ข่าวประจำวันที่ 25 เมษายน 2567

ข่าวในประเทศ

A person with her arms crossed

Description automatically generated

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

 

1. Q1 ต่างชาติลงทุน 178 ราย เม็ดเงิน 3.5 หมื่นล้าน-ญี่ปุ่นอันดับ 1 (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 เมษายน 2567)

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ไตรมาสแรกปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 จำนวน 178 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 53 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 125 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 35,902 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 849 คน สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ญี่ปุ่น 40 ราย คิดเป็น 22% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 19,006 ล้านบาทในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจบริการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโรงงานผลิตอะเซทีลีนแบล็ก ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ฯลฯ 2. สิงคโปร์ 32 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทยเงินลงทุน 3,294 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการให้ใช้ระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการ ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย ฯลฯ 3. สหรัฐอเมริกา 29 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 1,048 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม ธุรกิจนายหน้าและตัวแทนในการจัดซื้อ จัดหา และจัดจำหน่ายสินค้า (เครื่องมือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์/เครื่องประดับ) ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (อาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป/เครื่องจักรที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม) ฯลฯ ขณะที่อันดับที่ 4. จีน 20 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ เงินลงทุน 2,886 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม(บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน) ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า ให้บริการ ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิแฟรนไชส์(Franchising) เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ และ 5. ฮ่องกง 11 ราย คิดเป็น 6% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,017 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป) ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (อะไหล่และส่วนประกอบรถยนต์/ ชิ้นส่วนประกอบที่ทำจากอะลูมิเนียม) ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้เครื่องตรวจวัดก๊าซ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในโครงการรถไฟฟ้า องค์ความรู้เกี่ยวกับความรู้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ทางวิศวกรรม องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ เป็นต้น

 

A person sitting at a desk with a microphone

Description automatically generated

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์

 

2พาณิชย์ชี้ช่องเจาะตลาดจีน ผลิตสินค้าเกาะกระแส 5 เทรนด์การบริโภค (ที่มา: แนวหน้า, ประจำวันที่ 25 เมษายน 2567)

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก น.ส.บูชิตา อินทรทัศน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงเต่า สาธารณรัฐประชาชนจีน ถึง 5 เทรนด์การบริโภคชาวจีนในปี 2567 เพื่อแจ้งต่อผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยให้ศึกษาและนำมาปรับใช้ในการทำตลาดสินค้าไทยเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน สำหรับการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนในปี 2567 มีจำนวน 5 เทรนด์ ที่กำลังเริ่มเป็นค่านิยมใหม่ ได้แก่ 1. ใช้จ่ายอย่างฉลาด (Smart Consume) โดยคนหนุ่มสาว ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าคุ้มราคาที่สุด แสวงหาคุณภาพมากกว่าแบรนด์ 2. สุขนิยม เติมอารมณ์ฟิน (Emotional Fulfillment) บริษัท Mintel เปิดเผยว่า 1 ใน 5 แนวโน้มของตลาดการบริโภคทั่วโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าคือ การใช้ชีวิตที่ผ่อนคลาย สะท้อนถึงความปรารถนาของผู้บริโภคที่อยากหลุดพ้นจากความเหนื่อยหน่าย การเต็มใจจ่ายเพิ่มเติมเต็มความรู้สึกพอใจของตนเองนั่นเอง3. แพงได้ แต่อย่าแพงเกิน (Expensive to non-expensive) เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้บริโภคชาวจีนมีอิทธิพลต่อการบริโภคสินค้าแบรนด์หรูระดับไฮเอนด์ของโลก ทำให้แนวคิดแพงได้ แต่อย่า แพงเกิน  จึงเริ่มกลายเป็นค่านิยมการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของผู้บริโภคชั้นกลาง ซึ่งยึดติดกับแบรนด์ราคาสูงน้อยลง แบรนด์ที่มีความคุ้มค่า คุ้มราคาได้ทวีบทบาทสำคัญและเป็นที่ยอมรับ มากขึ้น 4. อี-คอมเมิร์ซสตรีมมิ่งพลิกโฉมช่องทางธุรกิจ (Ecommerce streaming) สืบเนื่องจากการไลฟ์สดขายของกำลังเป็นที่นิยม การบริโภคได้เปลี่ยนจากแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซทั่วไป เป็นอีคอมเมิร์ซไลฟ์สดขาย และ 5.เศรษฐกิจระดับอำเภอเติบโตขึ้น (District Economy) เศรษฐกิจระดับอำเภอซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างการพัฒนาในเขตเมืองและชนบท ถือว่ามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สืบเนื่องจากการฟื้นตัวของการบริโภค โดยรวมมีแนวโน้มมั่นคงและเพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยที่สนใจเจาะตลาดจีน จะต้องศึกษาเทรนด์การบริโภคของชาวจีน ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และวางแผนการทำตลาดให้เหมาะสม สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่เน้นความคุ้มค่าคุ้มราคาจึงสามารถพิจารณาตั้งราคาสินค้าให้สมเหตุสมผล ผู้บริโภคมีการเปรียบเทียบสินค้าจากหลากหลายแพลตฟอร์ม เชื่อถือการรีวิวและคอมเม้นต์ก่อนตัดสินใจซื้อ เชื่อถือผู้มีอิทธิพลอย่าง KOL/KOC/ผู้ดำเนินการไลฟ์สด ในการชักจูงความต้องการซื้อ จึงควรพิจารณาประชาสัมพันธ์สินค้าโดยผ่านผู้มีชื่อเสียงในท้องถิ่น เพื่อให้เข้าถึงตลาดได้เร็วยิ่งขึ้น

