดยปลูกป่าจะได้เครดิตอย่างไร หรือเป็นผู้ประกอบการเกษตรก็อย่านิ่งนอนใจ เพราะเกษตรเองก็สามารถสร้างมลภาวะได้เช่นกัน ทุกกระบวนการล้วนมีความเสี่ยงในการสร้างคาร์บอนเครดิต โดย สสว. มีหลายหน่วยงานที่ช่วยประเมินเรื่องคาร์บอนเครดิตให้ โดยเซ็นทรัลแล็บเองจะช่วยดูแลในเรื่องการประเมินที่เกี่ยวเนื่องกับป่าไม้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอคำปรึกษาได้

 

A person in a suit sitting at a table

Description automatically generated

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

 

3. การค้าไทย-ฟิลิปปินส์โต เล็งหาลู่ทางขยายการลงทุน (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2567)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ให้การต้อนรับ นายตุลย์ ไตรโสรัส เอกอัครราชทูต ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เนื่องในโอกาสเดินทางมาประเทศไทย ซึ่งครั้งนี้ได้มีการหารือประเด็นต่างๆ ที่สำคัญหลายด้าน เนื่องจากภาพรวมการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2566 ที่ผ่านมา ประเทศฟิลิปปินส์มีการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment : FI) มูลค่ารวม 2.73 หมื่นล้านเปโซ โดยประเทศสิงคโปร์ถือเป็นประเทศอันดับ 1 ที่เข้าไปลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ สำหรับในปี 2567 นี้ จะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตลอดทั้งปี 2567 จะมีการจัดกิจกรรมร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงการเยือนของผู้บริหาร ระดับสูง พร้อมทั้งจะมีการหารือถึงแนวทางการ จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น ธุรกิจพลังงานสะอาด (Wind Energy/Solar Farm) โครงสร้างพื้นฐานและระบบสื่อสารโทรคมนาคม การท่องเที่ยว (Cruise / Diving) และธุรกิจบริการ (Hospitality) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทางประเทศฟิลิปปินส์มีศักยภาพ นอกจากนี้จะมีการเตรียมภาคเอกชนในการจัดทำการลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์ เช่น Philippine Chamber of Commerce and Industry (PCCI), Philippine Thailand Business Council, Makati Club เพื่อร่วมกันศึกษาหาแนวทางการลงทุนร่วมกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจและการลงทุนไทย-จีน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท.ได้เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินการ จัดงาน "Green Technology Expo 2024" ของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งภายในงานมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก ณ สำนักงานนวัตกรรมและความร่วมมือสถาบันบัณฑิต วิทยาศาสตร์แห่งประเทศจีน (CAS) ทั้งนี้ปัจจุบัน ส.อ.ท.มีการจัดตั้งสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและได้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต (FTIX) และส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพ ในการเข้าถึงตลาดนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่านการสนับสนุนภายใต้โครงการ "กองทุนอินโนเวชั่นวัน" เพื่อให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

ข่าวต่างประเทศ

A red flag with yellow stars

Description automatically generated

 

4. แบงก์ชาติจีนคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีและ 5 ปีตามคาด (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 22 เมษายน 2567)

ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ทั้งประเภท 1 ปีและ 5 ปีในวันนี้ หลังจากที่ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ PBOC คงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีไว้ที่ระดับ 3.45% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ โดยอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีของจีนเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะสั้น นอกจากนี้ PBOC ยังได้คงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีไว้ที่ระดับ 3.95% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์เช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา PBOC ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ระดับ 2.50% โดยอัตราดอกเบี้ย MLF เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางจีน โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือน-1 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์ โดย PBOC พยายามหลีกเลี่ยงการอัดฉีดเงินสดหมุนเวียนในระบบการเงินมากเกินไปโดยที่เงินสดนั้นไม่ได้ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่แท้จริงของจีน และยังสะท้อนให้เห็นว่า PBOC ยังคงมีความระมัดระวังที่จะใช้นโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีความตั้งใจที่จะพยุงค่าเงินหยวน

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)