ข่าวประจำวันที่ 23 เมษายน 2567

ข่าวในประเทศ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

 

1. ผลผลิตอ้อยเหลือ 82 ล้านตัน (ที่มา: ไทยรัฐ, ประจำวันที่ 23 เมษายน 2567)

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายปีการผลิต 2566/67 ที่ได้ปิดหีบอ้อยไปแล้วมีตัวเลขอ้อยเข้าหีบตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2566 - 17 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา รวม 130 วัน มีผลผลิตอ้อย 82.16 ล้านตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57.81 ล้านตัน คิดเป็น 70.36% และอ้อยไฟไหม้ 24.35 ล้านตัน คิดเป็น 29.64% ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อย (Yield) เฉลี่ยอยู่ที่ 106.76 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย มีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.35 ซีซีเอส ผลผลิตรวมลดลงจากปีก่อน 11.73 ล้านตัน คิดเป็น 12% ทั้งนี้ ก่อนเปิดหีบสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) คาดว่าจะมีอ้อยเข้าหีบ 82.40 ล้านตัน ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำจากปีก่อนๆ เนื่องจากภัยแล้งและราคาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปริมาณอ้อยไฟไหม้ในปีการผลิต 2566/67 ยังอยู่ในระดับที่สูงในฤดูการผลิตปีต่อไป กระทรวงจึงได้วางแนวทางแก้ไขปัญหาลดการเผาอ้อย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อาทิ 1. การนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาจำแนกอ้อยเผาและอ้อยสดก่อนเข้าหีบ 2. การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ชาวไร่อ้อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ในไร่อ้อยและเก็บเกี่ยวอ้อยสด 3. จัดหาเครื่องสางใบอ้อย 4. ปรับปรุงการคำนวณราคาอ้อยให้เป็นตามเกณฑ์คุณภาพการผลิตอ้อยและคาดว่าฤดูการผลิตปี 2567/68 ที่จะเริ่มในเดือนธันวาคม 2567 นี้ จะมีปริมาณอ้อยสดในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น สร้างรายได้ให้ชาวไร่อ้อย 240,000 ราย

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

 

2'ภูมิธรรม' หนุนการค้า ไทย-หนานหนิง ดึงลงทุนอุตฯอนาคต ยานยนต์-พลังงาน (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 23 เมษายน 2567)

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในงาน Nanning City Investment Environment Promotion and Economic and Trade Cooperation Exchange (Thailand) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับนครหนานหนิง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ พลังงานใหม่และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาของทั้งประเทศไทยและจีน ที่ หอประชุม กวาง หวา ถัง หอการค้าไทย-จีน ชั้น 9 อาคารไทย ซีซี ทาวเวอร์ สาทรใต้ ช่วงค่ำเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ประเทศไทยและจีนมีความสัมพันธ์ยาวนาน ได้สร้างความผูกพันทางเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่ง ปัจจุบัน จีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงที่สุด เป็นเวลาติดต่อกันถึง 11 ปี (ตั้งแต่ปี 2556) ในปี 2566 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันถึง 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18 ของมูลค่าการค้าไทย ในขณะที่การค้าระหว่างไทยและเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ในปี 2565 ก็มีมูลค่ารวมถึง 4,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 ของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง โดยที่ผ่านมาไทยมีความตกลงทางการค้ากับจีนในทุกระดับ ตั้งแต่ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน (หรือ ACFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (หรือ RCEP) รวมทั้งสนับสนุนโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (หรือ BRI) ตลอดจนจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการค้า (MOU) กับมณฑล/เมืองสำคัญของจีน 4 ฉบับ ได้แก่ ไทย-กานซู่ ไทย-ไห่หนาน ไทย-เซิ้นเจินและ ไทย-ยูนนาน ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจเชิงรุกไทย-จีน-อาเซียน เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และขับเคลื่อนการค้าเชิงรุกไปยังตลาดจีนและอาเซียน โดยไทยมีเป้าหมายจัดทำ MOU กับเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ซึ่งเป็นมณฑลที่มีศักยภาพสูง เพื่อขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางนโยบายและการดำเนินงานของประเทศจีน และเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ที่เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของแผนพัฒนาระดับชาติของจีน อาทิ พื้นที่ระเบียงการค้าเชื่อมทางบกกับทางทะเลระหว่างประเทศสายใหม่(หรือ New International Land-Sea Trade Corridor) และเป็นประตูสู่อาเซียน โดยมีนครหนานหนิงเป็นเมืองศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจอ่าวเป่ยปู้กว่างซีจ้วงและเป็น 1 ใน 3 ที่ตั้ง "เขตทดลองการค้าเสรีกว่างซีจ้วง" โดยจะเปิดโอกาสให้นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยเชื่อมโยงการเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานในอุตสหากรรมแห่งอนาคตนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของไทยและจีนต่อไป