 

A person sitting in a chair with a tablet

Description automatically generated

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

 

3. ตลาด 'อาร์ตทอย' โลกบูม ส้มหล่นอุตสาหกรรมไทย (ที่มา: มติชน, ประจำวันที่ 25 เมษายน 2567)

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อาร์ตทอย (Art Toy) เป็นสินค้าของเล่นของสะสมประเภทหนึ่งที่กำลังอยู่ในกระแสนิยม โดยเป็นของเล่นที่ถูกออกแบบจากศิลปิน หรือนักออกแบบที่ผสมผสานระหว่างศิลปะสมัยใหม่กับของเล่นแบบเดิม หากเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียง หรือกำลังอยู่ในกระแส ความต้องการยิ่งเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ผู้ผลิตยังเพิ่มเสน่ห์การขายในรูปแบบกล่องสุ่ม เป็นการสร้างความตื่นเต้นให้แก่ผู้ซื้อ จนเกิดกระแสนิยมในสไตล์ป๊อปคัลเจอร์ (POP Culture) หรือวัฒนธรรมร่วมสมัย ปัจจุบันลูกค้าหลักเป็นกลุ่มเจนแซด พนักงานออฟฟิศ และกว่า 70% เป็นผู้หญิง ซึ่งปี 2566 มูลค่าตลาดอาร์ตทอยโลกอยู่ที่ 8,517 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดเพิ่มเป็น 10,939 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2573 ตลาดอาร์ตทอยใหญ่สุดอยู่ในเอเชีย อเมริกาเหนือ และยุโรป ตามลำดับ โดยเฉพาะจีนมีร้านจำหน่ายกว่า 2,000 แห่ง และกระจายไป 100 แห่งทั่วโลก รวมถึงไทย และบริษัทผลิตใหญ่ 87 แห่ง อยู่ในเมืองตงก่วน สร้างมูลค่าผลผลิต 2,479 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่ตลาดโลกนำเข้ารวม 50,044 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยนำเข้า 128.26 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 เพิ่มขึ้น 11.79% โดยนำเข้าสูงสุดจากจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ขณะเดียวกันไทยส่งออก 252 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2566 ลดลง 9.87% โดยส่งออกไปสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร ซึ่งอาร์ตทอยของไทยที่สร้างชื่อระดับโลก อาทิ "CRYBABY เด็กหญิงเป้อนน้ำตา" "Mardi เด็กในชุดกระต่ายสามตา" "Fenni จิ้งจอกหน้าตาน่ารัก" เป็นต้น ดังนั้น เป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการไทยจะพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมต่อกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ อย่างการสอดแทรกศิลปวัฒนธรรมไทย หรือนำความเชื่อมาเป็นส่วนประกอบในการออกแบบ เช่น พระพิฆเนศ และแมวกวัก ช่วยเสริมด้านการท่องเที่ยวและซอฟต์พาวเวอร์ไทยด้วย

 

ข่าวต่างประเทศ

A close up of a flag

Description automatically generated

 

4. มาเลเซียผุดแผนดึง 'ยูนิคอร์น' ลงทุนฮับฟินเทคภูมิภาค (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, ประจำวันที่ 25 เมษายน 2567)

นายราฟิซี รามลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลมาเลเซียได้เปิดตัวแพ็กเกจสิทธิประโยชน์ใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุนของบริษัทระดับยูนิคอร์น รวมถึงบริษัทสตาร์ตอัปและบริษัทร่วมลงทุน (วีซี) ชั้นนำของโลกเข้ามาในประเทศ โดยหวังว่าจะสร้างระบบนิเวศสตาร์ตอัปที่แข็งแกร่งซึ่งจะกระตุ้นการเติบโตในอนาคตด้วยนักลงทุนที่เหมาะสมและบุคลากรที่มีความสามารถในมาเลเซีย รัฐบาลจะทำให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก สำหรับบริษัทเทคโนโลยีระดับยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีมูลค่าตลาดในหลักพันล้านดอลลาร์ขึ้นไป จะอยู่ภายใต้โครงการยูนิคอร์นโกลเดนพาส (Unicorn Golden Pass) ซึ่งรัฐบาลต้องการดึงดูดบริษัทระดับยูนิคอร์นทั่วโลกให้เข้ามาในมาเลเซียเพื่อสร้างงานที่มีทักษะสูงและมีมูลค่าสูง นอกเหนือจากการพัฒนากองทัพของผู้ประกอบการรุ่นใหม่และผู้นำอาวุโสในด้านเทคโนโลยี ซึ่งโครงการยูนิคอร์นโกลเดนพาสมีสิทธิประโยชน์มากมาย รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุมัติทำงานของฝ่ายบริหารระดับสูง อุดหนุนค่าเช่าที่ และลดหย่อนอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มาเลเซียเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับ สตาร์ตอัปทั่วโลกและระดับภูมิภาคที่ต้องการสร้างฐานการผลิตของตัวเอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เปิดตัวโครงการ วีซี โกลเดน พาส (VC Golden Pass) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่บริษัทร่วมลงทุนโดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าทำงานสำหรับ ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท และการอนุมัติใบอนุญาตการจัดตั้งกองทุนในประเทศอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียยังมีแผนที่จะสร้าง "สวนอุตสาหกรรมออกแบบแผงวงจรรวม" ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำเสนอสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการยกเว้นภาษี สนับสนุนเงินอุดหนุน และค่าธรรมเนียมการยกเว้นวีซ่า เพื่อดึงดูดเหล่าบริษัทเทคโนโลยี และนักลงทุนทั่วโลกให้เข้ามาลงทุน ทั้งนี้ มาเลเซียตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศให้กลายเป็น "ศูนย์กลางดิจิทัลระดับภูมิภาค" โดยมีเป้าหมายที่จะติดอันดับ 20 ประเทศแรกในดัชนีระบบนิเวศสตาร์ตอัปทั่วโลกภายใน ปี 2573 โดยปัจจุบัน มาเลเซียถือเป็นผู้เล่นสำคัญ ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของการทดสอบ และการบรรจุภัณฑ์ชิปทั่วโลก

 

หมายเหตุ : ค่าเงินบาท อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย ราคาทองคำ อ้างอิงจากสมาคมค้าทองคำ ราคาน้ำมันและราคา NGV อ้างอิงจากราคาน้ำมันขายปลีกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)