 

A person in a suit and tie

Description automatically generated

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

3. บีโอไอไฟเขียว Chery ตั้งฐานผลิตรถไฟฟ้าในไทย (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 23 เมษายน 2567)

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผลจากความพยายามในการดึงการลงทุนจากบริษัท Chery Automobile ให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้ประสบความสำเร็จตามแผนที่หารือกัน โดยบริษัท Chery ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ ของจีนและเป็นผู้นำเทคโนโลยียานยนต์ระดับโลก ที่มียอดการส่งออกรถยนต์เป็นอันดับ 1 มาอย่างต่อเนื่อง 21 ปี โดยในปี 2566 Chery มียอดส่งออกกว่า 1.8 ล้านคัน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชนิดพวงมาลัยขวา เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง โครงการนี้ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 โดยแผนการลงทุนของบริษัท Chery Automobile ในประเทศไทย จะดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัท "โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย)" ซึ่ง OMODA และ JAECOO เป็นแบรนด์ของ Chery สำหรับทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะตั้งโรงงานที่จังหวัดระยอง ในเฟสแรก ภายในปี 2568 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งแบบ BEV และ HEV ปีละประมาณ 50,000 คัน และเฟสที่ 2 ภายในปี 2571 จะขยายกำลังการผลิตถึงปีละ 80,000 คัน ช่วงเริ่มแรก บริษัทจะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก OMODA C5 EV ซึ่งเป็นรถยนต์ครอสโอเวอร์ เอสยูวี ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า 100% มาจำหน่ายเพื่อทดลองตลาด ตามมาด้วยรถยนต์พรีเมียม เอสยูวี ออฟโรดรุ่น JAECOO 6 EV, JAECOO 7 PHEV และ JAECOO 8 PHEV พร้อมเปิดโชว์รูม 39 แห่ง ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งการตัดสินใจลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ในไทยของ Chery ครั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของประเทศไทยก่อนหน้านี้มีค่ายรถยนต์รายใหญ่จากจีนได้เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแล้ว 7 ราย ประกอบด้วย BYD, MG, Great Wall Motor, Changan Automobile, GAC Aion, NETA และ Foton กรณีของ Chery เป็นรายที่ 8 ช่วยตอกย้ำให้เห็นภาพชัดเจนว่า กลุ่มบริษัทรถยนต์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ได้ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักในภูมิภาคสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพวงมาลัยขวา แสดงถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านนายฉี เจี๋ย ประธาน บริษัท Chery Automobile กล่าวว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในภูมิภาคและกำลังก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเรามองเห็นโอกาสการลงทุนในกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยจากการพัฒนาอุตสาหกรรมและการสนับสนุนรถยนต์พลังงานใหม่ของรัฐบาลไทยที่สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ โอโมดา แอนด์ เจคู โดยบริษัทมุ่งมั่นพัฒนารถยนต์ให้ตอบโจทย์ กับไลฟ์สไตล์คนไทยให้มากที่สุด และมีความตั้งใจ ที่เลือกใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในไทย ซึ่งในอนาคตจะทำ Sourcing ชิ้นส่วนจากในประเทศด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

A flag with white stars

Description automatically generated

 

4. PMI รวมภาคผลิต-บริการออสเตรเลียขั้นต้นเม.ย. 67 โตเร็วสุดในรอบ 2 ปี (ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, ประจำวันที่ 23 เมษายน 2567)

รายงานประจำเดือนจากเอสแอนด์พี โกลบอล และ Judo Bank ระบุว่า กิจกรรมทางธุรกิจในภาคเอกชนของออสเตรเลียในเดือนเมษายน 2567 เติบโตเร็วที่สุดในรอบ 2 ปี โดยภาคการผลิตของประเทศแสดงสัญญาณใกล้จะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้นของออสเตรเลียจาก Judo Bank อยู่ที่ระดับ 53.6 ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.3 ในเดือนมีนาคม นับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมทางธุรกิจอยู่ในภาวะขยายตัว ส่วนดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ว่าอยู่ในภาวะหดตัว

อย่างไรก็ตาม ทางด้านภาคบริการของออสเตรเลียแม้ว่าจะยังคงขยายตัว แต่ก็ขยายตัวช้าลง โดยดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นจาก Judo Bank อยู่ที่ระดับ 54.2 ในเดือนเมษายน ลดลงจากระดับ 54.4 ในเดือนมีนาคม ขณะเดียวกัน ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของออสเตรเลียจาก Judo Bank อยู่ที่ระดับ 49.9 ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นจากระดับ 47.3 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อใหม่ลดลงไม่มากเท่าก่อนหน้านี้และปริมาณผลผลิตลดลงเพียงเล็กน้อย

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)